การศึกษาใหม่ชี้ 20 ปีที่ผ่านมา ประชากรอินเดียถูกงูกัดตายมากกว่า 1 ล้านราย
การศึกษาใหม่ชี้ - บีบีซี รายงานวันที่ 8 ก.ค. ถึงการศึกษาใหม่ที่พบว่า ประชาชนราว 1.2 ล้านรายที่อินเดียเสียชีวิตเพราะถูกงูกัดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2543-2562 เกือบครึ่งหนึ่งของคนตายมีอายุระหว่าง 30-69 ปี และหนึ่งในสี่ของยอดดังกล่าวเป็นเด็ก
การเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากงูแมวเซาอินเดีย (งูพิษรัสเซลล์) งูทับทาง และงูเห่า ส่วนการเสียชีวิตที่เหลือมาจากงูอื่นๆ อีกอย่างน้อย 12 สายพันธุ์ นอกจากนี้ คนตายจำนวนมากถูกงูกัดและตายทันที เนื่องจากเกิดขึ้นในพื้นที่ปราศจากการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว
ครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในฤดูมรสุมระหว่างเดือนมิถุนายนและกันยายน เป็นที่รู้กันว่างูจะชุกชุม และคนตายส่วนมากถูกงูกัดเข้าที่ขา
การศึกษาดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในนิตยสารอีไลฟ์ (eLife) โดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั้งจากอินเดียและนานาชาติ ด้วยฐานข้อมูลจาก Million Death Study ซึ่งเป็นการศึกษาการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในโลก
งูแมวเซาอินเดียซึ่งเป็นงูดุร้ายกระจัดกระจายทั่วอินเดียและเอเชียใต้ กินหนูเป็นอาหาร และมักถูกพบอยู่ใกล้ถิ่นฐานของมนุษย์ทั้งในเมืองและชนบท
ขณะที่งูทับทางปกติมักเป็นสัตว์เชื่องช่วงกลางวัน แต่กลายเป็นสัตว์ดุร้ายช่วงกลางคืน ความยาวของลำตัวมันสูงสุดถึง 1.75 เมตร
ส่วนงูเห่าปกติโจมตีหลังตกดึกและเมื่อฉกเหยื่อจะทำให้เลือดออกภายในซึ่งต้องพบแพทย์ทันที
การศึกษายังพบว่า ระหว่างปี 2544-2557 ร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตเพราะถูกงูกัดเกิดขึ้นใน 8 รัฐ คือ รัฐพิหาร รัฐฌารขัณฑ์ รัฐมัธยประเทศ รัฐโอริสสา รัฐอุตตรประเทศ รัฐอานธรประเทศ รัฐราชสถาน และรัฐคุชราต
การศึกษาระบุอีกว่า ความเสี่ยงโดยเฉลี่ยของการเสียชีวิตเพราะถูกงูกัดก่อนอายุ 70 ปี อยู่ที่ 1 ต่อ 250 แต่ในบางพื้นที่ ความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มเป็น 1 ต่อ 100
นักวิจัยระบุว่า ชุมชนเกษตรกรรมที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะถูกงูกัดช่วงฤดูมรสุม พร้อมเสนอควรให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเบื้องต้นเพื่อป้องกันอันตรายจากงู ทั้งการเก็บเกี่ยวพืช การสวมรองเท้าบูตยางและถุงมือ และการใช้ไฟฉาย เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกงูกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
งูพิษจ้องฉกหว่างขา หนุ่มกำลังขับรถ100กม./ชม. มือจับพวงมาลัย อีกข้างถือมีดสู้
จงอางฉกสองครั้ง หมองูยังโชว์ต่อจนตาย ครอบครัวคนตายตัดหัวงูทิ้ง