รีเซต

3 หมื่นชีวิตเคว้ง พิษ 'โควิด' ทำโรงงานปิด 719 แห่ง เงินลงทุนหาย 41,722 ล้าน

3 หมื่นชีวิตเคว้ง พิษ 'โควิด' ทำโรงงานปิด 719 แห่ง เงินลงทุนหาย 41,722 ล้าน
ข่าวสด
3 กุมภาพันธ์ 2564 ( 15:05 )
95
3 หมื่นชีวิตเคว้ง พิษ 'โควิด' ทำโรงงานปิด 719 แห่ง เงินลงทุนหาย 41,722 ล้าน

พิษ 'โควิด' ทำโรงงานปิด 719 แห่ง คนงาน 29,917 คน ตกงาน เงินลงทุนหาย 41,722 ล้านประเภทกิจการที่ปิดสูงสุด คือผลิตภัณฑ์พลาสติก 64 โรงงาน

 

 

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีการแพร่ระบายของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ล่าสุดกรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานปี 2563 มีการแจ้งปิดโรงงานไปทั้งหมด 719 แห่ง คนงาน 29,917 คน เงินลงทุนรวม 41,722.30 ล้านบาท คิดเป็นกำลังเครื่องจักรรวม 679,434 แรงม้า

 

 

โดยประเภทกิจการที่มีการปิดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก 64 โรงงาน จำนวนแรงงาน 2,119 คน เงินทุน 1,502 ล้านบาท รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์จากพืช 62 โรงงาน แรงงาน 585 คน เงินทุน 1,771 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์โลหะ 58 โรงงาน แรงงาน 1,660 คน เงินทุน 1,923 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอาหาร 52 โรงงาน แรงงาน 3,500 คน เงินทุน 10,704 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์อโลหะ 52 โรงงาน แรงงาน 786 คน เงินทุน 798 ล้านบาท

 

 

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2563 มีการปิดโรงงานที่ผลิตเหล็กไปจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย เป็นผลมาจากการเกิดโอเวอร์ซัพพลายเหล็กล้นตลาดจาก 1.2 ล้านตันเป็น 3 ล้านตัน ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศห้ามเปิดโรงงานเหล็กเส้นในไทยเป็นเวลา 5 ปี ราคาเหล็กตกลงมากและลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

แต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมเหล็กต่อจากนี้ไป จะมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์จากรัฐที่ทยอยออกมา จะส่งผลให้ปริมาณการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันหากยังมีการปิดโรงงานเหล็กเพิ่มขึ้นอีกจะน่ากังวลว่า เหล็กในประเทศจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ และท้ายที่สุดไทยจะต้องนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาแทน

 

ด้าน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ปี 2563 ยอดขอตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการอยู่ที่ 3,324 โรง มูลค่า 325,393.12 ล้านบาท ใช้แรงงาน 187,088 คน อุตสาหกรรมอาหารมีจำนวนมากที่สุด ซึ่งลดลงต่ำกว่าปี 2562 ที่มีเพียง 200 โรงเท่านั้น จากสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก เทียบกับโรงงานที่ปิดมีแค่ 719 โรง มูลค่า 41,722.30 ล้านบาท (ต่ำกว่าปี 2562 ปิดโรงงานไปถึง 1,391 โรง) คนงานหายไปเพียง 29,9179 คน

 

ดังนั้นปี 2563 จึงถือว่าไทยเก่งและยังมีศักยภาพ เพราะถึงเจอกับโควิด-19 เต็มๆ กลับตั้งโรงงานและขยายกิจการเพิ่ม แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นประเทศไทยอยู่ ที่ผลักดันส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ มีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่ รวมถึงการที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะนักลงทุนไทย ที่เป็นโอกาสช่วงที่จะลงทุนมีอำนาจการต่อรองช่วงที่ต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ตรงนี้มันจะมีผลต่อการจ้างงานอีกเกือบ 200,000 คน

 

“การเลิกจ้างและปิดโรงงานในช่วงนี้ก็ต้องยอมรับว่า มาจากสภาพเศรษฐกิจและผลกระทบโควิด-19 จะเป็นปัจจัยหลัก อย่างไรก็ตาม อยากให้คิดว่ายังมีโรงงานที่จะเปิดอีกมาก แรงงานเหล่านี้ยังมีโอกาสทำงานในที่ใหม่ๆ ได้ ทั้งนี้ปี 2564 เชื่อว่าแนวโน้มการตั้งโรงงานจะยังสูงขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนไทยจะยังเป็นตัวหลักจะเกิดการผลิต ความคึกคักภายในประเทศยังคงมีอยู่” นายประกอบ กล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง