รีเซต

เช็กประกาศ กทม. ฉบับ 36 สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว!

เช็กประกาศ กทม. ฉบับ 36 สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว!
TNN ช่อง16
11 กรกฎาคม 2564 ( 09:16 )
691

ข่าววันนี้ 10 ก.ค.64 ที่ผ่านมา พลตำรวจ เอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามประกาศ เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 36) ความว่า ด้วยได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็ว 

 

โดยการกำหนดมาตรการที่มุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคลเพื่อลดการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน สำหรับใช้ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อสกัดกั้นการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด พร้อมกับควบคุมการระบาดให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นมาตรการทำนองเดียวกับที่เคยใช้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยมาตรการนี้ยังคงมุ่งจำกัดการเคลื่อนย้าย ลดการรวมกลุ่มของบุคคล และเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันและการควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค ขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรการเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานยังคงดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งมาตรการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนเพื่อให้ฟันฝ่าวิกฤตินี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน

 

ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

 

โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 21/2564 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

1. ให้เจ้าของสถานที่และผู้ประกอบการปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 และ (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เว้นแต่ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศนี้ โดยเคร่งครัด

2. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ 

โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย หรือสถานประกอบการอื่นใดที่มีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา แต่คงห้ามการบริโภคในร้านโดยให้ดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น

3. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา และเปิดให้บริการเฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ยาและเวชภัณฑ์ ชูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องมือช่างและอุปกรณ์การก่อสร้าง ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ การให้บริการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษา การให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่น ๆ และส่วนที่เป็นที่ทำการของรัฐหรือเอกชน

4. ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น

5. สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกายที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา

6. สถานประกอบการนวดแผนไทย (รวมทั้งบริการนวดฝ่าเท้า) สปา สถานเสริมความงาม และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้ปิดดำเนินการ สำหรับร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ให้ยังคงเปิดดำเนินการได้เท่าที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

7. ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 34) 

ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 กิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เคยอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้ตามประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด

8. โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ ผู้ผ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง