รีเซต

"นิสสัน" ไปต่ออย่างไร? เลิกจ้าง - ขาดทุนยับ

"นิสสัน"  ไปต่ออย่างไร?  เลิกจ้าง - ขาดทุนยับ
TNN ช่อง16
16 พฤษภาคม 2568 ( 08:00 )
17

นิสสัน มอเตอร์ ค่ายรถของญี่ปุ่น กำลังเจอกับวิกฤตขั้นรุนแรง

ล่าสุดมีรายงานว่าขาดทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กว่า 7 แสนล้านเยน 

ถึงขั้นต้องเอาคนออก ต้องเลิกจ้างพนักงานเพิ่มอีกกว่าหมื่นคน ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ

เป็นสัญญาณอันตรายของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ก่อนหน้านี้ต้องเจอกับสงครามอีวีจีน 

แต่ตอนนี้กำลังเผชิญกับภาษีทรัมป์ซ้ำเติมเข้ามาอีกด้วย 


สำนักข่าว NHK รายงาน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด 

ซึ่งผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจจะเลิกจ้างพนักงานเพิ่มเติมอีก 11,000 คน 

ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ นับว่าเป็นข่าวการเลิกจ้างครั้งใหญ่เพิ่มเติมอีกครั้ง

หลังจากที่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว นิสสันได้ออกมาประกาศแผนลดกำลังการผลิตทั่วโลกลง 20% 

และเลิกจ้างพนักงาน 9,000 คน 

ดังนั้นเมื่อรวมกันทั้งสองครั้งเท่ากับว่านิสสันจะต้องมีการเลิกจ้างพนักงานถึง 20,000 คนทั่วโลก 

หรือประมาณ 15% ของพนักงานทั้งหมด จากพนักงานมากกว่า 133,000 คน ณ เดือนมีนาคมของปีที่แล้ว


โดยให้เหตุผลในการเอาคนออกในครั้งนี้ว่า ต้องการปรับโครงสร้างองค์กร 

หลังจากที่งบประมาณปีล่าสุดขาดทุนสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 7.5 แสนล้านเยน 

หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 1.7 แสนล้านบาท สำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2025 

เป็นวิกฤตทางการเงินที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี 

 แม้ว่ารายได้รวมจะอยู่ที่ประมาณ 12.6 ล้านล้านเยน 

แต่กำไรจากการดำเนินงานลดลงอย่างมากเหลือเพียง 85,000 ล้านเยน 


ทั้งนี้ที่ผ่านมานิสสันทำยอดขายได้ไม่ดีนักในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐ 

ผลประกอบการของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนัก

จากการขาดแคลนรถยนต์ไฮบริดและจากผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมลง 

รวมถึงคู่แข่งอย่างอีวีแบรนด์จีนที่มาแรงก็มาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปด้วย  

นอกจากรายได้ที่ไม่สดใส นิสสัยยังมีหนี้สินรุงรัง

โดยเฉพาะพันธบัตรมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านเยนที่จะครบกำหนดในอีกสองปีข้างหน้า 

คิดแล้วเป็น 43% ของพันธบัตรทั้งหมด 

ส่วนความน่าเชื่อถือที่มีอยู่ก็อยู่ในระดับที่ติดลบ 

บริษัทอันดับเครดิตขนาดใหญ่ของโลก ตั้งแต่

Fitch Ratings  Moody’s Ratings และ S&P Global Ratings  

ได้พากันลดอันดับความน่าเชื่อถือของนิสสันไปอยู่ในกลุ่มชั้นขยะ (Junk) 

โดยอ้างถึงความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มการฟื้นตัวที่ล่าช้า 



ดีลครั้งประวัติศาสตร์ที่ "ล่มสลาย" ไปพร้อมความหวัง 


ประเด็นร้อนเรื่องดีลยักษ์ที่ล่มไป

หลังจากเมื่อช่วงปลายปีแล้ว นิสสันได้สร้างความฮือฮาและคาดหวัง 

ด้วยการออกมาประกาศข่าวใหญ่ ว่ากำลังจับมือกับฮอนด้า

ระบุแผนการควบรวมกิจการมูลค่ากว่า 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  

แต่สุดท้ายก็กลายเป็นดีลล่ม โดยเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ได้มีการออกมาประกาศว่าการเจรจาดังกล่าวที่ว่าล้มเหลวลงไปแล้ว  

เนื่องจากความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร โดยฮอนด้าต้องการให้นิสสันเป็นบริษัทลูก

แต่นิสสันไม่ยอมรับ 


ขณะเดียวกันการล้มเหลวของการควบรวมกิจการนี้ส่งผลให้ CEO ของนิสสัน

 มะโกโตะ อุจิดะ ลาออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

และถูกแทนที่โดยอีวาน เอสปิโนซา ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินแผนฟื้นฟูกิจการ


ที่ผ่านมายอดขายไม่ดี แต่หลังจากนี้อาจจะยิ่งแย่กว่า 

เพราะตลาดหลักลูกค้าหลักของนิสสันก็คือสหรัฐอเมริกา 

แต่ล่าสุดผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องการให้คนอเมริกันอุดหนุนสินค้าในประเทศ

จึงได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์สูงถึง 25 % 

ดังนั้นค่ายรถญี่ปุ่นจึงช้ำหนัก 


ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการรีดภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์สูงถึง 25% 

ทำให้บรรดาค่ายรถต่างชาติได้รับผลกระทบกันถ้วนทั่ว 

โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่พึ่งพาการอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหลัก ไม่สามารถจะหนีแรงกระแทกได้

นิสสัน เป็นหนึ่งในเหยื่อของภาษีครั้งนี้ที่ทรัมป์ตั้งใจปิดประตูใส่หน้า  

และเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจเป็นการขุดหลุมฝังนิสสันไปเลยก็เป็นได้ 

เพราะปัจจุบัน สหรัฐฯ คือตลาดหลักของนิสสัน 

เช่น เมื่อปีที่แล้ว นิสสันทำยอดขายในสหรัฐฯ ได้ คิดเป็น 1 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมด 

แต่ประเด็น คือ ส่วนใหญ่รถยนต์ของนิสสันเหล่านี้ผลิตในญี่ปุ่นหรือเม็กซิโก 

ซึ่งหมายความว่าต้องถูกบวกภาษีอย่างหนักไม่รอดพ้นจากกำแพงภาษี 

นิสสันกล่าวในแถลงการณ์ว่า กำลังตรวจสอบเรื่องการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน 

เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยทางบริษัทจะมุ่งมั่นปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาด 

โดยให้ความสำคัญกับกำลังคนและความสามารถในการผลิตเป็นหลัก


นิสสัน ระบุด้วยว่า แนวทางของเราจะรอบคอบ 

ในขณะที่เรารับมือกับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของมาตรการภาษี


โดยก่อนหน้านี้เมื่อกลางเมษายน สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า 

นิสสันได้มีการประกาศแผนลดการผลิตรถยนต์บนเกาะญี่ปุ่นจากผลของภาษีทรัมป์

โดยเฉพาะรุ่นขายดีในอเมริกา อย่าง เช่น รุ่น Rogue SUV 

ที่สั่งให้ผลิตลดลงถึง 13,000 คัน จากการผลิตที่โรงงานผลิตบนเกาะคิวชู 

ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น  ซึ่งถือเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของนิสสัน

โดยจะลดการผลิตในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ คือ พฤษภาคม มิถุนายน ถึง กรกฎาคม  

นั่นหมายความว่า คนงานที่โรงงานผลิตในคิวชูจะทำงานน้อยลงในช่วงระยะเวลาดังกล่าว 

และอาจมีการหยุดสายพานการผลิตในบางวัน และแบ่งการผลิตเป็น 2 กะต่อวัน


ซึ่งจำนวนรถยนต์ที่ลดลงที่ว่านี้ คิดแล้วเป็น 1 ใน 5 ของรถยนต์ Rogue 

จากทั้งหมด 62,000 คัน ที่ขายในสหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้


ตลาดสหรัฐถูกปิด “นิสสัน” จึงต้องหันไปพึ่งจีน

ล่าสุดกับการลงทุนในจีนเพิ่มถึง 1.4 พันล้านดอลล์ 

เน้นการลุยพัฒนา EV เป็นหลัก


 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) 

มุ่งมั่นที่จะลงทุนเพิ่มเติมอีก 10,000 ล้านหยวน หรือราว 1,400 ล้านดอลลาร์ ในจีน 

และมองว่าตลาดรถยนต์ที่มีการแข่งขันรุนแรงในประเทศจีน 

เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) 

ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้ฟื้นตัวได้อีกครั้ง


Stephen Ma หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ Nissan ในจีน กล่าวในงานแถลงข่าว

ที่งานแสดงรถยนต์เซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.68 ว่า 

จีนกำลังเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เราจึงต้องการที่จะอยู่ต่อและแข่งขัน 

โดยการลงทุนดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปี 2569


ทั้งนี้นิสสัน เปิดตัวรถรุ่นใหม่ 2 รุ่นในงานแสดงรถยนต์ ซึ่งรวมถึงรถบรรทุกปลั๊กอินไฮบริดที่มีชื่อว่า Frontier Pro 

นอกจากนี้ยังประกาศด้วยว่าจะพัฒนารถรุ่นใหม่ 10 รุ่นในประเทศจีน 

เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 รุ่นภายในกลางปี 2570 และระบุว่ารถทุกรุ่นจะส่งออกไปยังต่างประเทศ





ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง