วาทกรรมเดือนปูติน-ไบเดน ขู่คว่ำบาตรไปมา ประกาศพร้อมแตกหัก
รัสเซียเป็นฝ่ายเรียกร้องให้มีการประชุมทางไกลครั้งนี้ เพื่อหารือถึงวิกฤตยูเครน ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ
ในการสนทนาที่กินเวลากว่า 50 นาที ไบเดนเตือนปูตินว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรจะตอบโต้อย่างเด็ดขาด หากมีการรุกรานใด ๆ ต่อยูเครน ขณะที่ปูตินเตือนไบเดนว่า การคว่ำบาตรรัสเซีย เหนือวิกฤตยูเครน จะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่
---ปูตินพอใจกับการสนทนาไบเดน---
แม้ทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนคำเตือนระหว่างกันในการหารือครั้งนี้ แต่ ยูริ อูชาคอฟ ที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ประธานาธิบดีปูติน พอใจกับการสนทนาดังกล่าว และได้ปูทางไว้เป็นอย่างดีสำหรับการเจรจาในอนาคต
ขณะที่ เจน ปซากิ โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า ประธานาธิบดีไบเดนย้ำว่า ความก้าวหน้าที่สำคัญในการเจรจาเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมของการลดระดับความตึงเครียดลงเท่านั้น และแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรจะตอบโต้อย่างเด็ดขาดหากรัสเซียรุกรานยูเครน
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ต้องการให้รัสเซียถอนกำลังทหารที่ประชิดชายแดนยูเครนออกไป แต่ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ จากฝ่ายรัสเซีย และก่อนหน้านี้ไบเดนได้เรียกร้องให้รัสเซียหาทางแก้ปัญหาผ่านวิถีทางการทูต
ก่อนที่ปูตินจะหารือทางไกลครั้งล่าสุดกับสหรัฐฯ ปูตินบอกกับไบเดนว่าเขา “เชื่อมั่น” ว่าทั้งสองฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้โดยอาศัย “ความเคารพซึ่งกันและกันและคำนึงถึงผลประโยชน์ของกันและกัน”
---ไบเดน-ปูติน คุยกันมาสองรอบแล้ว---
นี่เป็นการประชุมทางไกลครั้งที่สองในเดือนนี้ระหว่าง 2 ผู้นำเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนนับเป็นความพยายามครั้งล่าสุดที่จะคลี่คลายความตึงเครียดบริเวณชายแดนด้านตะวันออกของยูเครนกับรัสเซีย ที่รัฐบาลยูเครนระบุว่า รัสเซียส่งทหารไปประจำการประชิดชายแดนยูเครนกว่า 100,000 นาย สร้างความกังวลแก่ชาติตะวันตก ว่ารัสเซียอาจบุกยูเครนได้ทุกเมื่อ
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็เคยขู่ว่า รัสเซียจะเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน หากตัดสินใจโจมตียูเครน
อย่างไรก็ตาม รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ระบุว่า กองทัพรัสเซียไปประจำการบริเวณดังกล่าวเพื่อการฝึกซ้อม และรัสเซียมีสิทธิที่จะเคลื่อนทัพได้อย่างอิสระบนดินแดนของตัวเอง
---รัสเซียอยู่ในอารมณ์พร้อมเจรจา---
ด้านดมิทรี เพสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียระบุว่า รัสเซียอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมจะเจรจา และเชื่อว่าการเจรจาเท่านั้นที่จะสามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนทั้งหมดที่มีมากมายระหว่างกันได้
ทั้งนี้สหรัฐฯ กำลังจะมีการหารือทางการทูตกับรัสเซียในเดือนหน้า ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยในวันที่ 10 มกราคม สหรัฐฯ กับรัสเซียจะจัดการประชุมความมั่นคงในระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อหารือความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากยูเครน ถัดไปในวันที่ 12 มกราคม
คาดว่า รัสเซียจะเปิดหารือกับองค์การ NATO ว่าด้วยปมยูเครนเช่นกัน และในวันที่ 13 มกราคม วงหารือจะกว้างมากขึ้น โดยนอกจากจะมีรัสเซียและสหรัฐฯ แล้ว ยังจะรวมถึงหลายประเทศในยุโรปด้วย
---ความเห็นนักวิเคราะห์---
ทารา แมคเคลวีย์ ผู้สื่อข่าว BBC ประจำทำเนียบขาว วิเคราะห์ว่า เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวมีท่าทีค่อนข้างใจเย็น เมื่อพวกเขาพูดถึงประเด็นวิกฤตยูเครน ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่ไม่เปิดเผยชื่อ บอกกับผู้สื่อข่าว ระบุว่า บรรยากาศการเจรจาระหว่างไบเดนและปูตินครั้งล่าสุดนี้ “จริงจังและเป็นรูปธรรม”
นักวิเคราะห์มองว่าก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ส่งสัญญาณที่น่ากลัว ว่าจะบุกยูเครน ทำให้สหรัฐฯ ต้องรีบแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการทูตอย่างเร่งด่วน และในการหารือทางไกลครั้งล่าสุดระหว่างสองผู้นำ ทำเนียบขาวมองว่านี่เป็นสัญญาณที่ดี ขณะนี้พวกเขาพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้มั่นใจว่าการเจรจาระหว่างตัวแทนทั้งสองฝ่ายจะมีขึ้นในปีหน้า
ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาวิกฤตยูเครนทางการทูตมีขึ้น หลังจากรัสเซียได้เสนอข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงหลายประการแก่ชาติตะวันตก หลังปูตินได้ประชุมออนไลน์ร่วมกับไบเดนเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา
รัสเซียได้ยื่นขอเสนอด้านความมั่นคงต่อนาโต้ และสหรัฐฯ เรียกร้องให้นาโต้หยุดการขยายอิทธิพลมาทางตะวันออกเพิ่มเติม ยุติกิจกรรมทางการทหารในยุโรปตะวันออก ซึ่งหมายถึงการถอนหน่วยสู้รบออกจากโปแลนด์และกลุ่มประเทศบอลติกและห้าม NATO รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก
ก่อนหน้านี้ Reuters รายงานว่า ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของชาติตะวันตกที่ต้องให้การรับประกันด้านความมั่นคงตามที่รัสเซียต้องการ และสิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดการกระทำของรัสเซียในอนาคต
—————
แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Angela WEISS, Alexey DRUZHININ / AFP