รีเซต

มาเลเซียสุดงง “ติดสายพันธุ์เดลตา” ยกครัว ทั้งที่กักตัวนาน 3 เดือน!

มาเลเซียสุดงง “ติดสายพันธุ์เดลตา” ยกครัว ทั้งที่กักตัวนาน 3 เดือน!
ข่าวสด
15 กรกฎาคม 2564 ( 21:10 )
39
มาเลเซียสุดงง “ติดสายพันธุ์เดลตา” ยกครัว ทั้งที่กักตัวนาน 3 เดือน!

 

มาเลเซียสุดงง “ติดสายพันธุ์เดลตา” - วันที่ 15 ก.ค. สเตรตส์ไทมส์ รายงานกระแสหวาดวิตกการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (จากอินเดีย) ใน ประเทศมาเลเซีย หลังพบว่าสมาชิก 4 คนของครอบครัวในเมืองสุบังจายา รัฐสลังงอร์ ติดไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาทั้งที่แยกกักตัวในบ้านพักตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

 

 

ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียแถลงพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มอีก 13,215 คน ถือเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดของประเทศ เพียง 1 วันหลังเพิ่งตื่นตระหนกกับสถิติผู้ป่วยใหม่สูงสุด 11,618คนเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ส่งผลให้ยอดติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นอย่างน้อย 867,567 คน และเสียชีวิตแล้ว 6,503 ราย

 

 

นางนอริอาห์ บาการ์ อายุ 36 ปี เปิดเผยว่าตน สามี และลูกชายอีก 2 คนเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อสัปดาห์ก่อน และผลออกมาเป็นบวกทั้งหมด

 

 

“เรางงมากๆ เพราะตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. สามีของฉันออกไปนอกบ้านแค่ครั้งเดียวเพื่อรับเอกสารเกี่ยวกับงาน ส่วนฉันออกจากบ้าน 2 ครั้งเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนเพื่อฉีดวัคซีนและซื้อขนมปัง” นางบาการ์กล่าว และว่าครอบครัวของตนพึ่งพาบริการซื้อของและชำระเงินออนไลน์มาตลอด 3 เดือน และไม่รู้จริงๆ ว่าติดเชื้อมาจากใครหรือที่ไหนและเมื่อไหร่

 

 

ด้าน ตันสรี นายแพทย์นูร์ ฮิชาม อับดุลเลาะห์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย แถลงเตือนว่าผู้ป่วยใหม่อาจเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูงจำนวนมากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

 

 

ศ.นพ.อวัง บุลกิบา อวัง มาห์มุด ประธานคณะทำงานด้านการวิเคราะห์และกลยุทธ์วระบาดวิทยาของรัฐบาล ระบุว่ามีแนวโน้มที่ไวรัสเดลตา (B.1.617.2) จะมาแทนที่โควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วโลก และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ทุกฝ่ายเกิดความกังวลอย่างมาก

 

 

ศ.นพ.บุลกิบากล่าวอีกว่าการแพร่ระบาดในชุมชน การกระจายของเชื้อเนื่องจากระบบการระบายอากาศไม่ดี และการระบาดในพื้นที่ซึ่งไม่มีมาตรฐานด้านสาธารณสุข ต่างเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยในประเทศเพิ่มขึ้น จนถึงตอนนี้มาเลเซียมีผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์เฝ้าระวัง 273 คน ในจำนวนนี้ 67 คนติดเชื้อเดลตา

 

 

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของมาเลเซียเสนอแนะแนวทางว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มการฉีดวัคซีน รวมทั้งลดช่วงเวลาระหว่างโดส สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ต้องรอ 9 สัปดาห์สำหรับโดสสอง เป็นรอแค่ 4 สัปดาห์แทน เนื่องจากวัคซีนของทั้งไฟเซอร์-บิออนเทค และอสตร้าเซเนก้า จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาและเบตา (แอฟริกใต้) หลังได้รับวัคซีนครบสองโดส

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง