รีเซต

'กสทช.' เลื่อนถกค่ายมือถือ ให้การบ้านโอเปอเรเตอร์คิดแพ็คเกจช่วยปชช.

'กสทช.' เลื่อนถกค่ายมือถือ ให้การบ้านโอเปอเรเตอร์คิดแพ็คเกจช่วยปชช.
มติชน
18 เมษายน 2563 ( 00:25 )
55
'กสทช.' เลื่อนถกค่ายมือถือ ให้การบ้านโอเปอเรเตอร์คิดแพ็คเกจช่วยปชช.

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า กรณีที่ สำนักงาน กสทช. ได้ยกเลิกการแถลงข่าวมาตรการในการลดอัตราค่าบริการ เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะผู้บริหาร เพื่อขอรับนโยบายว่าจะสามารถดำเนินการตามที่สำนักงาน กสทช. ขอความร่วมมือไปได้หรือไม่ ดังนั้น จึงต้องเลื่อนการแถลงข่าวออกไป ซึ่งหากได้กำหนดการที่แน่นอน สำนักงาน กสทช. จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงมาตรการในการลดอัตราค่าบริการ เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ซึ่งมีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร และนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นประธาน

โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทั้ง 5 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีการรายงานถึงแพ็คเกจและโปรโมชั่นในการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในส่วนของดีแทคมีแพ็คเกจ โปรโมชั่น รวมถึงส่วนลดเพื่อช่วยเหลือประชาชนประมาณ 20-30 โปรแกรม ขณะที่ เอไอเอสและทรู มีอยู่ประมาณ 30-40 โปรแกรม ส่วนแคทและทีโอทีก็มีโปรแกรมเช่นกัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า โจทย์ที่ กสทช. ได้เสนอให้โอเปอเรเตอร์ไปพิจารณา คือ หาวิธีการให้ประชาชนได้ใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นวิธีการที่ส่งผลกระทบอย่างมาก และเป็นเรื่องใหญ่ต่อการดำเนินธุรกิจ จึงต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ดังนั้น จากการหารือร่วมกันจึงยังไม่ได้ข้อสรุป

“ต้องให้เวลาแต่ละค่ายทำการบ้านกันสักนิด ไม่ใช่บอกเมื่อวานแล้ววันนี้ทำ แบบนั้นทำไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องดำเนินการใน 3 ส่วนคือ ลูกค้าต้องไม่ได้รับผลกระทบ ผู้ถือหุ้นต้องไม่ได้รับผลกระทบ และต้องรอบคอบ ไม่ใช่ทำไปแล้วเกิดการลักลั่นกัน ซึ่งจะพยายามหาคำตอบ เพื่อเสนอไปยัง กสทช. ให้ได้ภายวันที่ 20 เมษายน 2563 เพราะอย่างน้อยจะได้มีความชัดเจนอะไรบ้าง เช่น มีแพ็คเกจสำหรับประชาชนทั่วไป อาทิ อินเตอร์เน็ตไม่เกิน 5 กิกะไบต์ ราคาไม่เกิน 80 บาท ใช้ได้ไม่เกิน 1 เดือน หรืออินเตอร์เน็ต 4 กิกะไบต์ ราคาไม่เกิน 80 บาท ใช้ได้ 20 วัน ซึ่งลูกค้าสามารถใช้งานโดยไม่ต้องกดยูเอสเอสดี อย่างไรก็ตาม ทุกค่ายพยายามหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะกลืนเลือดบ้างเราก็ต้องทำ อย่างในกรณีการให้บริการเพิ่มอินเตอร์เน็ตฟรี 10 กิกะไบต์ โดยได้เงินสนับสนุนในอัตรา 100 บาทต่อ 1 เลขหมาย ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนอย่างมาก แต่เราก็ทำเพราะถือเป็นการคืนกำไรให้กับสังคม” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์วิกฤตนี้ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ จึงได้มีการหารือร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ถึงแนวทางการช่วยเหลือว่าจะเป็นไปในทิศทางใดได้บ้าง โดยอาจจะมีการทำหนังสือถึง กสทช. เพื่อเสนอขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และลดอัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ที่ต้องนำจ่ายช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2563 ออกไป

“ไม่ใช่เราจะไม่จ่าย เพียงขอให้ขยายระยะเวลาการชำระออกไปก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายก็ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการต่อรองจากมาตรการช่วยเหลือประชาชนใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเราก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะต้องต่อรอง และก็ไม่เคยคิดที่จะไปต่อรองด้วย เพราะ กสทช. เองก็ไม่ยอมให้เราต่อรองอยู่แล้ว การจะต้องต่อรองอะไร เราจะต้องมีอำนาจในการต่อรองจริงๆ” แหล่งข่าวกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง