แบงก์ปลอม ระบาด! แนะ 3 จุดสังเกต "สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง"
ตำรวจสอบสวนกลาง - ธปท. แนะ 3 จุดสังเกต "แบงก์ปลอม" ด้วยวิธี สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง เช็กรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยที่นี่
วันนี้( 12 ธ.ค.65) ตำรวจสอบสวนกลาง โพสต์เฟซบุ๊ก แนะนำวิธีสังเกต และตรวจสอบธนบัตรปลอมง่ายๆ ตามขั้นตอนนี้
1.สัมผัส : โดยกระดาษธนบัตรของจริงจะมีความทนทาน ไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับจะต่างจากกระดาษทั่วไป และลายพิมพ์เส้นนูน จะคมชัด และคำว่า “รัฐบาลไทย” เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วจะสะดุด
2.ยกส่อง : ธนบัตรของจริงจะมีลายน้ำที่ชัดเจน มีตัวเลขชนิดราคา รูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษ ลวดลายด้านหน้าและด้านหลังจะซ้อนทับสนิทกัน
3.พลิกเอียง : ธนบัตรจริงจะมีตัวเลขแฝงตามชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ และตรงลายดอกประดิษฐ์ เมื่อพลิกธนบัตรจะพบประกายมีตัวเลขซ่อนอยู่ แถบสีต่างๆเมื่อพลิกเอียงสีจะเปลี่ยน และมีตัวเลขซ่อนอยู่ รวมถึงแถบฟลอยด์ 3 มิติ และลักษณะพิเศษใต้รังสีเหนือม่วง
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอเตือนว่าการทำปลอมธนบัตรขึ้นมา และการสั่งซื้อมาใช้ ผู้ผลิตเสนอจำหน่ายจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท หากพบเบาะแสการจำหน่าย หรือผลิตธนบัตรปลอม สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ อินบ็อกซ์เพจตำรวจสอบสวนกลาง หรือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
ธปท.ชี้แจงกรณีข่าวการโพสต์ขายธนบัตรปลอมบนเพจออนไลน์
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ตามที่มีกระแสข่าวการโพสต์ขายธนบัตรปลอมบนสื่อออนไลน์ในวันที่ 9 ธันวาคม 2565 นั้น ธปท. รับทราบและติดตามประเด็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ประสานกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเร่งสั่งการให้มีการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อปราบปรามและระงับเหตุแล้ว ในเบื้องต้น ธปท. ขอชี้แจงว่า
1. ผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายธนบัตรปลอม หรือการเปิดเพจขายธนบัตรปลอมจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา โดยผู้ทำธนบัตรปลอมต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท ส่วนผู้ที่ใช้โดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
2. เพจลักษณะดังกล่าว มักเป็นช่องทางของมิจฉาชีพในการหลอกลวงให้โอนเงิน ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เพจในข่าวเป็นเพจหลอกลวงผู้ซื้อให้โอนเงิน โดยไม่ได้ขายธนบัตรปลอมจริง และบัญชีธนาคารที่เพจใช้ให้ลูกค้าโอนเงิน เป็นบัญชีที่ถูกร้องเรียนว่าใช้ในการหลอกลวง ประชาชนควรระมัดระวังเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปควรเพิ่มความระมัดระวัง และตรวจสอบธนบัตรก่อนรับ โดยหากธนบัตรจริงจะสามารถสังเกตเห็นลวดลายบนธนบัตรเคลื่อนไหวได้
และหากยกส่องดูจะเห็นลายน้ำและแถบสีที่เป็นเส้นตรง (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/Pages/identify.aspx)
ที่มา ตำรวจสอบสวนกลาง / ธปท.
ภาพจาก TNN Online / AFP