รีเซต

ประท้วงฮ่องกง : ครบรอบ 23 ปี อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีน ชาวฮ่องกงเริ่มถูกจับกุมด้วยกฎหมายความมั่นคงของจีน

ประท้วงฮ่องกง : ครบรอบ 23 ปี อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีน ชาวฮ่องกงเริ่มถูกจับกุมด้วยกฎหมายความมั่นคงของจีน
บีบีซี ไทย
2 กรกฎาคม 2563 ( 07:40 )
93
ประท้วงฮ่องกง : ครบรอบ 23 ปี อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีน ชาวฮ่องกงเริ่มถูกจับกุมด้วยกฎหมายความมั่นคงของจีน

Reuters

ครบรอบ 23 ปี สหราชอาณาจักรส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีนเมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) มีผู้ประท้วงอย่างน้อย 9 คนถูกจับกุมจากการฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ขณะอีกหลายร้อยคนถูกจับข้อหาฝ่าฝืนห้ามชุมนุม

นี่เป็นครั้งแรกที่ใช้ "กฎหมายห้ามประท้วง" หรือ กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งกำหนดขึ้นโดยรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ หลังเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. และวันครบรอบอังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีนเมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) เป็นวันที่คนฮ่องกงมักออกมาชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

นอกจากนี้ มีชาวฮ่องกงอย่างน้อย 370 คน ที่ถูกจับกุมเพราะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมกันเกินกว่า 50 คนในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นายได้รับบาดเจ็บ คนหนึ่งถูกแทงด้วยดาบสั้น ส่วนอีกคนถูกคนขี่มอเตอร์ไซค์พุ่งเข้าชน

ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่นี้ อาจถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิตได้

ฮ่องกงถูกส่งมอบคืนจากการปกครองของอังกฤษเมื่อปี 1997 ภายใต้ข้อตกลงพิเศษที่ว่า รัฐบาลจีนจะปกครองฮ่องกงแบบ "หนึ่งประเทศสองระบบ" โดยชาวฮ่องกงจะมีเสรีภาพบางประการไปอย่างน้อย 50 ปี

จีนระบุว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ และความไร้เสถียรภาพจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่กำลังขยายวงกว้างในฮ่องกง

ส่วนฝ่ายคัดค้านระบุว่า กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเสียหายต่อความเป็นอิสระของกฎหมายพื้นฐานที่รับรองเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุม ในการแสดงความคิดเห็น การมีระบบตุลาการที่เป็นอิสระ และมีสิทธิตามหลักประชาธิปไตยบางอย่างที่ไม่มีในจีนแผ่นดินใหญ่

จับกุมหลายร้อย

ทางการฮ่องกงห้ามคนชุมนุมมากกว่า 50 คนโดยบอกว่าเพื่อระงับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ก็มีคนหลายพันคนฝ่าฝืนกฎออกมาชุมนุมเพื่อรำลึกวันครบรอบสหราชอาณาจักรส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีน

ตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำความดันแรงสูง แก๊สน้ำตา และสเปรย์พริกไทย ในการพยายามควบคุมฝูงชน

หนึ่งใน 9 คนที่ถูกจับฐานฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ถือธงเรียกร้องเอกราชให้ฮ่องกง

https://twitter.com/hkpoliceforce/status/1278201222457987073


ชาวฮ่องกงจำนวนมากเริ่มลบข้อความวิพากษ์วิจารณ์ฮ่องกงที่พวกเขาเคยโพสต์ไว้ในโซเชียลมีเดียด้วยความกังวลว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการดำเนินคดีกับพวกเขาในภายหลัง และหลายคนก็เริ่มใช้แอปพลิเคชันส่งข้อความที่มีความปลอดภัยสูงอย่างเช่น Signal แล้ว

ก่อนหน้านี้ "เดโมซิสโต" (Demosisto) กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่สำคัญในฮ่องกง ได้ประกาศยุติการเคลื่อนไหวทั้งหมด หลังจากนายโจชัว หว่อง แกนนำคนสำคัญได้ประกาศลาออกจากกลุ่ม

กลุ่มเดโมซิสโตระบุว่า สมาชิกหลายคนได้ขอให้ถอดชื่อพวกเขาออกจากกลุ่ม ทางกลุ่มจึงตัดสินใจ "สลายตัวและยุติการรวมตัวกันทั้งหมด" พร้อมชี้ว่าการต่อสู้กับ "การกดขี่ของระบอบเผด็จการ" จะดำเนินต่อไปในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นขึ้น"

นายโจชัว หว่อง ระบุว่า กฎหมายความมั่นคงนี้คือ "จุดสิ้นสุดของฮ่องกงที่โลกเคยรู้จักเมื่อก่อนหน้านี้"

https://twitter.com/joshuawongcf/status/1277797447822172162?s=20

ให้สัญชาติ

สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แสดงความกังวลและความไม่พอใจกับท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนนี้

นายดอมินิก ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวถึงการเริ่มจับกุมผู้ประท้วงด้วยกฎหมายฉบับใหม่ว่า "นี่เป็นวันที่น่าเศร้าใจสำหรับชาวฮ่องกง"

EPA
วันครบรอบอังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีนเมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) เป็นวันที่คนฮ่องกงมักออกมาชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

ด้านนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร บอกว่า เตรียมเสนอให้ชาวฮ่องกงมากถึง 3 ล้านคนขอย้ายถิ่นฐานมาที่สหราชอาณาจักรได้ และต่อไปก็จะสามารถยื่นเรื่องขอสัญชาติได้

ก่อนหน้านี้ ชาวฮ่องกงที่ถือหนังสือเดินทางแบบสัญชาติบริติชโพ้นทะเล (British National Overseas Passport) สามารถเดินทางมาอยู่สหราชอาณาจักรได้นาน 6 เดือน แต่รัฐบาลเตรียมอนุญาตให้คนเหล่านี้และผู้ติดตามสามารถมาเรียนหรือทำงานได้ 5 ปี และหลังจากนั้นก็ทำเรื่องขอพำนักถาวรและขอสัญชาติต่อไปได้

ด้านนายจอห์นสันบอกว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้เป็นการผิดสัญญาระหว่างจีนและสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1985 "อย่างชัดเจนและร้ายแรง" โดยสัญญาดังกล่าวระบุว่าจะปกป้องเสรีภาพบางประการของชาวฮ่องกงไปอีกอย่างน้อย 50 ปี

ด้านจีนไม่สนใจคำวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติโดยบอกว่าจะไม่ยอมให้ชาติอื่นมาแทรกแซงเรื่องภายในประเทศ

นางแครี แลม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวปกป้องกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นการช่วย "อุดช่องโหว่" เรื่องความมั่นคงของชาติ

ก่อนหน้านี้ ลอร์ด แพตเทน ผู้ว่าการแห่งสหราชอาณาจักรคนสุดท้ายที่บริหารฮ่องกง กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้คือจุดสิ้นสุดของการปกครองฮ่องกงแบบ "หนึ่งประเทศสองระบบ"

ขณะที่นายเยนส์ สโตลเตนแบร์ก เลขาธิการองค์การนาโตระบุว่า "ชัดเจนว่าจีนไม่ได้ยึดหลักการเดียวกับพวกเราในเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ และหลักนิติธรรม"

ขณะที่ญี่ปุ่นเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า "เรื่องน่าสลดใจ" ส่วนไต้หวันได้เตือนพลเมืองของตนถึงความเสี่ยงในการเดินทางไปฮ่องกง

กฎหมายฉบับใหม่ว่าอย่างไรบ้าง

EPA

การแบ่งแยกดินแดน ปลุกปั่น ก่อการร้าย และสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติหรือกองกำลังจากภายนอก ถือเป็นความผิดอาญามีโทษจำคุกอย่างน้อย 3 ปี ไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้กฎหมายระบุอีกว่า

  • การทำลายระบบขนส่งสาธารณะ - ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างการชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว - สามารถถือเป็นการก่อการร้ายได้
  • ทางการจีนจะจัดตั้งหน่วยรักษาความมั่นคงในฮ่องกง โดยมีกองกำลังของตัวเองซึ่งไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของศาลและกฎหมายฮ่องกง
  • การยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังต่อรัฐบาลจีนและรัฐบาลฮ่องกงถือเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 29
  • ตามมาตรา 38 คนที่ไม่ใช่ชาวฮ่องกงสามารถทำผิดกฎหมายนี้ได้ขณะอยู่ต่างประเทศ นั่นหมายความว่าชาวต่างชาติอาจถูกจับกุมเมื่อเดินทางเข้ามาในฮ่องกง
  • การพิจารณาความบางคดีจะดำเนินการโดยปิดลับ
AFP
นางแครี แลม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้กล่าวปกป้องกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นการช่วย "อุดช่องโหว่" เรื่องความมั่นคงของชาติ

เหตุใดคนฮ่องกงจึงหวาดกลัวกฎหมายนี้

รัฐบาลจีนระบุว่า ฮ่องกงควรเคารพและปกป้องสิทธิและเสรีภาพไปพร้อมกับการคุ้มครองความมั่นคงของชาติ แต่หลายคนเกรงว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ฮ่องกงต้องสูญเสียเสรีภาพไป

ก่อนหน้านี้หลายคนแสดงความกังวลว่าความเป็นอิสระของระบบตุลาการของฮ่องกงจะถูกทำลาย และจะเริ่มเป็นเหมือนกับระบบตุลาการของจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยฮ่องกงถือเป็นเขตการปกครองเดียวในจีนที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ หรือกฎหมายจารีตประเพณี

ศาสตราจารย์โจฮันเนส ชาน นักวิชาการด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า "ชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเสรีภาพในการแสดงออกของคนฮ่องกง"

ศาสตราจารย์ชานระบุว่า "นี่คือการที่จีนแผ่นดินใหญ่บังคับใช้กฎหมายของตนกับระบบกฎหมายจารีตประเพณีของฮ่องกง และให้จีนมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจว่าผู้ใดควรเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในระบบกฎหมายใด"

ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายคน เช่น นายโจชัว หว่อง ได้วิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในหลายประเทศ การกระทำเช่นนี้อาจกลายเป็นอาชญากรรมในอนาคต แต่หลายคนยังกังวลว่ากฎหมายนี้อาจมีผลย้อนหลังด้วย

นอกจากนี้ ประชาชนยังมีความกังวลว่า ภัยคุกคามต่อเสรีภาพของฮ่องกงอาจส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจของฮ่องกงในฐานะมหาอำนาจทางด้านธุรกิจและเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง