ต้องดูแล"คนชรา-พิการ-ออทิสติก" กรมราง ออกข้อปฏิบัติบี้ รถไฟ รถไฟฟ้า ช่วยเหลือผู้โดยสารกลุ่มพิเศษ เริ่ม 26 ม.ค.นี้
กรมราง ออกกฎบังคับ รถไฟ รถไฟฟ้า ต้องช่วยเหลือ ผู้โดยสาร “ชรา-พิการ-ออทิสติก” ห้ามใช้คำเรียกไม่สุภาพ และทำให้เครียด บังคับใช้ 26 ม.ค. นี้
รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง(ขร.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาการอธิบดี ขร. เตรียมลงนามในประกาศกรมการขนส่งทางราง เรื่องข้อปฏิบัติในการให้บริการแก่ผู้สูงอายุและคนพิการแต่ละประเภท ได้แก่ คนพิการทางการเห็น คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย คนพิการทางการเคลื่อนไหว หรือทางร่างกาย และคนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม สติ ปัญญา การเรียนรู้ และออทิสติก ซึ่งมีข้อจำกัดทางร่างกาย จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ จากหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางราง โดยผู้ให้บริการต้องถือปฏิบัติเป็นแนวทางในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารกลุ่มพิเศษ คาดว่าจะบังคับใช้ 26 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป
สำหรับข้อปฏิบัติที่ประกอบด้วย ต้องมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ให้มีทักษะพื้นฐานในการให้ความช่วยเหลือบริการแก่ผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าว ตั้งแต่ เข้ามาในระบบจนออกจากระบบ และต้องมีทักษะในการใช้อุปกรณ์ให้ความช่วยเหลืออย่างถูกวิธี เช่น วีลแชร์ ต้องเข็นในความเร็วที่เหมาะสม ไม่เร็วเกินไป และมีการสื่อสารให้ทราบกรณีมีการยกวีลแชร์ขึ้นหรือลง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนทิศทาง และให้ล็อคล้อวิลแชร์ทุกครั้งที่มีการจอดอยู่กับที่หรือพักคอยอยู่บนชั้นชานชาลา โดยหันวีลแชร์ขนานกับขอบชานชาลา ป้องกันอุบัติเหตุลื่นไถลตกชานชาลา
รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่พักคอยบนบนชาลาสำหรับผู้โดยสารสูงอายุหรือคนพิการ โดยต้องอยู่ใกล้กับลิฟต์ สำหรับคนพิการต้องอยู่ห่างจากขอบชานชาลาอย่างน้อย 1 เมตร และติดตั้งป้ายสัญลักษณ์คนพิการ และมีอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายกรณีเหตุฉุกเฉิน (Orthopedic Stretcher)
กรณีผู้โดยสารพิการทางสายตาเดินทางคนเดียว ต้องจัดเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือนำทาง โดยสื่อสารให้จับแขนผู้นำทางบริเวณเหนือข้อศอก และให้ยืนหรือเดินในตำแหน่งที่เยื้องไปข้างหลังของผู้นำทางประมาณครึ่งก้าว หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และต้องเดินด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ ไม่ช้า หรือเร็วเกินไป และบอกทิศทางเป็นระยะๆ
กรณีผู้โดยสารพิการทางการได้ยิน จะต้องจัดให้มีป้ายสัญลักษณ์ ป้ายแนะนำข้อมูลการบริการภายในสถานีและขบวนรถ และจัดเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ โดยเน้นการสื่อสารด้วยการเขียน หรือสื่อสารผ่านเครื่อง TTRS (Telecommunication Relay Service )
กรณีผู้โดยสารเป็นคนพิการทางจิตใจ หรือพฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ ออทิสติก ให้จัดเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ต้องใช้คำพูดสื่อสารที่สุภาพ ห้ามใช้สรรพนามที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับคนพิการ เช่น คนบ้า คนปัญญาอ่อน เป็นต้น และควรให้ข้อมูลด้วยประโยคสั้นๆ ใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย พูดช้าๆ ซ้ำๆ อย่างไรก็ตาม หากผู้พิการเดินทางพร้อมผู้ดูแล ก่อนการให้ความช่วยเหลือ ให้ถามผู้ดูแลก่อนเสนอว่าต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ ไม่ควรเดาเองถึงความต้องการช่วยเหลือ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระตุ้นความเครียดแก่คนพิการได้