เข้าใจ สิทธิปกครองบุตร และสิทธิที่จะติดต่อกับบุตร เมื่อไม่จดทะเบียนสมรส
จากข่าวที่หลายคนให้ความสนใจ สำหรับ นักร้อง นักแสดงหนุ่ม ไมค์ พิรัชต์ ไปร้องต่อศาลขออำนาจปกครองบุตร ให้เป็นบิดา "น้องแม็กซ์เวลล์" โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้เจอลูกมาหลายเดือนแล้ว และอยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องลูกบ้าง วันนี้ trueID news จะพาทุกท่านไปรู้จักสิทธิการปกครองร่วมว่าเป็นอย่างไร
กฎหมายได้กำหนดอำนาจปกครองบุตร และสิทธิในการติดต่อบุตรของตนได้ตามสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในกรณีที่สามีภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส บุตรซึ่งเกิดมานั้น ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ มารดาจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ
(1) กำหนดที่อยู่ของบุตร
(2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
(3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
(4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 1584/1 บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม
แม้บิดาจะอนุญาตให้ใช้นามสกุล หรือเลี้ยงดู ให้การศึกษาบุตร หรือมีชื่อปรากฏอยู่ในสูติบัตรของบุตรก็ตาม บิดายังคงเป็น บิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังเดิม และบิดาดังกล่าวจะมีอำนาจปกครองบุตรได้นั้น ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาในภายหลัง หรือ มีอำนาจปกครองตามคำพิพากษาของศาล
อีกหนึ่งปัญหา สำหรับบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ใจร้อนรอให้ศาลมีคำสั่งไม่ไหว จึงใช้วิธีชิงตัวบุตรไปเลี้ยงดู ให้การศึกษา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง จนมีการแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาพรากผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317, 318 หรือ 319 แล้วแต่กรณี
กรณีดังกล่าวนี้มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแล้วว่า กรณีที่บิดานำบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดา เพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำมีเจตนาดีต่อบุตรจึงไม่ถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นความผิดข้อหาพรากผู้เยาว์ เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 398/2517
ในกรณีที่ทำบันทึกข้อตกลงว่า มารดาสละอำนาจปกครองบุตรให้แก่ บิดาซึ่งเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น อำนาจปกครองบุตรไม่สามารถสละหรือโอนให้แก่บุคคลอื่นได้ เป็นข้อตกลงซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงลักษณะนี้จึงตกเป็นโมฆะ คู่สัญญาจึงไม่สามารถนำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไปฟ้องบังคับให้มารดาปฏิบัติตามข้อตกลงได้
อ่าน พร้อมหน้าเลย! ไมค์ พิรัชต์ พา แม็กซ์เวลล์ เที่ยววันพ่อ ปู่กับลุงมาด้วยนะ
อ่าน ส่อง 10 ช็อตสุดสยิวของ ซาร่า คาซิงกินี ลูกหนึ่งแต่หุ่นแซ่บมาก
ส่วนในกรณีที่บิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แอบไปชิงตัวบุตรของตนเองมาดูแล โดยเชื่อว่ามีอำนาจทำได้ตามบันทึกข้อตกลงข้างต้น ก็ไม่เป็นความผิดข้อหาพรากผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317, 318, 319 แล้วแต่กรณี เนื่องจากขาดเจตนาในการกระทำความผิด และขาดองค์ประกอบความผิด เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ ไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร
ดังนั้นหากผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหรือผู้ปกครองบุตร ทำการขัดขวางมิให้บิดาหรือมารดาแล้วแต่กรณีซึ่งไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหรือถูกถอนอำนาจปกครองบุตรติดต่อกับบุตรได้ อาจร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชนซึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก ช่วยเป็นสื่อกลางในการเจรจา เพื่อใช้สิทธิติดต่อกับบุตร หรือถ้าหากว่าเจรจาด้วยวิธีใดก็ไม่ได้ผล วิธีสุดท้ายคือการฟ้องหรือร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิ
ในกรณีที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรจะนำบุตรไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้คู่สมรสที่เลิกกันและไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ไม่อาจใช้สิทธิที่จะติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรได้โดยสะดวกนั้น ในแนวทางที่ปฏิบัติกันมายังคงถือว่าการนำบุตรไปอยู่ต่างประเทศ ยังไม่ถือว่าเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ที่ไม่มีอำนาจปกครองบุตรได้พบปะกับบุตร เพราะบุตรผู้เยาว์ต้องถือภูมิลำเนาของผู้ใช้อำนาจปกครอง บิดาหรือมารดาซึ่งไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรจะมาร้องขอต่อศาล ให้มีคำสั่งห้ามมิให้นำบุตรออกนอกราชอาณาจักรไม่ได้ หนทางแก้ไขคือหากเห็นว่าเป็นการกีดกันและทำให้ตนและบุตรได้รับผลกระทบมาก ผู้ที่ถูกถอนอำนาจปกครองต้องร้องขอต่อศาลขอให้ศาลคืนอำนาจปกครองให้แก่ตนดังเดิม โดยให้ศาลถอนอำนาจปกครองของบิดาหรือมารดาที่ได้รับอำนาจปกครองบุตรเสีย ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ถูกถอนอำนาจปกครองบุตรไม่มีสิทธินำเด็กออกไปอยู่ต่างประเทศได้
อย่างไรก็ตาม การที่เด็กควรจะอยู่ในอำนาจปกครองของบิดาหรือมารดานั้น ต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นกันว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ดูแลเด็กได้มากกว่ากัน ซึ่งมิใช่พิจารณาแต่เพียงฐานะทางการเงินเท่านั้น เพราะบิดาหรือมารดาซึ่งไม่มีอำนาจปกครองบุตรยังมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่บุตรจนกว่าเด็กจะบรรลุนิติภาวะเพราะการหย่าไม่ได้ทำให้อำนาจหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์หลุดพ้นไปด้วย
ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาจาก เวลาหรือการดูและเอาใจใส่จะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาว่าบุตรที่บิดามารดาเลิกกันนั้น ควรมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจปกครองบุตรจากที่ทั้งคู่เคยตกลงกันไว้หรือที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้เดิมหรือไม่
อย่างไรก็ตามโดยสรุปการที่บิดามารดาเลิกหรือหย่ากันแม้จะไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรก็ตามยังมีสิทธิตามกฎหมายในอันที่จะติดต่อกับบุตรได้เสมอ
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก