ผู้โดยสารแห่คืนตั๋วรถไฟกว่า 3 หมื่นใบ รถไฟฯ สูญรายได้กว่า 13.7 ล้าน
เมื่อวันที่ 20 มกราคม รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุว่า หลังจากที่ ร.ฟ.ท. เปิดให้ผู้โดยสารที่ต้องการงดการเดินทาง และได้สำรองที่นั่งในช่วงการเดินทางระหว่างวันที่ 6-31 มกราคม 2564 สามารถติดต่อขอคืนเงินค่าตั๋วโดยสารเป็นกรณีพิเศษได้เต็มราคาก่อนขบวนรถออกไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ปรากฏว่า ขณะนี้มีผู้โดยสารมาติดต่อขอคืนตั๋วแล้วประมาณกว่า 3 หมื่นใบ คิดเป็นรายได้ที่สูญเสียไปประมาณกว่า 13.7 ล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท. ได้คืนเงินให้กับผู้โดยสารครบทั้งหมดแล้ว
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท. ระบุต่อว่า ร.ฟ.ท.ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินคืนแต่อย่างใด เพราะจำนวนตั๋วที่ซื้อล่วงหน้ามีไม่มากนัก ไม่เหมือนช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดครั้งแรกของโควิด-19 มีผู้โดยสารขอคืนตั๋วพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เงินที่สถานีไม่เพียงพอจ่ายคืนให้
อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีประชาชนเดินทางมาใช้บริการรถไฟที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) รวมถึงสถานีต่างๆ ทั่วประเทศลดน้อยมากมาก โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 2.75 หมื่นคนต่อวัน แบ่งเป็น ขาออก 1.25 หมื่นคน และขาเข้า 1.5 หมื่นคน ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 1.8 หมื่นคนต่อวัน แบ่งเป็น ขาออก 8,400 คน และขาเข้า 9,700 คน
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท. ระบุว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ร.ฟ.ท. ได้ประกาศงดเดินขบวนรถท่องเที่ยวที่ให้บริการเป็นประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จำนวน 12 ขบวน และขบวนรถเชิงพาณิชย์ จำนวน 30 ขบวน จึงทำให้จำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามปกติแล้วก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 7-8 หมื่นคนต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 1 หมื่นกว่าคนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้แม้ผู้โดยสารจะลดลง แต่ ร.ฟ.ท. ยังคงปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดฯ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเว้นระยะห่างที่นั่งโดยสารอย่างน้อย 1 ที่นั่งในขบวนรถไฟต่างๆ แล้ว พบว่า การดำเนินการมีประสิทธิภาพที่ดี เพราะจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการยังน้อย ทำให้ภายในขบวนรถยังว่างและไม่แออัด