รีเซต

นักวิจัยชี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ยังสวิง คาดจบเกมยาก!

นักวิจัยชี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ยังสวิง คาดจบเกมยาก!
มติชน
8 เมษายน 2563 ( 17:20 )
117
3
นักวิจัยชี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ยังสวิง คาดจบเกมยาก!

นักวิจัยชี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ “โควิด-19” สวิง ห่วง รพ.รับไม่ไหว คาดจบเกมยาก!

โควิด-19 เมื่อวันที่ 8 เมษายน ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวถึงกรณีตัวเลขผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 20119 หรือ โรคโควิด-19 ที่พบว่าในระยะนี้บางวันลดลง บางวันเพิ่มขึ้น ว่า หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึคงหลัก 100 กว่าๆ ต่อวัน แต่พบว่าช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ตัวเลขลดลงเฉลี่ยแล้ววันละราวร้อยละ 30-40 แต่วันนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 111 ราย จากการนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย หากภาครัฐจัดการแยกคนกลุ่มนี้ดีๆ แนวโน้มขาลงก็อาจจะยังไม่เปลี่ยนมาก

ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งประมาท เพราะในบางวันเราอาจจะเห็นตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกก็ได้ ที่สำคัญขณะนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ จังหวัดที่มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 สูง อาจจะทำให้ขีดความสามารถของโรงพยาบาลรองรับไม่ได้ และอาจจะมีเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากติดเชื้อ หรือถูกจับกักบริเวณ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเจ้าหน้าที่ที่เหลือจะรับมือผู้ป่วยไม่ไหว การติดเชื้อก็ขยายวง

“ถ้าโรงพยาบาลล้ม ระบบสอบสวนติดตามผู้ป่วยแยกโรคของสาธารณสุขก็จะล้มด้วย จำนวนรายงานก็จะต่ำกว่าความเป็นจริง ในกรณีนี้ขอให้ สธ.เตรียมการตั้งรับให้ดี ถ้าเริ่มมีเค้าลาง ก็ขอให้กระทรวงส่งทีมงานภายนอกไปช่วยเหลือให้ทันการณ์ และข้อกังวลนี้ขอให้ติดตามอย่างใกล้ชิด” ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า การลดจำนวนของผู้ป่วยในช่วง 2-3 วัน ก่อนหน้านี้ อาจจะเกิดจากความบังเอิญ ซึ่งเรื่องนี้มีความเป็นไปได้สำหรับขนาดประชากรจำนวนน้อย เมื่อตัวหารน้อย ตัวตั้งแกว่งไปนิดหน่อย ผลหารก็จะแกว่งมาก กรณีจำนวนการเกิดโรคแกว่ง ถือเป็นเรื่องที่พบในธรรมชาติ เช่น อุณหภูมิเปลี่ยนตามเวลากลางวันกลางคืน และฤดูกาล น้ำขึ้นน้ำลงมากน้อยตามวันทางจันทรคติ

“เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เรากวาดล้างไข้ทรพิษโดยใช้การปลูกฝีปิดล้อมจนโรครายสุดท้ายไปจนมุมอยู่ที่บังคลาเทศ เราก็ยังไม่ไว้วางใจ ต้องประกาศให้รางวัลใครก็ตามที่พบไข้ทรพิษอีก แต่จนแล้วจนรอด หลายปีก็ไม่มีไข้ทรพิษ สมัยโรคซาร์สระบาด เขาเอาเวลาที่เกิน 2 เท่าของระยะเวลาฟักตัวของโรค เป็นตัวบอกว่าเราปลอดภัยแล้ว ตอนที่โรคซาร์สใกล้จะสงบ เราตกลงกันว่า ถ้า 28 วัน หรือ 2 เท่าของ 14 วัน ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของโรคซาร์สที่นานที่สุดพ้นไปแล้ว ยังไม่มีผู้ป่วยใหม่เลยทั้งโลก โลกก็จะปลอดภัย” ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่มาถึงยุคโรคโควิด-19 ซึ่งค่าระยะเวลาฟักตัวใกล้เคียงกันกับซาร์ส จะใช้เกณฑ์เดียวกับซาร์สได้หรือไม่ ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คิดว่ายาก เพราะโรคโควิด-19 ระบาดรุนแรงกว่าซาร์ส และกระจายไปทั่วโลก การที่จะหมดทั้งโลกจึงน่าจะใช้เวลาอีกนาน

“สมัยโรคซาร์ส คนไม่ค่อยกลัวผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ แต่สมัยนี้คนกลัวคนติดเชื้อโควิด-19 ที่แพร่เชื้อโดยไม่มีอาการ เพราะฉะนั้นจะประกาศปลอดโรคโควิด-19 จึงไม่ง่าย” ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวและว่า ต้องมาตั้งคำถามต่อว่า ถ้าประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยใหม่แล้ว แต่ประเทศอื่นมีอย่างต่อเนื่อง เราจะผ่อนปรนกันแค่ไหน

ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เกาหลีใต้ผ่อนปรนค่อนข้างมาก ญี่ปุ่นและสิงคโปร์กลับลำเข้มงวดขึ้น จีนเองก็ยังผ่อนไม่มาก ยังต้องกักตัวผู้เดินทางข้ามจังหวัด คาดว่าถ้าไทยหยุดการแพร่เชื้อได้สนิทเหมือนจีน เพราะพัฒนาการของไทยห่างจากจีนราว 1-2 เดือน

ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ปลายเดือนเมษายนนี้ รัฐบาลน่าจะผ่อนปรนได้เท่าๆ กับที่จีนผ่อนปรนในเวลานี้ คือ ยังคงห้ามคนเข้าออกนอกประเทศ ไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น ไม่ให้มีกิจกรรมที่รวมคนขนาดใหญ่มาอยู่ด้วยกัน แต่ยอมให้มีการค้าขาย ไปมาหาสู่มากขึ้น ระบบการผลิตเริ่มดำเนินการได้ ยังคงมีเคอร์ฟิวในเวลากลางคืน และทางที่ดีควรจะห้ามจำหน่ายสุรา 24 ชั่วโมง เพื่อควบคุมนักเที่ยวไปชุมนุมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง