รีเซต

'บิ๊กป้อม' ห่วงปชช. ย้ำทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หนุนใช้พลังงานสะอาด

'บิ๊กป้อม' ห่วงปชช. ย้ำทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หนุนใช้พลังงานสะอาด
มติชน
17 ธันวาคม 2564 ( 12:06 )
36
'บิ๊กป้อม' ห่วงปชช. ย้ำทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หนุนใช้พลังงานสะอาด

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 5/2564 โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธาน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

 

ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณารายงาน EIA จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน แก้ไขปัญหาการจราจร จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ – ศาลายา ของกรมทางหลวงชนบท (2) โครงการทางหลวงพิเศษส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน ของ กรมทางหลวง (3) โครงการทางเลี่ยงเมืองอำนาจเจริญ (ด้านทิศตะวันตก) ของกรมทางหลวง (4) โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 (สายเหนือและสายใต้) เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ (5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

 


 

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัย ได้แก่ โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จังหวัดนครราชสีมา (สูงเนิน) ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเจ้าของโครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเกี่ยวกับการขอขยายระยะเวลาการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ออกไปอีก 2 ปี การปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการยื่นรายงานฯ ทางอิเล็กทรอนิกส์ และการกำหนดมาตรฐานค่าความทึบแสงของเขม่าควันจากปล่องเตาเผาศพ ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้พิจารณานโยบายเพื่อรักษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ (1) รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564 (2) แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และ (3) แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 ภายใต้แนวคิด “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน และ 3 เผชิญเหตุ” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัด และเน้นย้ำการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดและปริมาณฝุ่นละอองไม่ให้สูงเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า และให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองบรรจุในแผน ปภ.จังหวัดรวมถึงขยายผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยการเก็บขน (ชิงเก็บ ลดเผา) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน พื้นที่ริมทาง และประยุกต์ใช้แอพพลิเคชันลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิง

 


 

รวมทั้งเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และป้องกันไฟป่าภายใต้ ศอญ. จิตอาสาพระราชทาน สร้างเครือข่ายและอาสาสมัคร เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก อาทิ การใช้รถจักรยาน และ การใช้รถไฟฟ้า แทนการเดินทางโดยรถยนต์ เพื่อลดปัญหา PM 2.5 รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรมในเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าธรรมชาติ และกำหนดตัวชี้วัดร่วมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อตกลงอาเชียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนและขยายหมู่บ้านคู่ขนานชายแดน ภายใต้กรอบคณะกรรมการชายแดน

 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง