รีเซต

เรียนออนไลน์ : การเรียนทางไกลในยุคโรคระบาด กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เรียนออนไลน์ : การเรียนทางไกลในยุคโรคระบาด กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
บีบีซี ไทย
23 พฤษภาคม 2563 ( 13:16 )
192
1
เรียนออนไลน์ : การเรียนทางไกลในยุคโรคระบาด กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

"ลองทำเน็ตดูก็ได้ว่า (ค่าอินเทอร์เน็ต) 100 บาทจะได้สักกี่วันนะ ลองดูซักสามวันก็ยังดีจะได้หรือเปล่า ไม่ใช่วันละ 100 ตายอย่างเดียวเลย"

ในวันแรกที่ทั่วประเทศเริ่มทดลองการเรียนผ่านทางไกล ที่บ้านไม้หลังเก่ายกใต้ถุนกลางสวนของนางบุญ ไกรสอน ชาว อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา วัย 62 ปี ผู้เป็นยายของหลาน 2 คน ไม่มีภาพของห้องเรียนทางไกลให้ได้เห็น

เมื่อบีบีซีไทยไปถึงและพบว่าโทรทัศน์ของบ้านนี้ซึ่งใช้จานดำหาช่องสัญญาณของการเรียนทางไกลไม่พบ นางบุญถามเราว่าแล้วหากจะลองต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อให้หลานได้เรียนดูบ้าง เธอจะต้องใช้เงินเท่าไหร่

แม้รู้จากข่าวว่าเป็นวันแรกที่มีการเรียนทางไกล แต่จะช่วยให้หลานชายคนโต ชั้น ม.3 และหลานสาวคนเล็กชั้น ป.2 ได้เรียนอย่างไรนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนเกินไปสำหรับยายที่หาเลี้ยงปากท้องด้วยการเผาถ่านขาย และต้องดูแลหลานสองคนเพียงลำพัง

"ไม่รู้จะทำยังไง เมื่อเช้าเค้า (หลาน) ก็ลากหนังสือไปให้เพื่อนบ้านไปสอนให้ ก็อยู่กันแค่นี้ ยายไม่เป็นหนังสือ..."

ส่วนอินเทอร์เน็ตแบบต่อเข้าถึงบ้านยังมาไม่ถึง หรือแม้ว่าในอนาคตจะมาถึงแล้วก็ไม่แน่ว่าบ้านของเธอจะจ่ายค่าการเข้าถึงโอกาสเดือนละหลายร้อยบาทนี้ได้ เมื่อแต่ละเดือนเธอพึ่งพาเงินจากเบี้ยคนชราเดือนละ 600 บัตรคนจนเดือนละ 300 บาท และอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินที่หลานซึ่งทำงานโรงงานต่างอำเภอส่งมาให้

"เปลืองมากไหม...ร้อยนึงเรียนได้กี่วัน" เป็นคำถามจากชาวบ้านทางไกลที่ถามกลับมาในวันที่ผู้ปกครองอย่างบุญยังใช้โทรศัพท์แบบเติมเงิน และไม่เคยรู้ว่าอินเทอร์เน็ตนั้นใช้อะไรได้บ้าง

นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดกับครอบครัวนี้ครอบครัวเดียว

เด็กยากจน - พื้นที่ห่างไกล กลุ่มที่ตกหล่นอยู่ข้างหลัง

เมื่อเดือน เม.ย. สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยผลการศึกษาที่ระบุว่า กลุ่มเด็กด้อยโอกาสจะเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย หากปิดเทอมนานขึ้น

"จากงานวิจัยพบว่าการที่เด็กต้องออกจากโรงเรียนประมาณ 6 สัปดาห์ อาจจะทำให้ความรู้ของเขาหายไปถึงครึ่งปีการศึกษา" ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าว

ในรายงานวิจัยที่ ดร.ภูมิศรัณย์ ได้วิเคราะห์ไว้เป็นการแปรผลจาก ข้อมูลสำรวจขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สำรวจข้อมูลด้านไอซีทีนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวนกว่า 600,000 คน จาก 79 ประเทศทั่วโลก เมื่อปี 2561 รวมทั้งประเทศไทยซึ่งมีการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 8,633 คน จากโรงเรียน 290 แห่ง

เขาชี้อีกว่า ความรู้ที่ถดถอยของเด็กจากการปิดเทอมนั้น กระทบรุนแรงในนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส หรือนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านต่างๆ เด็กที่ต้องพึ่งพิงอาหารเช้า อาหารกลางวันจากทางโรงเรียน ผู้ที่ต้องการการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิด เด็กกลุ่มยากจนและเปราะบาง ผู้ขาดแคลนทรัพยากร ไม่มีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครอง สภาพแวดล้อมในบ้านมีปัญหา

ผลสำรวจที่น่าสนใจในข้อมูลที่ OECD บันทึกไว้พบว่า นักเรียนไทยอายุ 15 ปี ราว 81.6% เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับเด็กนักเรียนในกลุ่มที่มีเศรษฐฐานะยากจนที่สุด มีเพียง 57% เท่านั้นที่บ้านเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้

ส่วนโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์ แม้ว่าเด็กไทยส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ แต่ในกลุ่มเด็กยากจนที่สุด 20%ไม่มีแม้แต่โทรศัพท์มือถือ

แม้แนวทางการเรียนผ่านฟรีทีวีและโทรศัพท์มือถือจะเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด แต่เมื่อประเทศไทยเริ่มเรียนทางไกลวันแรก ก็ทำให้เห็นความเป็นจริงที่ไม่ใช่แค่ตัวเลข

ปัญหาที่ซ้อนไว้อีกชั้น คือ การเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและเทคโนโลยีที่จำเป็น ขณะที่การเรียนทางไกลที่ไม่มีครูนั้นยากยิ่งสำหรับเด็กและผู้ปกครอง

18 พ.ค. 2563 เด็ก ๆ บนดอยแม่วาง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ หอบหิ้วกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์เครื่องใหม่ที่มีผู้บริจาคให้เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสได้เรียนจากครูในจอโทรทัศน์

"สำหรับชุมชนบนดอยแล้วไฟดับทุกวันเลย..." หน่อแอ่ริ ทุ่งเมืองทอง กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บ้านห้วยอีค่าง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เล่าให้บีบีซีไทยฟังทางโทรศัพท์ ถึงปัญหาขั้นแรกสุดของการเรียนทางไกล

"นี่คือปัญหาแม้ กสทช.บอกว่าจะให้สัญญาเน็ตเรียนฟรีแต่มันไปได้ยาก เพราะครอบครัวโดยส่วนใหญ่ไม่มีทีวี... ยิ่งไปกว่านั้นภาษาอังกฤษของเด็กมันยากมาก ถามแม่แม่ก็ไม่ได้เรียนหนังสือมา"

เด็กเล็กและเด็กจนในเมือง กลุ่มเปราะบางในการเรียนรู้

สภาพความเป็นจริงของเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นแรงงาน เกษตรกร หรือบางส่วนที่อาศัยกับผู้สูงอายุ นั้นยิ่งยากสำหรับพวกเขาในการประคับประคองลูกหลานให้เรียนทางไกล

"ยิ่งเด็กเล็กเท่าไหร่ ยิ่งต้องดูแลอย่างใกล้ชิด" ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับบีบีซีไทย

ผศ.อรรถพล บอกว่าสำหรับเด็กอนุบาลจนถึงชั้นประถมต้น ความสามารถในการกำกับตัวเองในการเรียนยังไม่มี กลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด

"โรงเรียนต้องถึงตัว ถ้าไปช่วยที่บ้านไม่ได้ ก็ต้องยอมให้เกิดการมาโรงเรียนในลักษณะที่เป็นแคร์เซ็นเตอร์ (ศูนย์ดูแลเด็ก) ... ถ้าเกิดปล่อยไปเด็กเขาก็เรียนด้วยตัวเองไม่ได้" อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์กล่าว

เขาเสนอแนวทางระดับนโยบายว่า ควรยืดหยุ่นให้โรงเรียนในพื้นที่สามารถจัดการเรียนการสอนในลักษณะแคร์เซ็นเตอร์ได้ โดยอาจลดจำนวนเด็กที่มาโรงเรียนไม่ต้องให้มาเรียนทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นเด็กที่อยู่ตามโรงเรียนขนาดเล็กอยู่แล้ว มีจำนวนเด็กไม่มาก

ขณะที่เด็กในเมืองส่วนใหญ่ถูกมองว่าเข้าถึงทรัพยากรทางดิจิทัลเพียบพร้อม ทว่า ผศ.อรรถพล บอกว่า กลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีเด็กเปราะบางแฝงอยู่

"ควรจะเปิดโรงเรียนขนาดเล็กตามปกติ การเว้นระยะห่างทำได้ เพราะจำนวนเด็กต่อห้อง 9 คน 10 คน การเฝ้าระวังจริง ๆ ควรทำกับเมืองใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง กรุงเทพฯ ภูเก็ต หรือจังหวัดที่มีการระบาด"

คำถามถึงคุณภาพการสอนจากครูทางไกล

เพียงวันแรก สังคมออนไลน์ได้หยิบคลิปการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ชั้น ป.6 ที่สอนผ่านระบบการเรียนทางไกล DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มาวิจารณ์ในหลายแง่มุม ส่วนหนึ่งตั้งคำถามถึงมาตรฐานการสอนของครู

ผศ.อรรถพลให้ข้อมูลว่าคลิปสอนภาษาอังกฤษที่แชร์กันโลกโซเชียลและถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้องของหลักไวยากรณ์และการออกเสียงของครูนั้นน่าจะเป็นการสอนที่มีการบันทึกไว้นานแล้ว เมื่อมีโครงการเรียนทางไกลในช่วงโควิด-19 คลังวิดีโอเก่าของโรงเรียนวังไกลกังวลจึงเป็นแหล่งเดียวที่พร้อมใช้งาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงหยิบมาใช้

"เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ทำให้ชวนตั้งคำถามย้อนไปว่า ที่ผ่านมาคลิปพวกนี้ถูกใช้มาแล้วจากโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนขนาดเล็ก แต่ไม่มีเสียงสะท้อนมาเลย แสดงว่าโรงเรียนเหล่านั้นที่เปิดให้เด็กดูก็อาจไม่ได้มีการตรวจสอบว่าที่เปิดอยู่ถูกหรือไม่ หรือมีระบบในการตรวจสอบอย่างไร" เขาตั้งคำถาม

การศึกษาท็อปดาวน์ที่สื่อสารไม่ชัด ไม่วัดผลแต่งานหนักตกที่ครู

ก่อนจะมาถึงวันแรกของการทดลองการเรียนทางไกล กระทรวงศึกษาธิการ ระบุถึงการทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกลและออนไลน์วันที่ 18 พ.ค. - 30 มิ.ย.ตั้งแต่ระดับระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาปลาย ผ่านช่องรายการโทรทัศน์จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ซึ่งมีช่องทางทั้งรับชมจากโทรทัศน์ดิจิทัล ดาวเทียม หรือผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน DLTV

เมื่อวันแรกเกิดความโกลาหลในการเข้าเรียน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงว่า "ความเข้าใจที่คิดว่าผู้ปกครองที่จะเตรียมตัวทำการเรียนการสอนออนไลน์เป็นความเข้าใจที่ผิด เราเตรียมการสอนออนไลน์เสริมเฉพาะในเด็กนักเรียนชั้น ม. 4-5-6"

ในทัศนะของ ผศ.อรรถพล ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือการสื่อสารนโยบายที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ชัดเจนว่านี่คือ "ช่วงทดลอง"

เขาเห็นว่าช่วงเวลานี้ครูจำเป็นต้องวางแผนแล้วว่า เมื่อเปิดเทอมจริงวันที่ 1 ก.ค. จะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการเปิดเรียนที่ต้องมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย ในโรงเรียนใหญ่ ๆ ต้องสลับเรียนทางไกลกับเรียนที่โรงเรียนหรือไม่ รวมทั้งการเตรียมสื่อการสอน การวัดคุณภาพโรงเรียน และการจัดตารางเรียน ทว่าการกำกับติดตามโรงเรียนในช่วงการทดลองตอนนี้ ที่สุดแล้วครูและโรงเรียนก็ยังมีภาระที่ต้องรายงานผลเสมือนเป็นการเรียนในช่วงการเรียนปกติ

"ระหว่างวันเขา (ครู) ต้องคอยเช็คว่าเด็กเข้าเรียนได้หรือเปล่า ฟังครูทันไหม ใบงานทำได้หรือเปล่า แล้วต้องทำรายงานประจำวัน เด็กเข้าเรียนกี่คน ส่งใบงานมากี่คน มันเลยเป็นภาระให้ทุกฝ่าย"

สพฐ. : "เราแก้ปัญหาหลักไปที่การใช้ทีวีก่อน"

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยอมรับกับบีบีซีไทยเกี่ยวกับความสับสนและขัดข้องในวันแรกของการเรียนทางไกลและออนไลน์ว่า "สื่อสารน้อยไป" จึงทำให้ความเข้าใจของผู้ปกครองไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แต่เน้นย้ำให้เขตพื้นที่การศึกษาและ ผอ.โรงเรียน ลงไปรับฟังปัญหาและแก้ไขให้พร้อมสำหรับการเรียนมากขึ้น

"การที่มีทีวีเครื่องเดียวแต่ลูกหลายคน ทางชุมชนแก้ไขโดยสภาพของเขาอยู่แล้ว เช่น นักเรียน ป.3 ก็ให้ไปเรียนที่บ้านเดียวกัน แต่ควรใช้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย"

ส่วนปัญหาการเข้าถึงการเรียนผ่านช่องโทรทัศน์ดิจิทัลและดาวเทียม เลขาธิการ สพฐ.กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ศธ.ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแจ้งไปที่ กสทช.ว่ามีความต้องการใช้กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัลทั่วประเทศ 1.6 ล้านกล่อง และขอ กสทช. ให้สนับสนุนภายในช่วงก่อนเปิดภาคเรียน

"ตอนนี้เราเน้นที่ออนแอร์ ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต เราแก้ปัญหาหลักไปที่การใช้ทีวีก่อน"

เกี่ยวกับเสียงสะท้อนจากครูผู้สอนและนักวิชาการการศึกษาว่าเป็นการทดลองเรียนและเด็กบางส่วนก็ยังเข้าไม่ถึงการเรียนทางไกล แต่เหตุใดยังต้องมีการติดตามกำกับเข้มข้น นายอำนาจชี้แจงว่าแม้เป็นการเรียนปรับพื้นฐาน แต่ยังจำเป็นต้องรับการรายงานจากครูด้วย "เพื่อให้ระดับนโยบายทราบว่าพร้อมหรือไม่"

"ถามว่ามีการสอบไหม คุณครูอาจจะพรีเทสต์ โพสต์เทสต์ว่าเด็กเรียนไปแล้วมีความรู้ยังไงบ้างในช่วงเวลา 43 วันนี้" เลขาธิการ สพฐ.กล่าว "ถ้าเราปล่อยเลย ทำบ้างไม่ทำบ้าง เราก็ไม่รู้ว่าพร้อมหรือเปล่า"

มองไปข้างหน้า

การเริ่มเรียนทางไกลในยุคโรคระบาดนั้นทำให้เราเห็นภาพความจริงของความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาที่ชัดขึ้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวกับบีบีซีไทยว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจำเป็นที่ภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ต้องช่วยแต่ละพื้นที่หาทางออกที่เป็นทางเลือกเฉพาะ

เขาเสนอว่าคำตอบอาจอยู่ที่การเรียนรู้อย่างผสมผสานที่ชุมชนเลือกได้เอง ซึ่งโรงเรียน 30,000 แห่งทั่วประเทศอาจมีคำตอบที่ไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่อาจสอนทางไกล-ออนไลน์ กับสอนที่โรงเรียนได้ในสัดส่วนที่เป็นไปตามเงื่อนไขสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีในแต่ละพื้นที่

"เด็กจะเรียนรู้ผ่านทีวี 50 เปอร์เซ็นต์ได้ไหม ใช้ครูจริง ๆ อีก 50 เปอร์เซ็นต์ หรือบางที่เป็นไปได้ไหมว่าอาจเป็น 70 : 30"

ด้าน ผศ.อรรถพล บอกว่า "ปัญหาช่องว่างทางการศึกษาสะท้อนซ้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม" ทรัพยากรทุกอย่างกระจุกอยู่ที่โรงเรียนใหญ่ และไปไม่ถึงโรงเรียนระดับชุมชน

"ผมไม่อยากใช้คำแรง อย่ามาโรแมนติไซส์กับเรื่องครูเอานมไปแจกเด็ก โทรหาเด็กน่ารัก ๆ มันเป็นเรื่องน่าเศร้า ครูก็ทำงานในภาวะแบบนี้ คือเด็กเข้าถึงไม่ได้ อันนี้มีปัญหาแสดงว่าเราทิ้งคนจำนวนมากไว้ข้างหลัง แต่ในเรื่องการศึกษาไม่ได้ไง เพราะสิทธิของเด็กเป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดแล้วในการเข้าถึงการศึกษา"

https://www.facebook.com/BBCnewsThai/videos/290516901955079/

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง