รีเซต

คนดีต้องมีที่ยืน โลกต้องดีกว่า : เปิดเรื่องราว "ครูบานักกู้ภัย" กับมุมมองการทุจริตเงินทอนวัด

คนดีต้องมีที่ยืน โลกต้องดีกว่า : เปิดเรื่องราว "ครูบานักกู้ภัย" กับมุมมองการทุจริตเงินทอนวัด
TNN ช่อง16
23 มิถุนายน 2566 ( 11:53 )
79

TNN พามารู้จักกับ “พระครูบาปรีชาภิวัฒน์” หรือหลวงพี่เดี่ยว เจ้าอาวาสนักกู้ภัยใน พื้นที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ 


แม้หลายท่านจะมองว่า “งานกู้ภัย” ไม่ใช่กิจของสงฆ์!!  แต่ท่านก็มุ่งมั่นทำภารกิจกู้ภัยคอยช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุและเหตุร้ายในทุกเวลาที่ว่างเว้นจากกิจของสงฆ์ ถือว่าเป็นแสงสว่างแห่งความเมตตาในนาม  “กู้ภัยพร้าววังหิน”





จุดเริ่มต้น “ครูบานักกู้ภัย” ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ “ไม่ใช่กิจของสงฆ์”






“เหตุการณ์วัดทุ่งหลวงมันเป็นทางสายหลักของอำเภอพร้าวเข้าสู่ตัวเชียงใหม่ อุบัติเหตุมีเยอะมาก แล้วมาเห็นตรงหน้าวัดเวลาผู้ได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านก็ไม่กล้าที่จะช่วยเอาขึ้นรถไปส่งโรงพยาบาล กลัวคนตายในรถของเขา เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านเมื่อก่อนยังไม่รู้ว่าพระสงฆ์สามารถทำหน้าที่อะไรได้บ้าง ส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านเห็นก็คือบิณฑบาต กวาดลานวัด ทำวัด สวดมนต์ แล้วก็กิจนิมนต์สงเคราะห์ศรัทธาประชาชน แต่ในงานกู้ชีพกู้ภัยยังไม่เคยมีพระที่มาทำงานเกี่ยวกับงานกู้ชีพกู้ภัย


สองสามปีแรกนี้ก็การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ก็มีเยอะอยู่ ทุกวันนี้ทุกองค์กรและหน่วยงานทั้งชาวบ้านประชาชน ทั้งหน่วยงานร้อยเวร ทางหลวงก็ดี อะไรต่างๆ พูดแค่ว่าถ้าไม่มีกู้ภัยเราจะทำยังไง” พระครูบาปรีชาภิวัฒน์ กล่าว



ก่อนหน้านี้ เริ่มต้นมีพระ 5 รูปแล้วก็ฆราวาส 17 คน วันที่เริ่มก่อตั้งมีเชือกหนึ่งม้วน ขวานหนึ่งเล่ม ถังดับเพลิงสองถังมีเรือยนตร์หาปลาของชาวบ้านหนึ่งลำ รถยนต์ยังไม่มีตอนนั้น คือมารวมกันจากศูนย์ ต่างคนต่างเอาของอะไรที่มีพอที่จะเป็นอุปกรณ์กู้ภัยก็เอามารวมกัน




ร.ต.ท. นคร ปัญญาทิพย์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพร้าว จ.เชียงใหม่ เล่าว่า “มีศาลาที่ตามงานศพเค้ามี เค้ายกมาให้อันนึง ก็เอาเป็นศูนย์แล้วก็มีห้องทำงานเล็กๆ อยู่ที่หน้าวัด ก็มีรถปิกอัพก็ไปช่วยอะไรไปอะไรกัน ตอนหลังก็ได้รับอนุเคราะห์จากหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้ ให้รถเก่าๆ มาแล้วก็มาซ่อมเพื่อไปช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้าน คือกู้ภัยพร้าววังหินเราไม่มีค่าใช้จ่ายในการบริการ ฟรีหมดเลย บางทีดูแล้วเป็นคนยากจน เราตามไปดูถึงบ้านความเป็นอยู่ บางทีท่านพระครูก็มีข้าวสารอาหารแห้งไปเยี่ยม ไปดูแล อันนี้คือเราทำมาตลอด


ร.ต.ท. นคร ปัญญาทิพย์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพร้าว จ.เชียงใหม่ 

 


“ออกเหตุถ้าไม่ติดกิจทางสงฆ์ ถ้าว่างก็ออกเหตุด้วย คือมีหน้าที่ลงบันทึกรายการการออกจากศูนย์กู้ภัยได้รับแจ้งเวลาเท่าไหร่ ออกเวลาเท่าไหร่ ถึงที่เกิดเหตุเลขไมล์เท่าไหร่ ออกที่เกิดเหตุถึงโรงพยาบาลเวลาไหน เลขไมล์ต้องจดทุกอย่าง แล้วก็เก็บรายละเอียดผู้ได้รับบาดเจ็บ ถ้าได้คือมีบัตรอะไรต่างๆ ก็เอารายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บเพื่อแจ้งฝ่ายทะเบียนของโรงพยาบาลทำบัตรผู้ป่วยในการรักษา”  พระครูบาปรีชาภิวัฒน์ กล่าว




วัชรา หมั้นหยา อาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย พร้าววังหิน ระบุว่า “ ก็เห็นแบบพระอาจารย์นี่แหละครับไปออกเหตุก็รู้สึกแปลกดี ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน คือตอนแรกก็เห็นแบบโอ้โหก็ตกใจอยู่ ทำไมมีพระมาออกเหตุอะไรอย่างนี้ด้วย ก็รู้สึกดีนะครับ ก็มีความมั่นใจแล้วก็อุ่นใจระดับหนึ่งที่ในการออกเหตุมีพระอาจารย์ไปออกด้วยอะไรอย่างนี้ คือแบบบางทีขับรถเร็วหรือว่าอะไรยังไงสถานการณ์ที่เกิดเหตุ บางทีตัดสินใจไม่ได้ก็มีพระอาจารย์คอยซัพพอร์ตอยู่ด้านหลัง แบบคอยเตือนอะไรต่างๆ 

เหล่านี้ครับ”



วราภรณ์ อิสระไพโรจน์ ชาวบ้านพร้าววังหิน ระบุว่า “ดึกดื่นเวลาไหนหรือไฟดับ อย่างน้อยพอเห็นกู้ภัยต้องเห็นชุดสีส้มมาแล้ว ต้องเป็นพระแล้ว เราก็รู้ว่าต้องเป็นท่าน เพราะมันไม่มีท่านอื่นแล้วมีอยู่ท่านเดียว ก็ถือว่าเป็นความรู้สึกที่ดี ก็ไม่ได้ว่าเป็นนอกเหนือจากกิจสงฆ์ ก็เหมือนท่านก็มาโปรดเรา มาช่วย หลายๆ คนเห็นว่าพระเดี่ยวมาแล้ว ก็รู้สึกว่าอีกสักพักทุกอย่างมันคงจะดีขึ้น จากเหตุร้ายๆ เหมือนกระทั่งแบบมีรถชนกันหน้าร้านอะไรอย่างนี้ พอท่านมาแล้วแป๊บเดียว เดี๋ยวอันนั้นมาช่วยละ ไฟฟ้าหรืออะไรอย่างนี้เค้าก็จะมาช่วย หรือหลายๆ อย่าง ท่านสามารถเรียกหลายๆ หน่วยงานให้มาช่วยได้”


ร.ต.ท. นคร ปัญญาทิพย์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพร้าว จ.เชียงใหม่ เล่าว่า “ท่านพระครู ท่านเป็นพระที่ทุ่มเททางด้านนี้ ท่านเป็นผู้เสียสละ พูดจริงทำจริง แล้วท่านก็เป็นคนค่อนข้างจะไม่เห็นผลประโยชน์ตอบแทน ท่านพระครูบอกว่าทำบ้านให้คนทุกข์ไหม ท่านบอกทำเลย คือเข้าใจกัน คนทุกข์ก็คือไม่มีใครจะช่วย เราก็สามารถเอางบส่วนไหนที่มันมีอยู่ ก็เอาส่วนนั้นไปสร้าง


เราก็ประกาศนะ จะสร้างบ้านคนนั้นคนนี้ ถ่ายรูปให้เห็นว่ามันทุกข์จริงๆ มันไม่มีใครดูแล พอไปสร้างแผนที่เราตั้งงบประมาณสัก 100,000 นึง คนนั้นมาช่วย คนนั้นมารับตรงนั้นตรงนี้ คนนั้นเป็นเจ้าภาพ เค้าเห็นเราก็อยากจะร่วมสร้างบ้านด้วยหลายหลังเลย ตั้งแต่กู้ภัยมาก็หลาย 10 หลังแล้วนะ มันเกิดความภาคภูมิใจอย่างน้อยชีวิตเขามีค่าขึ้นมา นี่คือสิ่งที่เราทำให้ อันไหนที่มันทำแล้วชาวบ้านได้ประโยชน์สูงสุด มีความสุข เราก็ทำหมด”



“ไม่ย่อท้อ เพราะเราถือว่าเราคิดตัดสินใจถูกแล้วที่ว่ามาทำความดีในด้านนี้ แล้วนำศรัทธาประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนทั้งหลาย จากที่ว่างจากการเรียนช่วงปิดเทอมหรือเรียนจบแล้วไม่มีงานอะไรทำ มาช่วยงานกู้ชีพกู้ภัย เราก็สามารถปลูกฝังคุณธรรมจิตอาสา แล้วก็การช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน 

ถึงแม้จะไม่ใช่ญาติเราก็ช่วยเหลือเสมือนญาติของเรา” 

พระครูบาปรีชาภิวัฒน์ กล่าว


วัชรา หมั้นหยา อาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย พร้าววังหิน ระบุว่า “จากเด็กที่ไม่ค่อยสนใจอะไรเท่าไหร่ แต่พอเข้ามาอยู่ในส่วนของศูนย์กู้ภัย เรามีพระอาจารย์อบรมสั่งสอนก็เลยมีเรื่องของระเบียบวินัย เรื่องของการปฏิบัติตนเอง เป็นเรื่องของการมีน้ำใจให้กับผู้อื่น การเป็นผู้ให้ในการช่วยเหลือผู้อื่นแบบมีเยอะมาก”






งบประมาณบริหารก็คือ “ศรัทธาจากประชาชน”


พระครูบาปรีชาภิวัฒน์ เล่าว่า “งบประมาณบริหารก็คือจากศรัทธาชาวบ้านร่วมกันทำบุญบริจาคตั้งตู้บริจาคที่กู้ภัยและเวลาจะจัดหาอุปกรณ์อะไรต่างๆ ก็คือการจัดรับสายธารศรัทธาจากชาวบ้านร่วมกันบริจาคเป็นครั้งๆ ไป ว่าช่วงนี้อุปกรณ์ไหนที่เราต้องการ อย่างรถตู้ที่ได้รับบริจาคจากสาธารณสุขจังหวัดมา เราก็เอามาตั้งว่าไฟรอบคันนี้เท่าไหร่ ทุกอย่างในรถนี้เราจะตีเป็นราคามา แล้วใครจะรับเป็นเจ้าภาพ ก็เซตกันไปแบบนี้




การตรวจสอบงบประมาณต่างๆ คืออาตมาจะบริหารงาน คือมีบัญชีดูแลควบคุมทุกอย่างทั้งของวัดและของกู้ภัยจะแยกกันเลย จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงิน ของส่วนกู้ภัยก็มีคณะกรรมการกู้ภัยดูแล ของวัดก็มีไวยาวัจกรและคณะกรรมการดูแล รับรู้รับทราบทุกอย่างแล้ว งานกู้ภัยบัญชีรายรับรายจ่ายก็จะวางบนหลังตู้รับบริจาคตรงหน้าศูนย์กู้ภัยลูกค้าสามารถเปิดดูได้ว่าเดือนนี้บริจาคเท่าไหร่ ยังไง”



“ทุจริตเงินทอนวัด” แค่เศษเสี้ยวหนึ่งด้านลบของคณะสงฆ์


“เรื่องของคณะสงฆ์ ในด้านลบ 

เราไม่ได้เอามาเป็นสาระที่จะมาตัดกำลังใจของเรา”


พูดถึงว่าข่าวในส่วนเกี่ยวกับเรื่องของคณะสงฆ์ ในด้านลบทั้งหลายเราไม่ได้เอามาเป็นสาระที่จะมาตัดกำลังใจของเรา เพราะว่าเราอยู่ในส่วนงานสาธารณะสงเคราะห์ พระสงฆ์ที่ทำงานทั่วประเทศมีเยอะมาก ที่มีเรื่องต่างๆ เป็นส่วนน้อยของคณะสงฆ์ เศษเสี้ยวหนึ่งแค่นั้นเอง แต่มันออกข่าวทุกช่องทุกสื่อ มันก็เลยเป็นเรื่องประเด็นดัง 


จริงๆ แล้วที่พระสงฆ์ทำงานด้านคณะสงเคราะห์มีเยอะมาก ถ้ารูปภาพของคณะสงฆ์ทั้งประเทศไทยหรือคณะสงฆ์ทั่วโลกในด้านการทำความดี แถวบ้านเห็นแล้วเกิดความปิติอิ่มใจ ในการที่จะมีใจมาทำนุบำรุงพุทธศาสนา พุทธศาสนาเราก็จะเจริญเติบโตยิ่งกว่านี้


การที่มีหน่วยงานอย่าง ป.ป.ช. เข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตาหรือเข้ามาช่วยตรวจสอบ มันช่วยให้เหตุการณ์เหล่านี้บรรเทาขึ้นไหม?


มีคณะกรรมการฝ่ายตรวจสอบนี้มันก็ดีนะ เพราะว่าเป็นเกราะป้องกันให้ทางพระ ให้ทางพุทธศาสนา อย่างชาวพุทธเราเกราะป้องกันศีลห้า เป็นเกราะป้องกันของชาวพุทธได้ดีที่สุด


การทำความดี เราต้องมีใจที่เข้มแข็งอดทน แล้วก็มุ่งมั่นตั้งใจในสิ่งที่เราจะทำ ฉะนั้นมันก็สร้างพลังให้กับตัวเรา แต่บางครั้งบางทีการทำงานมันทำกับคนหมู่มากยังไงมันก็ต้องมีอุปสรรคอยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็ต้องมีอุดมการณ์แนวคิดของเราเป็นหลัก ว่าเราตั้งใจมาสร้างคุณประโยชน์ มาทำความดี มาสงเคราะห์ศรัทธาประชาชนเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการช่วยเหลือ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งแล้วก็เอาใจเค้ามาใส่ใจเรา มันถึงจะมีพลังที่จะทำ 




“หากได้ยินคำติฉินนินทามา 

ถ้าเป็นจริง เราต้องปรับปรุงตัว 

แต่ถ้าไม่จริง เราทำดีอยู่แล้ว ก็ถือว่า ไม่ต้องเก็บมาใส่ใจ 

ทำดีแล้ว ต้องได้ดี” 




“ถ้าได้ยินคำที่เขาพูดติฉินนินทามา หรือดรามาอะไรต่างๆ มา  เราได้ยินมาแล้วเราก็เอามาคิดว่ามันเป็นจริงตามที่เขาว่าไหม ถ้าเป็นจริง เราปรับปรุงตัวได้เราก็ปรับปรุง แต่ถ้าไม่เป็นจริง เราทำดีอยู่แล้ว เขาว่าโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ เราก็ถือว่าไม่ต้องเก็บมาใส่ใจ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้นั้นเราตั้งใจทำดีแล้ว ทำดีแล้วต้องได้ดี”


การมีกู้ภัยพร้าววังหิน ทำให้การช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่และใกล้เคียงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ลดอัตราการสูญเสียจากอุบัติเหตุ และยกระดับความปลอดภัยให้กับพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ด้วยการบริหารงานด้วยความโปร่งใสของพระครูปรีชาภิวัฒน์ ทำให้กู้ภัยพร้าววังหิน ยังเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจ และพื้นที่แห่งความดีที่เกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้ 


และนี่คือพระครูปรีชาภิวัฒน์ พระนักกู้ภัย คนดีต้องมีที่ยืน โลกต้องดีกว่า



ภาพ : TNNOnline  






ข่าวที่เกี่ยวข้อง