รีเซต

อุโมงค์ท่อยาวที่สุดในโลก เชื่อมเยอรมนี - เดนมาร์ก วางเป็นท่อใต้ทะเลยาว 18 กิโลเมตร

อุโมงค์ท่อยาวที่สุดในโลก เชื่อมเยอรมนี - เดนมาร์ก วางเป็นท่อใต้ทะเลยาว 18 กิโลเมตร
TNN ช่อง16
27 มิถุนายน 2567 ( 16:57 )
12
อุโมงค์ท่อยาวที่สุดในโลก เชื่อมเยอรมนี - เดนมาร์ก วางเป็นท่อใต้ทะเลยาว 18 กิโลเมตร

อุโมงค์เป็นหนึ่งในวิศวกรรมที่ทำลายข้อจำกัดด้านการขนส่งไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะหรือสิ่งของต่าง ๆ และล่าสุด รัฐบาลของเยอรมนีและเดนมาร์ก กำลังก่อสร้างอุโมงค์ที่ชื่อว่า เฟห์มาร์นเบลท์ (The Fehmarnbelt tunnel) ที่เป็นอุโมงค์แบบท่อ (Immersed tube) ด้วยการสร้างชิ้นส่วนอุโมงค์บนดินก่อนปล่อยลงทะเล แทนการขุดเจาะใต้ดินความยาวรวม 18 กิโลเมตร ซึ่งเคลมว่าเป็นอุโมงค์แบบท่อลอดใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในโลก (World's longest immersed tunnel) ซึ่งจะเชื่อมต่อระบบรถไฟและเส้นทางรถยนต์ด้วยการลอดใต้ทะเลบอลติก (Baltic sea) ในอุโมงค์เดียวกันภายในปี 2029 นี้


ข้อมูลอุโมงค์ท่อลอดใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในโลก

อุโมงค์ท่อเฟห์มาร์นเบลท์ (The Fehmarnbelt immersed tunnel) สร้างโดยความร่วมมือจากบริษัททั้งสองประเทศ ได้แก่ Femern A/S, Rambøll, Arup และ TEC จะถูกวางอยู่ในทะเลที่ความลึก 40 เมตร จากระดับน้ำทะเลบอลติก มีส่วนที่จมใต้ทะเลยาว 18 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคการสร้างแบบท่อ ที่ประกอบขึ้นจากคอนกรีตที่หล่อมาให้เชื่อมต่อกันคล้ายตัวต่อรวม 89 ส่วน แบ่งออกเป็นชิ้นส่วนคอนกรีตอุโมงค์มาตรฐาน 79 ส่วน และคอนกรีตสำหรับส่วนเชื่อมต่อหรือส่วนพิเศษอีก 10 ส่วน


อุโมงค์ท่อเฟห์มาร์นเบลท์ (The Fehmarnbelt immersed tunnel) ใช้การสร้างชิ้นส่วนคอนกรีตเป็นส่วนแทน โดยส่วนมาตรฐานจะมีน้ำหนักแต่ละส่วนที่ 73,000 ตัน หรือหนักเทียบได้กับช้าง 13,000 ตัว มีความยาวตลอดชิ้นส่วนที่ 217 เมตร กว้าง 42 เมตร และมีความสูง 10 เมตร ในขณะที่ชิ้นส่วนพิเศษจะมีความยาวเป็นครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 109 เมตร แต่มีความกว้างและความสูงมากกว่าเล็กน้อย (ท่อนนี้อธิบายแบบเดลี่เข้าใจกว่านะ)


การสร้างอุโมงค์ท่อจะแตกต่างจากแบบทั่วไปที่ใช้การขุดแล้วฝังกลบแนวอุโมงค์ หรือการขุดเจาะโดยการใช้เครื่องขุดเจาะเป็นวงกลมหรือเกือกม้า เพราะผู้รับเหมาจะใช้วิธีการหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตบนฐานหล่อบนบก จากนั้นจะนำขึ้นเรือเพื่อปล่อยให้จมลงใต้ทะเลตามแนวก่อสร้างที่วางไว้ แล้วจึงทำการเชื่อมต่อและนำน้ำออกให้กลายเป็นอุโมงค์ใต้ทะเลที่ระดับความลึก 40 เมตร ซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างแบบให้น้ำทะเลท่วมเหนืออุโมงค์ (Immerse tube) ที่ต้องสร้างตามแนวพื้นทะเล


ทางการคาดว่า อุโมงค์ท่อเฟห์มาร์นเบลท์จะใช้งบประมาณตลอดระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8,400 ล้านโครนเดนมาร์ก หรือประมาณ 44,250 ล้านบาท (1 DKK = 5.3 THB) ซึ่งคาดว่าจะใช้เหล็กเส้น (Rebar) กว่า 360,000 ตัน มากกว่าเหล็กที่หอไอเฟลใช้ถึง 50 เท่า และต้องสูบทรายจากพื้นทะเลขึ้นมากว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว รวมถึงต้องใช้เรือกว่า 70 ลำ ในการขนชิ้นส่วนคอนกรีต


อุปสรรคการสร้างอุโมงค์ลอดใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในโลก

แม้ว่าอุโมงค์ท่อเฟห์มาร์นเบลท์ (The Fehmarnbelt immersed tunnel) จะเริ่มวางแผนตั้งแต่ปี 2007 แต่กลับได้เริ่มก่อสร้างจริงในวันที่ 1 มกราคม 2021 เนื่องจากฝั่งเยอรมนีต้องผ่านขั้นตอนจากหลากหลายหน่วยงาน รวมถึงเสียงคัดค้านจากนักอุนรักษ์สิ่งแวดล้อม ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนผู้ให้บริการแพขนานยนต์ที่ปัจจุบันเป็นทางเลือกหลักในการข้ามฝั่งระหว่างเยอรมนีและเดนมาร์กและมีผู้ใช้บริการหลักล้านคนในแต่ละปี 


ถ้าหากสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2029 ตามแผนที่วางไว้ อุโมงค์เฟห์มาร์นเบลท์จะสามารถย่นระยะเวลาเดินทางให้เหลือเพียง 10 นาที ด้วยรถยนต์ จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 45 นาที เมื่อเดินทางด้วยแพขนานยนต์ รวมถึงสร้างเส้นทางรถไฟที่รองรับทั้งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า ซึ่งเป้าหมายหลักของเดนมาร์กในการเชื่อมความสัมพันธ์และยกระดับเศรษฐกิจประเทศและเพื่อนบ้านในเขตสแกนดิเนเวีย อย่างนอร์เวย์ และสวีเดน


อุโมงค์ที่ยาวที่สุดในโลก วัดจากอะไร ?

ทั้งนี้ อุโมงค์รถไฟลอดช่องแคบอังกฤษ (The Channel Tunnel) ที่ลากผ่านจากฝั่งอังกฤษไปยังฝรั่งเศส มีส่วนจมใต้ทะเลกว่า 50.46 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นอุโมงค์ลอดใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในโลกหากนับเฉพาะส่วนที่จมใต้ทะเล แต่ The Channel Tunnel เป็นการสร้างอุโมงค์ด้วยการขุดเจาะใต้ทะล ต่างจากอุโมงค์ท่อเฟห์มาร์นเบลท์ ที่ใช้การวางเป็นเหมือนตัวต่อ ทางผู้สร้างจึงประกาศเป็นสถิติโลกโดยใช้วิธีการก่อสร้างแบบท่อเป็นเกณฑ์


ในขณะที่ตำแหน่งแชมป์อุโมงค์สำหรับถนนที่ยาวที่สุดในโลก จะตกเป็นของอุโมงค์แลร์ดาล (Lærdal Tunnel) ในนอร์เวย์ ที่ความยาว 24.510 กิโลเมตร ส่วนอุโมงค์ทางลอดสำหรับระบบรถไฟฟ้า (Metro) ที่ยาวที่สุดในโลกจะเป็นอุโมงค์ของรถไฟฟ้าสาย 3-11 ในเมืองซูโจว มณฑลเจียงซูในจีน ด้วยความยาว 86.542 กิโลเมตร 


ข้อมูลจาก CNN, New Atlas, Wikipedia

ภาพจาก Femern

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง