ประท้วง-จลาจลในสหรัฐฯ ประกาศเคอร์ฟิวเกือบ 40 เมือง รับมือ กรณีตำรวจจับกุมชายผิวดำรุนแรงจนเสียชีวิต
การประท้วง-ก่อจลาจล ในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ ดำเนินต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 แล้ว จากกรณีนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่เสียชีวิตจากการจับกุมด้วยความรุนแรงโดยตำรวจผิวขาว
มีการประกาศเคอร์ฟิวในเมืองเกือบ 40 เมืองทั่วสหรัฐฯ แต่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ไม่สนใจ นำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่
ตำรวจปราบจลาจลปะทะกับผู้ประท้วงในนิวยอร์ก, ชิคาโก, ฟิลาเดลเฟีย และลอสแองเจลิส มีการใช้แก๊สน้ำตา และสเปรย์พริกไทย เพื่อสลายฝูงชน
ในหลายเมือง รถตำรวจถูกจุดไฟเผา และร้านรวงถูกปล้น
กองกำลังพิทักษ์ชาติ ซึ่งเป็นกองกำลังทหารของสหรัฐฯ เพื่อสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ ส่งเจ้าหน้าที่ 5,000 นาย ไปยัง 15 รัฐทั่วประเทศ รวมถึงกรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งมีกลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวกันใกล้ทำเนียบขาว และจุดไฟพร้อมกับปาหินใส่ตำรวจปราบจลาจล
- ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยร่วมเรียกร้องความยุติธรรมให้ชาวอเมริกันผิวดำ
- ทวิตเตอร์ซ่อนและขึ้นป้ายเตือนข้อความของโดนัลด์ ทรัมป์
- ศาลสหรัฐฯ ตัดสินประหารมือปืนเหยียดผิว
- ทั่วสหรัฐฯเดินขบวนเรียกร้องทรัมป์เผยข้อมูลภาษี
สถานการณ์ประท้วง
เมื่อวานนี้ (31 พ.ค.) มีเหตุทำลายและจุดไฟเผารถตำรวจเกิดขึ้นหลายที่ ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ช่องโทรทัศน์ท้องถิ่นฉายภาพผู้คนเข้าทำลายรถตำรวจ และเข้าปล้นร้านค้าอย่างน้อยหนึ่งแห่ง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความว่ามีประชาชนปล้นร้านรวงที่ฟิลาเดลเฟีย และบอกว่าให้ "เรียกกองกำลังพิทักษ์ชาติที่ยิ่งใหญ่ของเรามาช่วย"
ที่เมืองมินนีแอโปลิส ซึ่งเป็นที่ที่นายฟลอยด์เสียชีวิต คนขับรถบรรทุกคนหนึ่งถูกจับกุมตัวหลังมีรายงานว่าขับรถฝ่าแนวกั้นถนนและพุ่งเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม
วิดีโอบันทึกเหตุการณ์ที่โพสต์ในโซเชียลมีเดียแสดงภาพคนหลายสิบคนยืนล้อมรถคันนั้นและะดึงตัวคนขับออกมา ก่อนที่คนขับจะถูกนำตัวส่งโรงพบาบาลพร้อมอาการบาดเจ็บเล็กน้อย
ที่เมืองเดนเวอร์ มีผู้ประท้วงหลายพันคนชุมนุมอย่างสันติบริเวณตึกโคโลราโด สเตท แคปิทอล โดยนอนคว่ำลงกับพื้น เอามือไพล่หลัง และพูดว่า "ฉันหายใจไม่ออก"
ที่แอตแลนตา บอสตัน ไมอามี และโอคลาโฮมา ก็มีการประท้วงชุมนุมขนาดใหญ่เช่นกัน
ตั้งแต่การประท้วงเริ่มขึ้น มีรายงานว่าตำรวจใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็นหลายกรณี อย่างที่แอตแลนตา ในรัฐจอร์เจีย เจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายถูกไล่ออกเพราะใช้ความรุนแรงเกิดเหตุ โดยใช้ปืนไฟฟ้ายิงนักศึกษามหาวิทยาลัยสองคน
แอนโธนี เซอร์เคอร์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาคอเมริกาเหนือของบีบีซี บอกว่า สามปีที่ผ่านมา วิกฤตที่ ปธน.ทรัมป์ เผชิญล้วนเป็นเรื่องเขาก่อขึ้นเองมาตลอด ต่างจากคราวนี้ เศรษฐกิจที่แย่จากวิกฤตโควิด-19 อยู่แล้ว มาผนวกกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดจากความขัดแย้งในประเด็นเชื้อชาติ
"สาธารณชนทั้งรู้สึกไม่มั่นใจ กลัว และก็โกรธเคืองขึ้นเรื่อย ๆ" เซอร์เคอร์ ระบุ และบอกอีกว่าการเรียกร้องให้คนในชาติปรองดองและเยียวยากันและกันของ ปธน.ทรัมป์ ถูกเบี่ยงเบนความสนใจด้วยเรื่องที่เขาไปปะทะกับทวิตเตอร์ บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่
กระบวนการทางกฎหมาย
ขณะนี้ นายเชาวินถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่ได้เจตนา ซึ่งนายเบนจามิน ครัมป์ ทนายความของครอบครัวนายฟรอยด์บอกว่า เป็นผลรับที่น่ายินดีแต่ก็ควรจะเกิดขึ้นตั้งนานแล้ว ด้านครอบครัวของนายฟลอยด์บอกว่าต้องการให้นายเชาวินถูกตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและมีการวางเเผนไตร่ตรองไว้ก่อน และต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกสามคนที่เกี่ยวข้องถูกจับกุมตัวด้ว
นายเชาวิน มีกำหนดขึ้นศาลวันนี้ (1 มิ.ย.)
ตำรวจทำอะไรจอร์จ ฟลอยด์
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเมืองมินนีแอโปลิส ช่วงเย็นวันจันทร์ โดยตำรวจได้รับแจ้งว่า มีลูกค้าคนหนึ่งพยายามใช้ธนบัตร 20 ดอลลาร์ปลอมในร้านค้า
แถลงการณ์ของตำรวจระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ติดตามตัวจนพบชายผู้ต้องสงสัย ซึ่งภายหลังทราบชื่อว่า จอร์จ ฟลอยด์ โดยเขาอยู่ใน "สภาพมึนเมา และนั่งอยู่บนรถสีฟ้า"
จากนั้น ตำรวจสั่งให้นายฟลอยด์ถอยออกมาจากรถ แต่เขาขัดขืน จนตำรวจต้องควบคุมตัวและสวมกุญแจมือ แต่ระหว่างการจับกุมนั้นพบว่า ชายคนดังกล่าวมีอาการผิดปกติขึ้น
แต่ภาพที่ผู้เห็นเหตุการณ์ได้บันทึกเป็นวิดีโอความยาว 10 นาที แสดงให้เห็น นายฟลอยด์ ร้องโอดครวญด้วยความเจ็บปวด และพูดว่า "ผมหายใจไม่ออก" และ "อย่าฆ่าผม" หลายครั้ง ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว ที่ใช้เข่ากดทับลำคอของนายฟลอยด์เข้ากับพื้นถนน
ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์หลายคนพยายามพูดกับเจ้าหน้าที่ว่าให้ยกเข่าออกจากลำคอของนายฟลอยด์ ที่อยู่ในสภาพนอนนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว
ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าว่า "มีเลือดไหลออกจากจมูกของเขา" ส่วนอีกคนบอกตำรวจให้ "ยกเข่าออกจากคอของเขา"
จอร์จ ฟลอยด์ ยังคงแน่นิ่ง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะนำตัวเขาขึ้นรถพยาบาลไป และเสียชีวิตลงในภายหลัง โดยตำรวจเปิดเผยสาเหตุว่า นายฟลอยด์เสียชีวิตจาก "อุบัติเหตุทางการแพทย์" และ "การโต้ตอบกับตำรวจ"
ตำรวจยืนกรานว่า ไม่มีการใช้อาวุธระหว่างการจับกุมที่เกิดขึ้น ส่วนกล้องติดลำตัวของตำรวจ ได้ส่งมอบให้กับสำนักสืบสวนคดีอาญาแห่งรัฐมินนิโซตา (BCA) เพื่อประกอบการสอบสวนว่า ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นได้ละเมิดกฎหมายของรัฐหรือไม่
ขณะที่ สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ แถลงว่าจะสอบสวนเรื่องสลดที่เกิดขึ้นเช่นกัน
นายฟลอยด์ มีอายุ 46 ปี และเคยทำงานด้านรักษาความปลอดภัยให้กับร้านอาหารแห่งหนึ่ง
จับกุมจนตาย…ความปวดร้าวที่หวนคืน
ภาพตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงจับกุมชายผิวดำ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายเอริก การ์เนอร์ ที่เสียชีวิตระหว่างการจับกุมในนครนิวยอร์กเมื่อปี 2014
ภายหลังการเสียชีวิตของนายการ์เนอร์ ประโยคว่า "ผมหายใจไม่ออก" กลายเป็นถ้อยคำที่ผู้ประท้วงใช้ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจในสหรัฐฯ มาจนถึงปัจจุบัน
นายการ์เนอร์ วัย 43 ปี ร้อง "ผมหายใจไม่ออก" ออกมาถึง 11 ครั้ง หลังตำรวจเข้าควบคุมตัวเขาฐานจำหน่ายบุหรี่อย่างผิดกฎหมาย และประโยค "ผมหายใจไม่ออก" ยังกลายเป็นถ้อยคำสุดท้ายของนายการ์เนอร์ ที่เสียชีวิตภายหลังตำรวจล็อกคอของเขา
แพทย์ยืนยันว่า การล็อกคอมีส่วนทำให้นายการ์เนอร์เสียชีวิต ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจนครนิวยอร์กที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมดังกล่าว ได้ถูกให้ออกจากราชการในอีก 5 ปีให้หลัง ในปี 2019 แต่จนถึงตอนนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดถูกตั้งข้อหา