รีเซต

6 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2022 อยู่กับโควิด-19 แบบ Next Normal EP.1/2

6 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2022 อยู่กับโควิด-19 แบบ Next Normal EP.1/2
Tech By True Digital
29 ธันวาคม 2564 ( 17:50 )
719
6 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2022 อยู่กับโควิด-19 แบบ Next Normal EP.1/2

ปี 2021 กำลังจะผ่านพ้นไป ถือเป็นอีกปีที่ทั้งผู้คนและทุกอุตสาหกรรมยังคงปรับตัวให้อยู่กับโควิด-19 แบบ New Normal อย่างต่อเนื่อง ในช่วงสิ้นปีแบบนี้ Tech By True Digital ชวนไปดูการคาดการณ์เทรนด์เทคโนโลยีของปีหน้าว่ามีเทรนด์ไหนเกิดใหม่ หรือเทรนด์ไหนน่าสนใจกันบ้าง 

 

จากรายงานประจำปีของ Deloitte’s 13th annual “Tech Trends” report ที่ได้คาดการณ์เทรนด์ของเทคโนโลยีที่องค์กรจะนำไปปรับใช้ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ ทั้งที่เป็นการใช้เทคโนโลยีเดิมให้ทรงพลังยิ่งขึ้นและการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างในการแข่งขันในตลาด และเทรนด์ที่ถูกมองว่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญไม่เพียงแค่แวดวงเทคโนโลยีเท่านั้นแต่ส่งผลกับธุรกิจโดยรวมในปี 2022 เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่กับยุคที่โควิด-19 ยังไม่จบ ด้วยการมองไปข้างหน้าแบบ Next Normal 

 

Deloitte มองว่า โควิด-19 สร้างผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมก็จริง แต่อาจจะเป็นการมองเกมที่ไม่รอบด้านนัก หากจะนำเทคโนโลยีมาเพื่อตอบโต้การระบาดของโควิด-19 เพียงอย่างเดียว เพราะที่จริงแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่การระบาดของโรคอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแล้วที่ทำให้ลูกค้าคาดหวังประสบการณ์อันน่าประทับใจที่หลอมรวมดิจิทัลและกายภาพไว้ด้วยกัน อย่างเช่น คนทำงานคาดหวังว่าจะได้ทำงานที่ไหนก็ได้ รวมไปถึงคู่แข่งรายเดิมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำมาปรับใช้ ในขณะที่คู่แข่งรายใหม่ก็ยินดีที่จะนำรูปแบบการทำงานแบบเดิม ๆ ออกจากธุรกิจของตนเอง 

 

นอกจากนี้ องค์กรเองก็เห็นแล้วว่าในระหว่างการระบาดของโรคนั้น การมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมในสิ่งที่เคยคิดว่าอาจทำไม่ได้ ให้สามารถทำได้และอาจมากกว่าที่คิดไว้แต่เดิม ดังนั้น ธุรกิจจึงต่างพยายามหาวิธีทำสิ่งต่าง ๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิม ฉลาดกว่าเดิม ดีกว่าเดิม โดยที่ยังจำเป็นต้องมีระบบอัตโนมัติเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

 

เทรนด์เทคโนโลยีของปี 2022 จากรายงานของ Deloitte’s 13th annual “Tech Trends” report  ซึ่งจัดทำขึ้นมาเป็นปีที่ 13 โดยร่วมกับองค์กรระดับโลกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจและเทคโนโลยี เพื่อทำนายอนาคตเทรนด์ที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากที่สุดในช่วง 18 ถึง 24 เดือนข้างหน้า ได้สรุปออกมาเป็น 6 เทรนด์สำคัญ โดยใน EP. แรกนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก 3 เทรนด์แรกก่อน ดังนี้

 




Trend 1: Data-sharing Made Easy: การแบ่งปันข้อมูลระหว่างองค์กรง่ายขึ้น

การแบ่งปันข้อมูลระหว่างองค์กรมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์ที่มีระบบนิเวศของตนเองหรือกิจการในเครือ ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการรักษาความเป็นส่วนตัวแบบใหม่ที่ปฏิวัติวิธีคิดเรื่องการเข้ารหัสแบบเดิม ๆ นั่นคือ Fully Homomorphic Encryption (FHE) ที่ทำให้สามารถแบ่งปันข้อมูลที่มีการเข้ารหัสและนำไปประมวลผลต่อได้โดยไม่ต้องถอดรหัสก่อน แต่ยังรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลไว้ได้ เช่น ข้อมูลทางการเงินหรือข้อมูลสุขภาพของบุคคล ซึ่งเรื่องข้อมูลหรือ Data นั้นได้กลายเป็นพื้นฐานที่องค์กรต้องใส่ใจ ตั้งแต่การจัดเก็บ ป้องกัน และนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนร่วมกับแผนการตลาด แต่ความปลอดภัยของข้อมูลจะเป็นหัวใจสำคัญของการแบ่งปันข้อมูล ซึ่งจะกลายเป็นมาตรฐานที่องค์กรต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานและลูกค้าโดยตรง

 

เทรนด์การแบ่งปันข้อมูลระหว่างองค์กรจะถูกต่อยอดไปยังโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ และโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใน 18-24 เดือนต่อจากนี้ Deloitte คาดว่า องค์กรจะเริ่มมองหาโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของการแบ่งปันข้อมูลอย่างปลอดภัย ไร้รอยต่อ และเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งนั่นหมายถึงการสร้างรายได้จากข้อมูลที่ตนเองมี ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการตลาดจากข้อมูล การขายข้อมูลต่อหรือการเปิดโอกาสให้แบรนด์อื่นใช้สื่อโฆษณาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยสนับสนุนอื่นๆ เกี่ยวกับเทรนด์ของการแบ่งปันข้อมูลระหว่างองค์กร โดย Forrester Research พบว่ามากกว่า 70% ของผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลจากองค์กรทั่วโลก อยู่ในระหว่างการขยายขอบเขตการใช้ข้อมูลที่ตนมี ไปยังการใช้ข้อมูลภายนอกองค์กร โดย 17% วางแผนว่าจะใช้วิธีการนี้ใน 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ตลาด FHE ทั่วโลกยังมีอัตราการเติบโตถึง 7.5% ต่อปี และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 437 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2028 โดยปัจจุบันภาคการดูแลสุขภาพและอุตสาหกรรมการเงินเป็นผู้นำของตลาด FHE 

 

สาเหตุของการเติบโตของเทรนด์การแบ่งปันข้อมูลนี้ มาจากการประเมินที่ว่า ข้อมูลจะยิ่งเพิ่มมูลค่ามากขึ้นเมื่อถูกแชร์ออกไปนอกองค์กรเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ Gartner™ มองว่าภายในปี 2023 ยิ่งองค์กรใดที่ส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลมากเท่าไหร่ก็จะมีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งมากเท่านั้น

 

ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19 การแบ่งปันข้อมูลทางคลีนิกให้นักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้สามารถเร่งการพัฒนาวัคซีนและแนวทางการรักษาโรคให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน วิธีการแบ่งปันข้อมูลในลักษณะนี้ช่วยให้ผู้ผลิตยาและวัคซีน หน่วยงานรัฐ โรงพยาบาล และร้านขายยาได้ทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้นในการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

 

ตัวอย่าง CVS ต่อยอดฐานข้อมูลเดิมและแบ่งปันข้อมูลข้ามองค์กรอย่างปลอดภัย เพื่อกระจายวัคซีนโควิด-19  

CVS ร้านขายยาในสหรัฐอเมริกาที่เป็นจุดฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นได้ต่อยอดจากฐานข้อมูลเดิมที่ตนเองมีในการวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนและเมื่อไหร่ที่มีความจำเป็นต้องกระจายวัคซีนให้มากที่สุด และใช้เวลาในการเปิดตัวระบบฉีดวัคซีนผ่านร้านค้าของ CVS กว่า 10,000 สาขาทั่วสหรัฐอเมริกาภายใน 1 สัปดาห์เท่านั้น โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิตวัคซีน ร่วมกับหน่วยงานรัฐอย่างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ในการคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานของวัคซีนในแต่ละพื้นที่ จากนั้นจึงป้อนข้อมูลเข้าระบบจัดการภายในเพื่อบริหารจัดการนัดหมายบริษัทกระจายวัคซีนเพื่อติดตั้งจุดฉีด นัดหมายกับประชาชนเพื่อรับวัคซีน และวัดประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน 

 

นอกจากนี้  CVS ยังแบ่งปันข้อมูลไปยังหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยวัดอัตราการฉีดวัคซีนในประชากร พร้อมทั้งใช้โครงข่ายข้อมูลหรือ Data Mesh ในการจัดระเบียบและแบ่งปันข้อมูลแบบปลอดภัยและเรียลไทม์ข้ามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดลำดับความสำคัญในการปกป้องข้อมูล และการปฏิบัติตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล มีการสร้างชั้นการรักษาความปลอดภัยที่แตกต่างกัน ระหว่างการแชร์ข้อมูลและเมื่อไม่ได้ใช้งานข้อมูลนั้น เช่น การใช้เทคโนโลยีคลีนรูมของบริษัทอื่นเพื่อทำให้ข้อมูลสำคัญไม่ถูกเปิดเผยเมื่อแชร์ไปยังนักวิเคราะห์ โดยให้เป็นข้อมูลที่แสดงผลตามกลุ่มประชากรแทนที่จะเป็นข้อมูลเฉพาะตัว เป็นต้น



Trend 2: Cloud Goes Vertical: เทคโนโลยีคลาวด์เพื่อธุรกิจแบบเฉพาะเจาะจง

Deloitte เชื่อว่าในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ เทคโนโลยีคลาวด์จะทำงานเพื่อธุรกิจได้อย่างเฉพาะเจาะจงด้วยระบบอัตโนมัติ และช่วยให้องค์กรปรับโฟกัสไปที่การสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการระบบคลาวด์และผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์จะนำเสนอบริการใหม่ ๆ ที่สามารถเชื่อมต่อ API กับระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองธุรกิจและองค์กรที่ก็เริ่มมองหาระบบคลาวด์แบบโซลูชันที่สามารถนำไปใช้ได้โดยง่าย สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มได้อย่างเฉพาะเจาะจง และยังสร้างความแตกต่างทางดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน กลุ่มอุตสาหกรรมที่มองหาคลาวด์โซลูชันในลักษณะนี้มักเป็นธุรกิจที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น กลุ่มดูแลสุขภาพ กลุ่มยานยนต์ และสื่อ เป็นต้น  

 

ตัวอย่าง ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ร่วมมือกับผู้จำหน่ายระบบคลาวด์เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันรถยนต์ที่เชื่อมต่อคลาวด์แบบโซลูชันของ IoT, ระบบอัจฉริยะ การวิเคราะห์และการประมวลผล เพื่อให้ผู้ผลิตใช้ในการส่งมอบประสบการณ์ที่สร้างความแตกต่างของรถยนต์แบรนด์ตนเองได้ หรืออุตสาหกรรมกลุ่มดูแลสุขภาพที่ได้ปรับใช้คลาวด์เพื่อจัดการข้อมูลหลังบ้านของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ บุกเบิกการใช้ระบบคลาวด์มาเพื่อปรับปรุงการรักษาพยาบาลอีกด้วย 

 

Deloitte ยังคาดการณ์อีกว่า มูลค่าตลาดคลาวด์ในอุตสาหกรรมคลาวด์นั้นจะสูงถึง 640,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2026 

 

Trend 3: Blockchain: Ready For Business: บล็อกเชนพร้อมแล้วสำหรับธุรกิจ

กระแสของ Cryptocurrency และ NFT นั้นถูกพูดถึงอย่างหนาหูในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งบนหน้าสื่อและในวงสนทนาของคนทั่วไป แต่สำหรับปี 2022 นั้น ถึงเวลาที่เทคโนโลยีหลังบ้านของสองสิ่งนี้อย่าง Blockchain และ Distributed Ledger Technology (DLT) หรือบัญชีแยกประเภท จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกธุรกิจอย่างจริงจัง Deloitte มองว่า ภาคธุรกิจเริ่มมีความคุ้นเคยกับบล็อกเชนและ DLT ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยสร้างความโปร่งใส และความปลอดภัยด้านข้อมูล โดยทั้ง 2 เทคโนโลยีนี้กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นฐานการทำธุรกิจ โดยหลายองค์กรมีความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการจัดการสินทรัพย์ที่จับต้องได้และสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการข้อมูล แบรนดิ้ง ลิขสิทธิ์ หรือมาตรฐานการรับรองโดยมืออาชีพ

 

ในขณะเดียวกัน สกุลเงินดิจิทัลเริ่มเป็นที่ยอมรับ มีแพลตฟอร์มซื้อขายที่เป็นมาตรฐาน ธนาคาร รวมถึงรัฐบาลในหลายประเทศเริ่มให้การยอมรับสกุลเงินดิจิทัล ธุรกิจเริ่มเปิดช่องทางการซื้อขายสินค้าผ่านสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น แม้แต่ NFT เองที่เคยถูกประเมินว่าอาจเป็นเพียงฟองสบู่ที่มาแล้วก็ไป ก็เติบโตมากขึ้น ผลจากแนวความคิดแบบ Metaverse ที่หลายแบรนด์ลงมาเล่นนั้นยิ่งเปิดทางให้ NFT เป็นที่ต้องการมากขึ้นอีกด้วย 

 

Deloitte คาดการณ์การเติบโตของทั้งสินทรัพย์ดิจิทัลและสกุลเงินดิจิทัลว่ามีถึง 80% ของคนที่มีบัญชีซื้อขายดิจิทัลที่เชื่อว่าตัวเองสามารถสร้างรายได้มากขึ้นด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลและสกุลเงินดิจิทัลบนบล็อกเชน ทั้งยังมีแนวโน้มว่าบัญชีซื้อขายดิจิทัลนี้จะมีผู้ใช้งานมากขึ้นจนเติบโตที่สุดในปี 2024 อีกด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากบล็อกเชนและ DLT เพื่อขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจนั้น ธุรกิจเองก็จำเป็นต้องเข้าใจว่าแพลตฟอร์มและกระบวนการแบบใดที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมของตนเอง เพื่อประโยชน์ที่แท้จริง เพราะอย่าลืมว่า บล็อกเชนไม่ใช่แค่การซื้อขายผ่านสกุลเงินดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์หากใช้งานให้เหมาะกับอุตสาหกรรมของตนเองมากที่สุด 

 

ตัวอย่าง บล็อกเชนบนโลกดิจิทัลกับการซื้อขายจิวเวลรี่ที่จับต้องได้กับแบรนด์ Chow Tai Fook 

Chow Tai Fook แบรนด์เครื่องประดับเพชรในฮ่องกงและเป็นหนึ่งในแบรนด์รายใหญ่ที่สุดของโลก  แต่แม้บริษัทจะมีอายุ 92 ปีแล้ว ก็ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลและการตลาดแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Data Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ใช้ระบบอัตโนมัติในสายการผลิตเป็นส่วนใหญ่ และการเริ่มใช้บล็อกเชนกับธุรกิจของตนเอง ด้วยการสร้างบล็อคเชนที่แปลงข้อมูลการรับรองเพชรทั้งหมดให้เป็นดิจิทัล โดยหลังจากกระบวนการตัดและเจียระไนเพชรแต่ละเม็ดเป็นที่เรียบร้อย ช่างเพชรจะเลเซอร์สลักหมายเลขอ้างอิงเฉพาะหรือ Serial Number ที่เป็นการรับรองเพชรจาก Gemological Institute of America (GIA) ลงในบัญชีแยกประเภทบล็อกเชนที่ดูแลและกำกับร่วมกันของ Chow Tai Fook และ GIA โดยเป็นการทำบันทึกดิจิทัลที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ รายละเอียดคือ ข้อมูลสำคัญของเพชรเม็ดนั้น ๆ อันได้แก่ แหล่งที่มาของเพชร เกรดเพชร โดยที่ลูกค้าสามารถนำเพชรไปที่ร้านอัญมณีเพื่อให้ร้านค้นหา Serial Number และบันทึกที่เกี่ยวข้อง ด้วยการเข้าถึงบันทึกดิจิทัลนี้ผ่านแอปพลิเคชันเฉพาะ สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าเพชรที่ซื้อไปนั้นเป็นของจริง มีมูลค่าและการันตีคุณภาพ 

 

การใช้บล็อกเชนกับธุรกิจของ Chow Tai Fook ไม่เพียงสร้างความมั่นใจและความโปร่งใสให้กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังทำให้กระบวนการดำเนินงานภายในของ Chow Tai Fook เองสะดวกและง่ายมากขึ้น ในการจัดการสาขากว่า 5,000 แห่ง ซึ่ง 65% ของทั้งหมดนั้นดำเนินการโดยผู้ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ โดยในแต่ละปีจะต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับการรับรองเพชรตั้งแต่ 0.3 กะรัตขึ้นไปซึ่งมีจำนวนมากกว่า 500,000 เม็ดต่อปี การจับคู่เพชรทุกเม็ดกับใบรับรองจึงถือเป็นงานยักษ์ แต่บัญชีแยกประเภทบนบล็อกเชนทำให้การจับคู่ Serial Number กับเพชรง่ายขึ้น

 

Chow Tai Fook มีแผนจะขยายการใช้บล็อกเชนภายในบริษัทเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมการเงินของสาขา ซึ่งบางครั้งต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับยอดขาย รายได้และปัจจัยด้านความสามารถในการชำระเงินและอื่น ๆ ต่อธนาคารเมื่อต้องการขอเงินทุนเพื่อมาใช้ในการซื้อสินค้าคงคลัง การใส่ข้อมูลทางการเงินเหล่านี้ลงบนบัญชีแยกประเภทของบล็อกเชนจะทำให้กระบวนการยื่นเอกสารเพื่อพิจารณาของธนาคารผู้ให้เงินสนับสนุนนั้นรวดเร็วขึ้นเพราะเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้   



และนี่คือ 3 เทรนด์แรกของการคาดการณ์จาก Deloitte’s 13th annual “Tech Trends” report ว่าจะเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองในปี 2022 ใน EP. ถัดไป Tech By True Digital จะพาไปต่อกับอีก 3 เทรนด์ ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพ IT ไม่ว่าจะเป็นการที่ IT จะดิสรัปต์ตัวเองให้เป็นระบบอัตโนมัติแบบวงกว้าง การป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่แท้จริง และชุดเทคโนโลยีที่จะจับต้องได้มากขึ้น เทรนด์เทคโนโลยีนี้แม้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นการปรับตัวของเทคโนโลยีเองเองเพื่อให้อุตสากรรมและธุรกิจอยู่กับโรคระบาดให้ได้และก้าวไปข้างหน้าแบบ Next Normal 

 

-------------------------------

 

อ้างอิง: 

https://www2.deloitte.com/us/en/insights/focus/tech-trends.html

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง