รีเซต

เทรนด์สุขภาพปี 2021 อนาคตทางการแพทย์หลังยุคโควิด-19

เทรนด์สุขภาพปี 2021 อนาคตทางการแพทย์หลังยุคโควิด-19
PakornR
10 กุมภาพันธ์ 2564 ( 17:47 )
3.8K
เทรนด์สุขภาพปี 2021 อนาคตทางการแพทย์หลังยุคโควิด-19

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในรอบปีที่ผ่านมาทำให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต แตกต่างไปจากที่เคยเป็นสู่วิถี New Normal เพื่อความปลอดภัยในการป้องการการแพร่ระบาด ทำให้ความสำคัญของการทำความสะอาด การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายของละอองฝอยจากคนสู่คน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยจากโรคระบาด และป้องกันการเจ็บป่วย

 

ในปี 2021 กระแสความสนใจเรื่องสุขภาพยังคงเข้มข้น โดยเฉพาะการมีร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรค ไม่เจ็บป่วย รวมทั้งการมีสุขภาพจิตที่ดี ยังเป็นกระแสหลักที่มีความสำคัญมากกว่าแค่เรื่องน้ำหนักตัว ทรวดทรง หรือการควบคุมการบริโภคอาหาร เมื่อชีวิตต้องเปลี่ยนไป เทรนด์สุขภาพในปีนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

 

สำหรับ 5 เทรนด์สุขภาพในปีนี้

 

ที่ยังคงน่าจับตามอง ประกอบด้วย

 

  1. Stay home & Safety

 

         ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวิตอยู่กับที่มากขึ้น ลดกิจกรรมสังคม การพบปะผู้คน ญาติ เพื่อนฝูง ลดการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ การปรับมาใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น มีทั้งอยู่คนเดียว และอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนตัวจะเพิ่มสูงขึ้น การดูแลด้านโภชนาการส่วนตัว การปรุงอาหารรับประทานเองภายในบ้านจะเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นจากการล็อกดาวน์รอบแรกจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เราได้เห็นหลายคนได้ประสบการณ์จากการศึกษาการทำอาหาร การทำขนมจากสื่อออนไลน์ รวมไปถึงการออกกำลังกาย กิจกรรมภายในบ้านที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ ก็ถูกนำมาปฏิบัติมากขึ้น และเราก็ได้เห็นอุปกรณ์เครื่องครัว เครื่องใช้ หลายชนิดได้รับความนิยมตามมา อาทิ หม้อทอดไร้น้ำมัน เครื่องออกกำลังกายภายในบ้าน หรือแม้กระทั่ง gadget หลายอย่างที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายก็ได้รับความนิยมตามมาเช่นกัน

 

         เมื่อต้องอยู่บ้านมากขึ้น บ้านจึงต้องกลายเป็นสถานที่ในการทำสารพัดกิจกรรมได้อย่างปลอดภัย

 

 

  1. Mental health is top of mind

 

ในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ การเผชิญกับสารพันปัญหาที่โถมเข้ามา ไม่เพียงแรงกายที่ต้องใช้ต่อสู้ พลังใจก็อาจถดถอยลงได้ ความสูญเสียหรือต้องเผชิญปัญหาในด้านต่าง ๆ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ หากมีผลกระทบที่รุนแรง และยาวนาน  ย่อมส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ ปัญหาด้านสุขภาพจิต และเกิดภาวะหมดไฟ

 

การจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ ผู้คนจะต้องเสริมความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค สร้างความเข้มแข็งในจิตใจ หรือการหันมาสร้างสมาธิให้ตนเองมากขึ้น ร่างกายที่แข็งแรงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งด้วย ในยามที่กายป่วย หากใจเข้มแข็งพอ ย่อมมีแรงสู้ต่อไปได้ แต่หากร่างกายแข็งแรง แต่จิตใจห่อเหี่ยว เราอาจจะไม่เห็นความพยายามสู้เกิดขึ้นมาเลย ความแข็งแกร่งและความสุขในจิตใจ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการเสมอ

 

 

  1. Immunity

 

การสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เป็นเทรนด์ร้อน ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เพราะกว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนให้คนไทยทั่วไปได้นั้น คงจะต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการวัคซีนอยู่พอสมควร ดังนั้นในระหว่างที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 การสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้ร่างกายจึงกลายเป็นที่สนใจ ซึ่งจริง ๆ แล้ว การรับประทานอาหารที่มีคุณค่า สร้างประโยชน์ต่อร่างกาย การเลือกกินโปรตีนที่มีคุณภาพ การดื่มน้ำเป็นประจำ รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอ ก็ช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้

 

แต่แน่นอนว่าการเสริมด้วยวิตามินหลากชนิด อาหารที่บำรุงร่างกาย ก็เป็นเรื่องที่ผู้คนเสาะแสวง ดังที่เราเห็นจากโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด โหมกระหน่ำเผยแพร่ในหลากช่องทาง เพราะต่างรู้ดีว่าผู้คนกำลังมองหาสิ่งที่ดีให้กับตนเอง การเร้าด้วยสรรพคุณบำรุงร่างกายทำให้สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้

 

 

  1. Health information

 

การอัปเดตข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องทางด้านสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ ข้อควรรู้ หรือแม้กระทั่ง Fake News ต่าง ๆ จะเป็นเรื่องสำคัญที่เป็นเทรนด์ที่ต้องถูกพูดถึง โดยเฉพาะข้อมูลที่จะผ่านมาทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ แล้วกลายเป็นความเชื่อที่ผิด ทำให้ผู้คนสับสน หรือหลงเชื่อ แล้วลงมือปฏิบัติ หรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวาย เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาการเกิดโรคอุบัติใหม่

 

ดังนั้น การที่จะมีสุขภาพดี การมีข้อมูลที่ถูกต้องทางด้านสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรจะต้องได้รับการปรึกษาโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญ ความเห็นที่มีหลักการ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดูแลสุขภาพของจนเอง การตัดสินใจวางแผนรักษา หรือดูแลสุขภาพของผู้ป่วย จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีมากกว่าการได้รับคำแนะนำจากแหล่งอื่น

 

ในต่างประเทศ การเข้าถึงความเห็นที่สองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นแนวทางที่นิยมและใช้กันมานานแล้ว เพื่อยืนยัน หรือหามุมมองที่แตกต่าง นำไปสู่การตัดสินใจวางแผนการรักษา ทั้งในแง่วิธีการ ระบบประกัน และการวางแผนดูแลผู้ป่วยที่ยังต้องดูแลต่อเนื่องหลังการรักษา เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เหมือนมีคนช่วยคิด สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว ดังคำโบราณว่าไว้

 

  1. Tele Health

 

Digital Disruption หมุนเร็วขึ้น จนหลายพฤติกรรมก็ถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแบบไม่รู้ตัว ในเรื่องของสุขภาพก็เช่นกัน ผู้คนหาข้อมูลที่สนใจผ่านกูเกิ้ล ผ่านสื่อสังคมออนไลน์กันมากมาย กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไปแล้ว บางครั้งก็ใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสารผ่านหลากหลายแพลตฟอร์มเพื่อเข้าถึงบริการสุขภาพ

 

ในช่วงโควิด-19 ระบาด ก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้ Tele Health ตื่นตัวและเร่งนำมาใช้กันมากขึ้น ทั้งการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยงสูง หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อการติดตามรักษาอาการผู้ป่วย ซึ่งต้องเลื่อนนัดพบแพทย์ออกไป หรือไม่สามารถมารับบริการที่โรงพยาบาลได้ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด

 

ยิ่งเรากำลังก้าวสู่ยุค 5G เทคโนโลยีทางการแพทย์จะเชื่อมโยงอุปกรณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ติดตัวชิ้นเล็ก ๆ เช่น นาฬิกา สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพ บอดี้เซ็นเซอร์หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่จะส่งข้อมูลเหล่านี้ เข้าไปสู่ระบบประมวลผลอัจฉริยะ AI ทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ยิ่งทำให้เห็นว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหน สถานการณ์เลวร้ายอย่างไร การรักษาพยาบาลยังคงเดินหน้าต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ต่อไป

 

เทรนด์เหล่านี้ กำลังเกิดขึ้นและจะเปลี่ยนแปลงโลกไปในอีกบริบท พฤติกรรมของมนุษย์ก็จะเปลี่ยนไปเพื่อการอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น ในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสาร หลอมรวมกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ และประสบการณ์จากแพทย์​ผู้เชี่ยวชาญ เราอาจจะได้เห็นการผ่าตัดทางไกล การตรวจรักษาผ่าน Virtual Reality ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในวงการแพทย์ ที่จะนำไปช่วยเหลือชีวิตของผู้คนบนโลกนี้ได้อีกจำนวนมาก

 

เทรนด์สุขภาพ และเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์และน่าสนใจอย่างมาก เรามาดูกันว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังค่อย ๆ เกิดขึ้นนี้ จะช่วยให้อนาคตทางการแพทย์ สาธารณสุข และการดูแลสุขภาพของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เรามาจับตารอดูไปด้วยกัน

 

 

 

อ้างอิงข้อมูล : เทรนด์สุขภาพจาก ดิจิทัล เฮลท์ ของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป     

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง