รีเซต

กล่อมผู้ผลิตกาแฟ-ไม้ประดับ เมืองเลย ใช้สิทธิเอฟทีเอบุกตลาดโลก

กล่อมผู้ผลิตกาแฟ-ไม้ประดับ เมืองเลย ใช้สิทธิเอฟทีเอบุกตลาดโลก
มติชน
12 กุมภาพันธ์ 2565 ( 16:32 )
88

ข่าววันนี้ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 12 กุมภาพันธ์ กรมได้ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรจังหวัดเลย หารือเรื่องโอกาสและช่องทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสินค้าเกษตรของไทย โดยกลุ่มแรก เป็นกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านแก่งไฮ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ ปลูกต้นคริสต์มาส ไม้ใบ ไม้มงคล ไม้ฟอกอากาศ ไม้จิ๋ว ส่งขายทั่วประเทศ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มต้องปรับตัวเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านออนไลน์และเฟซบุ๊ก ประสบความสำเร็จด้วยดี เนื่องจากผู้บริโภคไม้ดอกไม้ประดับมักให้ความนิยมพันธุ์ใหม่ๆ ไม้ดอกที่มีสีสันที่โดดเด่นสวยงาม หลากหลาย ไม้ใบที่ทรงสวย ลำต้นที่แข็งแรง และต้านทานโรคได้ดี เป็นต้น เกษตรกรจึงเห็นความสำคัญและต้องการได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อการขยายพันธุ์ต้นกล้าที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค ปัจจุบันเริ่มมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเข้าไปให้คำแนะนำแล้ว

 

นางอรมน กล่าวต่อว่า แม้ปัจจุบันเกษตรกรเน้นขายในประเทศ แต่มีความสนใจจะขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งจะสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอได้ เพราะ 17 ประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับไม้ดอกไม้ประดับส่งออกจากไทยแล้ว ยังเหลืออินเดียที่ยังคงเก็บภาษีศุลกากรกับไม้ดอกที่ 60% และไม้ประดับที่ 30% ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับ อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ16 ของโลก มูลค่าการส่งออก124.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสหรัฐ อาเซียน (ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว) ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และจีน เป็นตลาดส่งออกหลัก

 

นางอรมน กล่าวต่อว่่า กรมได้พบปะเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดเลย และจัดสัมมนา เรื่องรอบรู้ตลาดการค้าเสรี สร้างแต้มต่อกาแฟไทยขยายตลาดส่งออก โดยนายผดุงศักดิ์ หาญปรีชาสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เปิดงาน มีผู้ผลิตกาแฟ วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จากอำเภอภูเรือ อำเภอนาแห้ว และอำเภอเมือง เข้าร่วมหารือกับผู้แทนกรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พาณิชย์จังหวัดเลย และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเลย เห็นพ้องกันว่า การพัฒนากาแฟไทยให้ได้คุณภาพ สามารถสร้างจุดแข็งจากอัตลักษณ์ ความพิเศษของกาแฟไทยจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กาแฟไทยแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอขยายกาแฟไทยสู่ตลาดโลก

 

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้แนะนำให้รู้จักกับน่านโมเดล ที่สภาหอการค้าไทย จับมือกับผู้ปลูกกาแฟจังหวัดน่าน นำผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มาช่วยพัฒนาคุณภาพ ส่งเสริมการตลาด สร้างตรารับรองต่าง ๆ เช่น ตรา GAP ตราฮาลาล ตลอดจนให้คำแนะนำเรื่องการปลูก การทดสอบดิน การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ตัดแต่งใบ กำจัดโรคและแมลง เป็นต้น ทำให้ได้ผลผลิตกาแฟสูงถึง 3 ตันต่อไร่ (จากปกติประมาณ 1 ตันต่อไร่) รวมมูลค่า 6 หมื่นบาท

 

ทั้งนี้ ปี 2564 ไทยส่งออกกาแฟดิบ กาแฟคั่ว และกาแฟสำเร็จรูปไปตลาดโลก มูลค่า 103.62 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีกัมพูชา ลาว เมียนมา ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ เป็นตลาดสำคัญ ปัจจุบัน 14 ประเทศคู่เอฟทีเอของไทย คือ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ชิลี ไม่เก็บภาษีศุลกากรกับเมล็ดกาแฟที่ส่งออกจากไทยทุกรายการแล้ว ขณะที่ 4 ประเทศ ยังเก็บภาษีศุลกากรอยู่ คือ ญี่ปุ่น (กาแฟคั่ว 10-12%) จีน (กาแฟไม่ได้คั่ว ทั้งที่แยกและไม่ได้แยกกาเฟอีน และกาแฟคั่วที่ไม่ได้แยกกาเฟอีน 5% ) เปรู (กาแฟคั่วและไม่คั่ว 6-11% ) และอินเดีย (กาแฟคั่ว 100% ) โดยญี่ปุ่นได้ตกลงลดภาษีศุลกากรกับสินค้ากาแฟคั่วส่งออกจากไทย ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะทยอยลดภาษีให้เหลือ 0% ในปี 2580

ข่าวที่เกี่ยวข้อง