รีเซต

“อินเดีย” ทดสอบระบบดีดตัวนักบินอวกาศสำเร็จ เป็นชาติที่ 4 ต่อจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน

“อินเดีย” ทดสอบระบบดีดตัวนักบินอวกาศสำเร็จ เป็นชาติที่ 4 ต่อจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน
TNN ช่อง16
25 ตุลาคม 2566 ( 01:19 )
87
“อินเดีย” ทดสอบระบบดีดตัวนักบินอวกาศสำเร็จ เป็นชาติที่ 4 ต่อจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน

ถ้าจรวดตอนปล่อยสู่อวกาศนั้นมีปัญหาร้ายแรง ถึงขั้นที่อาจเกิดระเบิดหรือเสี่ยงชีวิตขึ้นมา นักบินอวกาศในนั้นจะหนีออกมาได้อย่างไร คำถามนี้เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของภารกิจด้านอวกาศยุคใหม่ที่เหล่ามหาอำนาจด้านอวกาศต่างพัฒนาขึ้นมา รวมถึงหน้าใหม่ในวงการอย่างอินเดียด้วยเช่นกัน


TV-D1 ภารกิจเพื่อความปลอดภัยของนักบินอวกาศอินเดีย

ปัจจุบันอินเดียกำลังเดินหน้าพาคนขึ้นไปบนอวกาศ โดยล่าสุด ISRO (Indian Space Research Organisation) องค์การด้านอวกาศภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ขออินเดีย ได้ทำภารกิจที่ชื่อว่า ทีวี ดีวัน (TV-D1: Test Vehicle Abort Mission-1) เพื่อทดสอบระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของห้องนักบินขึ้นมา 


การทดสอบดังกล่าวเป็นการยิงจรวดเสมือนกับการไปยังชั้นอวกาศจริง โดยกำหนดให้จรวดทดสอบจำลองข้อผิดพลาดซึ่งทำให้ตัวจรวดตัดสินใจดีดเอาห้องนักบินทั้งหมดแยกออกจากตัวจรวด ก่อนปล่อยตกลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ตอน 10.00  น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 11.30 น. ตามเวลาประเทศไทย 


โดยจรวดได้บินสูงขึ้นไป 12 กิโลเมตร จากพื้นดิน ก็มีการสร้างปัญหาจำลองขึ้นมา จากนั้น ระบบดีดตัวห้องนักบินได้ทำงานที่ระยะความสูงจากพื้นดิน 17 กิโลเมตร  และกางร่มตกลงกลางทะเล ห่างจากจุดปล่อยไป 10 กิโลเมตร และได้รับการช่วยเหลือจากกองทัพเรือของอินเดียตามแผนงานที่วางไว้


ความปลอดภัยนักบินอวกาศสู่ก้าวต่อไปในภารกิจไปนอกโลกของอินเดีย

ภารกิจนี้ ทาง ISRO ยืนยันว่าภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดี โดยอินเดียถือเป็นชาติที่ 4 ต่อจาก รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน ที่มีเทคโนโลยีช่วยเหลือนักบิน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับเหตุการณ์ในอดีต เช่น กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (Challenger space shuttle) ที่นักบินอวกาศทั้งหมดเสียชีวิตหลังขึ้นบินในปี 1986 เพียง 73 วินาที จากการระเบิดของจรวดกลางอากาศ


เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้นักบินมีความปลอดภัยในการบินขึ้นสู่อวกาศ ตามแผนงานของอินเดียที่ต้องการสถานีอวกาศในปี 2035 และพาคนไปเหยียบดวงจันทร์ในปี 2040 นี้ หลังก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคม อินเดียได้ส่ง จันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) หุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์ที่บริเวณขั้วใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อว่ามีน้ำแข็งอยู่เป็นชาติแรกของโลก และส่งอทิตยา-1 (Aditya-1) ยานอวกาศศึกษาดวงอาทิตย์ที่ขึ้นไปอยู่ห่างจากโลก 1.5 กิโลเมตร ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา



ที่มาข้อมูล Interesting Engineering

ที่มารูปภาพ ISRO


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง