รีเซต

ละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ ภัยร้ายกระทบเด็กและเยาวชนไทย

ละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ ภัยร้ายกระทบเด็กและเยาวชนไทย
TNN ช่อง16
19 กรกฎาคม 2567 ( 17:31 )
11
ละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ ภัยร้ายกระทบเด็กและเยาวชนไทย

ในยุคดิจิทัล เราจะเห็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้นได้ง่ายมากบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดภาพยนตร์ เพลง เกม ไปจนถึงการเข้าไปรับชมกีฬาต่างๆ ในเว็บเถื่อน เว็บพนัน สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือลิขสิทธิ์และอุตสาหกรรมต่างๆ  แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนในสังคมโดยรวม  แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวัน จนอาจเกิดความรู้สึกที่ว่า...สังคมไทยทำให้สิ่งไม่ปกติ (ละเมิดลิขสิทธิ์) กลายเป็นสิ่งปกติของสังคมแล้วหรือ?


ในฐานะผู้ที่ขับเคลื่อนงานด้านสังคมมองว่า กลุ่มที่น่ากังวลและมีความเสี่ยงสูงคือ เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละประมาณ 10 ชั่วโมง จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง เด็กกว่า 30,000 คน พบว่า ร้อยละ 81% มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง และ 85% แอคทีฟมากในสื่อสังคมออนไลน์ การมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเองและใช้สื่อโซเชียลมาก จะเพิ่มความเสี่ยงภัยออนไลน์ขึ้นถึง 40%


เด็กและเยาวชนจึงเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าถึงเว็บที่ละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีอยู่มากบนโลกออนไลน์โดยขาดความตระหนักรู้ เรียกได้ว่าในตอนนี้เมื่อเข้าไปในโลกออนไลน์ก็จะพบกับ  "ฮับของปลอม"  เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น ฮับหนังเถื่อน เกม เพลงละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าก๊อป แม้แต่การทำรายงานนักเรียนหรืองานวิจัยผู้ใหญ่ ก็มีแหล่งรับจ้างทำปลอมโดยแก้จากเล่มจริงของคนอื่น สำหรับคนที่อยากเข้าไปหาโปรแกรมฟรี หรือถูก เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจในยุคนี้  “อะไรประหยัดได้ก็ต้องประหยัด” ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมตัดต่อแต่งภาพ โปรแกรมพรีเซนต์งาน  แม้แต่โปรแกรมพื้นฐานทำงานเอกสารหรือตารางคำนวน รวมถึงโปรแกรมแอนตี้ไวรัสต่าง ๆ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่หันไปดาวน์โหลดโปรแกรมเถื่อนแทนการซื้อโปรแกรมของแท้ที่มีราคาแพงมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้เจ้าของลิขสิทธิ์หลายรายหันไปเก็บค่าเช่าใช้บริการรายเดือนแทนการขายขาดครั้งเดียว สิ่งเหล่านี้สะท้อนแง่มุมสังคมไทยกับการละเลยด้านการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ไม่น้อย


อย่างไรก็ตาม หากมองต่อไปที่เรื่องเนื้อหาของการเสพสื่อในยุคออนไลน์ จะพบว่า การที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ง่าย อาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ความรุนแรง เพศ ภาษา จากการลอกเลียนแบบเนื้อหาที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองหรือจัดเรตติ้ง (rating คือการจัดระดับความเหมาะสมของคุณภาพเนื้อหาตามช่วงวัย) นำไปสู่การเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด และปัญหาติดพนันออนไลน์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น เพราะโดนชักจูงให้เข้าถึงและเล่นได้ง่ายมาก


ในขณะเดียวกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ก็อาจลดทอนความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาด้วย เพราะเมื่อเข้าถึงง่ายไม่ต้องจ่ายเงิน ก็ยิ่งทำให้ส่งเสริมพฤติกรรม "ลอกของก๊อป" ไม่ต้อง “คิดสร้างสรรค์” ละเมิดกันเป็นวงจรไม่รู้จบ


สิ่งดังกล่าวสะท้อนถึงจุดอ่อนของประเทศไทยต่อการกำกับดูแลการละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ที่เป็นปัญหาใหญ่ สิ่งสำคัญที่น่าจะเป็นทางออกของวงจรนี้คือ รัฐต้องมีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน ปิดช่องโหว่ทางกฎหมายให้ได้โดยเร็ว กฎหมายที่ล้าสมัย การบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความต่อเนื่อง จริงจัง เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่รู้ไม่ชัดเจนในอำนาจหน้าที่  การตรวจตราบนโลกออนไลน์นั้นยิ่งทำได้ยากและไม่ทั่วถึง 


เนื่องจากมีเว็บไซต์เกิดใหม่ได้ตลอดเวลา การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านทางโซเชียลมีเดียนั้นก็ทำได้อย่างรวดเร็วแพร่หลาย เว็บเถื่อนต่อให้บุกไปจับและปิด ก็ยังมีเครือข่ายที่สามารถเอาไปเปิดเว็บใหม่ได้ทันที เพราะมีการโคลนนิ่งเว็บไว้แล้ว ตัวอย่าง เว็บพนัน เว็บโป๊ หนังเถื่อน สินค้าเลียนแบบ เป็นวงเวียนวิ่งไล่จับกันไปไม่หมด ซอฟต์แวร์เถื่อนนั้นแทบไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นควรมีการปรับแก้กฎหมายให้ครอบคลุม ทันสมัย ให้ความรู้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องมีการปราบปรามที่เข้มงวด รวมถึงการให้ความรู้กับประชาชน


หากมองการแก้ไขปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ในระยะยาว สิ่งสำคัญคือ "ควรต้องมีการปลูกฝังความตระหนักรู้" ให้กับผู้ใช้ รวมถึงเด็กและเยาวชน ทั้งในระบบการศึกษาภาคบังคับและในครอบครัว ในชุมชน สังคม เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการให้ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาว่าเรามีกฎหมายที่คุ้มครองงานและความคิดของผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้น ทั้งทางเศรษฐกิจและทางศีลธรรม กล่าวคือ กฎหมายคุ้มครองให้เจ้าของที่ได้ทุ่มเทแรงกายและสติปัญญาในการคิดสร้างสรรค์ผลงาน ให้ได้รับผลประโยชน์ ผลตอบแทน ป้องกันการถูกละเมิด ทำซ้ำ นำไปแสวงหาประโยชน์ ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เสียประโยชน์ 


เราควรปลูกฝังเน้นย้ำให้ทุกคนหวงแหนผลงานหรือลิขสิทธิ์ของตนเอง ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ แต่ต้องกระตุกเตือนเข้าไปในจิตสำนึกแบบ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ต้องมีหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงถึงตัวเด็ก หากเขาไปละเมิดลิขสิทธิ์ใคร ไปลอก ไปดูดข้อมูลของใคร จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง และในวันหนึ่งที่เขาคิดสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองที่มีมูลค่าหลายล้าน แล้วสิ่งนี้เกิดขึ้นกับตัวเขาเองบ้าง เขาจะรู้สึกอย่างไร จะสูญเสียเงินหรือโอกาสสำคัญในชีวิตอย่างไรบ้าง 


การละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ จึงไม่ใช่ว่าแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ต้องแก้ให้ "ตรงจุด" ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมในการรับไม้ต่อปราบปรามเรื่องนี้อย่างจริงจังและเข้มงวด สร้างจิตสำนึกเคารพความคิดและผลงานของผู้อื่น ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยน่าอยู่บนโลกออนไลน์ ให้กับเด็กและเยาวชนไทยให้เร็วที่สุด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง