รีเซต

อภิมหาโปรเจกต์ แลนด์บริดจ์เชื่อม 2 มหาสมุทร

อภิมหาโปรเจกต์ แลนด์บริดจ์เชื่อม 2 มหาสมุทร
TNN ช่อง16
20 ธันวาคม 2566 ( 09:10 )
67



การเดินทางไปญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นลงแล้ว มีหนึ่งเรื่องสำคัญ คือ การพูดคุยกับ 30 บริษัทญี่ปุ่น จูงใจให้เข้าร่วมโครงการแลนด์บริดจ์ในไทย โดยมีความคืบหน้าในรายละเอียดโครงการออกมาเพิ่มเติม 


ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีการเผยรายละเอียดที่สำคัญของอภิมหาโปรเจกต์ "แลนด์บริดจ์" ออกมาแล้ว นี่คือโครงการใหญ่ที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าไทยอย่างมหาศาล จากการเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค โดยเฉพาะทางเรือ 





- สร้างโอกาสจากปัญหาช่องแคบมะละกา


ช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลักในภูมิภาคเอเชีย และของโลก ที่มีความยาว 930 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรมลายู (มาเลเซีย) กับเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก นับเป็นเส้นทางหนึ่งที่มีเรือสัญจรมากที่สุดในโลก


การขนส่งสินค้าในปัจจุบัน มีตู้สินค้าผ่าน ร้อยละ 25 ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก การขนส่งน้ำมันกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า 70.4 ล้านตู้ต่อปี  จำนวนเรือที่เดินทางผ่าน 90,000 ลำต่อปี 


รัฐบาลไทย คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาขนส่งสินค้าล่าช้า ไทยจึงเห็นโอกาสสำคัญนี้ และริเริ่มโครงการ แลนด์บริดจ์ เชื่อม 2 มหาสมุทร ขึ้นมา 

- ข้อมูลสำคัญ "แลนด์บริดจ์"


รายละเอียด - โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมต่อ จ.ระนอง และ ชุมพร 


เป้าหมาย - เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งภูมิภาค และของโลกในอนาคต


หลักการ - เปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง โดยใช้เรือลูก เปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าที่แลนด์บริดจ์ 


ข้อดี - ประหยัดต้นทุนขนส่งอย่างน้อย 4% ประหยัดเวลาได้ 5 วัน มีความปลอดภัยมากกว่า 


กลุ่มเป้าหมายหลัก - เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง ในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย


ประเทศเป้าหมาย - กลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ 


โครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง - การบริการ ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลดีตามมา


ผลลัพธ์เมื่อพัฒนาเต็มรูปแบบ จะสามารถสร้างงาน 280,000 อัตรา จีดีพีไทยเติบโตถึง 5.5% ต่อปี (6.7 แสนล้านดอลลาร์) 


- ดึงธนาคารใหญ่ญี่ปุ่นเป็นแหล่งทุน


การเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้นายกฯ ได้มีการนำเสนอโครงการต่อ MUFG Bank (ธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่น) ให้เป็นแหล่งทุนของแลนด์บริดจ์ ที่มีมูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท ผ่านข้อตกลง PPP (Public-Private Partnerships) ที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ


แบ่งเป็น 4 ระยะ 

ระยะที่ 1 ท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และระนอง 6.09 แสนล้านบาท

ระยะที่ 2 มอเตอร์เวย์ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 1.647 แสนล้านบาท

ระยะที่ 3 ท่อขนส่งน้ำมัน 2.28 แสนล้านบาท

ระยะที่ 4 รถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน 8.51 หมื่นล้านบาท

ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว 



เป้าหมายกลุ่มนักลงทุน มีทั้ง สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ นักลงทุนภาคอุตสาหกรรม


โดยไทยจะออกกฎหมายใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการและพื้นที่โดยรอบเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีผลการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนว่า ผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี 

Road Show ครั้งนี้ รัฐบาลได้นำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางทะเล ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่น ก็ส่งสัญญาณไปในทางบวก หลังจากนี้ จะต้องรอขั้นตอนด้านกฎหมาย ก่อนจะเดินหน้า เพื่อดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง