สหรัฐฯ-รัสเซีย เจรจาเดือนหน้า หวังคลี่คลายปมยูเครนที่ยืดเยื้อ
นอกจากจะมีความคืบหน้าเรื่องการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายแล้ว สื่อตะวันตกยังมองว่า ท่าทีของผู้นำรัสเซีย ดูเหมือนจะดูประนีนอมมากขึ้น เพราะล่าสุด ปูตินระบุว่า สหรัฐฯ มีท่าทีเชิงบวกต่อข้อเสนอด้านความมั่นคงของรัสเซีย
---ปูตินชี้ ใกล้เจรจากับสหรัฐฯ---
ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ระบุว่า ความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่จะหารือเกี่ยวกับข้อเสนอด้านความมั่นคงของรัสเซีย เพื่อควบคุมการขยายตัวไปทางตะวันออกของ NATO นั้น “เป็นไปในทางบวก”
ปูตินระบุว่า สหรัฐฯ พร้อมจะเจรจากับรัสเซียในเดือนมกราคมปีหน้า ที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ และมีการแต่งตั้งตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายแล้ว โดยหวังว่านี่จะเป็นปฏิกิริยาในเชิงบวกครั้งแรก และเป็นการเริ่มต้นการเจรจาที่จะทำให้มีการเดินหน้าต่อไป ท่าทีของผู้นำรัสเซียมีขึ้นในการแถลงข่าวประจำปี
ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้เสนอข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงหลายประการแก่ชาติตะวันตกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
---ดูร่างสนธิสัญญาที่รัสเซียเสนอ---
สื่อตะวันตกรายงานว่า สำหรับร่างสนธิสัญญาที่รัสเซียเสนอ NATO นั้นมีทั้ง
- เรียกร้องให้ NATO หยุดการขยายอิทธิพลมาทางตะวันออกเพิ่มเติม ซึ่งหมายถึงยูเครนและจอร์เจีย
- ให้ NATO ยุติกิจกรรมทางการทหารในยุโรปตะวันออก ซึ่งหมายถึงการถอนหน่วยสู้รบออกจากโปแลนด์และกลถ่มประเทศบอลติก คือ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย และเลิกประจำการขีปนาวุธในบางประเทศ เช่น โปแลนด์และโรมาเนีย โดยต้องการให้นาโต้กลับไปยึดมั่นในเขตแดนก่อนปี 1997
- ห้าม NATO รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก
---รัสเซียประนีประนอมจริงหรือ---
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะมีส่วนร่วมทางการทูตโดยเร็วที่สุดในช่วงต้นเดือนมกราคม ทั้งแบบทวิภาคีและผ่านหลายช่องทาง โดยมีบางประเด็นที่รัสเซียหยิบยกขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าสามารถพูดคุยกันได้ และยังมีบางประเด็นที่พวกเขารู้ดีว่าเราจะไม่เห็นด้วย
ขณะที่นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า รัสเซียคาดว่าจะมีการหารือทวิภาคี ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้
การเปิดเผยของรัฐบาลรัสเซียมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลัง NATO ระบุว่า พร้อมที่จะหารือกับรัสเซีย และ NATO ก็จะยังคงเดินหน้าสนับสนุนยูเครนทั้งในทางการเมืองและในทางปฏิบัติด้วย
ขณะที่ The Guardian รายงานว่า ทั้งรัฐบาลยูเครน และรัฐบาลชาติยุโรปตะวันออกต่างเรียกร้องว่า ไม่ต้องการถูกทอดทิ้งออกจากการตกลงใด ๆ กับรัสเซีย ที่จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศพวกเขาด้วย
สำนักข่าว AFP มองว่า น้ำเสียงประนีประนอมของปูตินล่าสุด มีขึ้นหลังจากความตึงเครียดสูงสุดในสัปดาห์นี้ เมื่อเขาให้คำมั่นว่า รัสเซียจะใช้มาตรการทางทหาร "ตอบโต้อย่างเหมาะสม" เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่เขาเรียกว่า "จุดยืนที่ก้าวร้าว" ของตะวันตก และยังว่าประกาศขีปนาวุธใหม่ที่มีความเร็วเหนือเสียงพร้อมจะใกล้ใช้งานแล้ว
---NATO ต้องรับประกันความมั่นคง---
ก่อนหน้านี้ Reuters รายงานว่า ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของชาติตะวันตกที่ต้องให้การรับประกันด้านความมั่นคงตามที่รัสเซียต้องการ และสิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดการกระทำของรัสเซียในอนาคต
ปูตินกล่าวว่า “การกระทำของเรานั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการเจรจา แต่ขึ้นอยู่กับความมั่นคงอย่างไร้เงื่อนไขของรัสเซีย รัสเซียได้แสดงความชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวของนาโต้ออกไปยังทิศตะวันออกนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้”
เขายังกล่าวว่า ไม่ใช่รัสเซียที่เอาชีปนาวุธไปไว้ใกล้ชายแดนสหรัฐฯ แต่เป็นสหรัฐฯ ที่เอาขีปนาวุธมาจ่อประตูบ้านของเรา”
ปูตินยังกล่าวด้วยว่า NATO โกงรัสเซียมาแล้วด้วยการขยายอิทธิพลมาถึง 5 ครั้งนับตั้งแต่สงครามเย็น และสหรัฐฯ ยังเอาขีปนาวุธมาจ่อประตูของรัสเซียอีก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาได้ตอบข้อเสนอของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้มีการแต่งตั้งผู้แทนที่รับผิดชอบต่อประเด็นความมั่นคงทางยุทธศาสตร์
เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยและเสถียรภาพในบริเวณดังกล่าว ต้องไม่มีการเคลื่อนไหวของ NATO มายังทิศตะวันออกอีก ลูกบอลอยู่ในมือพวกเขา อยู่ที่พวกเขาจะต้องตอบเรา
---ยูเครนพร้อมรับมือรัสเซีย---
แม้ว่ารัสเซียจะมีท่าทีประนีประนอมกับสหรัฐฯ มากขึ้น แต่ปูตินระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลปัจจุบันของยูเครน เนื่องจาก ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน อยู่ภายใต้อิทธิพลของ "กองกำลังหัวรุนแรง"
ทั้งนี้ ยูเครนระบุว่ากำลังเตรียมพร้อมสำหรับการรุกรานที่อาจเกิดขึ้นโดยกองทัพรัสเซีย แต่รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ล่าสุดผู้นำยูเครน ระบุว่า ว่าพร้อมที่จะเจรจากับรัสเซียในรูปแบบใดก็ได้ แต่รัสเซียยังคงปฏิเสธจนถึงขณะนี้
ทั้งนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้ประชุมออนไลน์ร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เกี่ยวกับวิกฤตยูเครนไปแล้ว ทางรัสเซียได้ยื่นขอเสนอด้านความมั่นคงสองฉบับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฉบับหนึ่งส่งถึง NATO และอีกฉบับส่งถึงสหรัฐฯ
หลังจากประชุมออนไลน์กับผู้นำสหรัฐฯ ปูตินยังได้ประชุมออนไลน์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และระบุว่า ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ดีในระดับสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยปูตินได้เล่าเรื่องที่หารือกับไบเดนให้ผู้นำจีนฟังด้วย
ในการแถลงข่าวประจำปี ปูตินกล่าวถึงความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนว่า เติบโตอย่างรวดเร็ว และได้ผลดีในด้านต่าง ๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสองผู้นำก็มีความไว้วางใจกันระดับสูงเช่นกัน
พร้อมกับกล่าวยกย่องว่า จีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดใน เอเชียและโลก รวมถึงระบุว่า จีนและรัสเซียได้กระชับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างแน่นแฟ้น แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และความร่วมมือจีน-รัสเซียไม่เพียงแต่นำผลประโยชน์มาสู่ประชาชนชาวจีนและรัสเซียเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นปัจจัยสร้างเสถียรภาพในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย