รีเซต

ศปช. เตือนภาคใต้ระวังอันตรายฝนตกหนัก ภาคเหนือเตรียมรับมือไฟป่า-หมอกควัน

ศปช. เตือนภาคใต้ระวังอันตรายฝนตกหนัก ภาคเหนือเตรียมรับมือไฟป่า-หมอกควัน
TNN ช่อง16
2 พฤศจิกายน 2567 ( 11:19 )
22

วันนี้ (2 พ.ย. 67) เวลา 10.30 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า ศปช. เตือนประชาชนพื้นที่ภาคใต้ช่วงวันที่ 2 – 8 พ.ย. 67 ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ใน 11 จังหวัดภาคใต้  ได้แก่ 


-จ.ประจวบคีรีขันธ์ อำเภอทับสะแก บางสะพาน และบางสะพานน้อย 

-จ.ชุมพร อำเภอเมืองชุมพร สวี ทุ่งตะโก หลังสวน และพะโต๊ะ  

-จ.ระนอง อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ  

-จ.สุราษฎร์ธานี อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี กาญจนดิษฐ์ พนม บ้านนาสาร บ้านนาเดิม พุนพิน เคียนซา พระแสง ดอนสัก และเกาะสมุย 

-จ.พังงา อำเภอตะกั่วป่า และกะปง  

-จ.ภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง 

-จ.กระบี่ อำเภอเมืองกระบี่ เหนือคลอง และคลองท่อม  

-จ.ตรัง อำเภอเมืองตรัง ย่านตาขาว ห้วยยอด นาโยง และวังวิเศษ 

-จ.นครศรีธรรมราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ขนอม ทุ่งสง สิชล นบพิตำ ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา เชียรใหญ่ ชะอวด และหัวไทร   

-จ.พัทลุง อำเภอเมืองพัทลุง และควนขนุน 

-จ.สงขลา อำเภอเมืองสงขลา กระแสสินธุ์ ระโนด นาทวี สิงหนคร หาดใหญ่ และรัตภูมิ

 

นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังน้ำในอ่างเก็บน้ำพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำรัชชประภา  และอ่างเก็บน้ำบางลาง นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 7 แห่ง อาทิ  อ่างเก็บน้ำหาดส้มแป้น  อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด  อ่างเก็บน้ำห้วยลึก  อ่างเก็บน้ำคลองหยา  อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ  และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ  รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 1 แห่ง  ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนังที่มีปริมาณน้ำมากกว่าความจุต้องมีการปรับระบายน้ำบางส่วน

 

นายจิรายุ กล่าวต่อว่า  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้เริ่มติดตามสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใน เขตพื้นที่ภาคเหนือ 7 จังหวัด  เพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในปี 2568 แล้ว ซึ่งได้สรุปผลถอดบทเรียนจากการดำเนินงานในครั้งก่อน นำมาเป็นแผนปฏิบัติงานในระดับจังหวัดในปี 2568 รวมถึงใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2569-2573)  แบ่งการบริหารออกเป็น 6 มิติ ประกอบด้วย มิติป่าสงวนฯ , มิติป่าอนุรักษ์ , มิติชุมชนเมือง ระบบขนส่ง อุตสาหกรรม และอื่นๆ , มิติด้านการเกษตร , มิติด้านการบริหารและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ มิติด้านการลดผลกระทบด้านสุขภาพ นำมาเป็นแผนหลักในการปฏิบัติการรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในปี 2568

ข่าวที่เกี่ยวข้อง