รีเซต

คุณหญิงชฎาวอน คชก. อย่าให้โครงการยักษ์ คุกคามสร้างปัญหาให้ชุมชนดั้งเดิม

คุณหญิงชฎาวอน คชก. อย่าให้โครงการยักษ์ คุกคามสร้างปัญหาให้ชุมชนดั้งเดิม
77ข่าวเด็ด
25 พฤษภาคม 2563 ( 13:44 )
86

 

กรุงเทพฯ – คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม นำชาวบ้านย่านเอกมัย-สุขุมวิท 61 ร่วมคัดค้านสร้างคอนโดฯยักษ์ 43 ชั้น ‘Impression Ekkamai’ เหตุ เลี่ยงกฎหมาย ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ชาวชุมชน

 

วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานชมรมชาวบ้านซอยสุขุมวิท 61 นำแถลง กรณีชาวบ้านย่านเอกมัย-สุขุมวิท 61 เป็นกังวล จากโครงการคอนโดมิเนียมขนาดยักษ์ Impression Ekkamaiเนื่องจากโครงการซื้อที่ดินสองแปลงเชื่อมติดกัน ทำให้ที่ดินมีลักษณะยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว จากซอยเอกมัย (ซอยสุขุมวิท 63) ถึงซอยสุขุมวิท 61 ซึ่งเป็นซอยเล็กและตัน ชาวบ้านละแวกนี้กว่าร้อยคนได้รวมตัวกันส่งหนังสือคัดค้านโครงการไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เพื่อพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร กรุงเทพมหานคร (คชก.) แล้วหลายครั้ง

 

ทั้งนี้ ในการประชุม คชก.ครั้งแรก เมื่อ 12 มีนาคม 2563 คชก.ไม่อนุมัติโครงการ โดยระบุเหตุผลต่าง ๆ ถึง 62 ข้อ และระบุให้โครงการกลับมาหารือกับชุมชน เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน แต่โครงการเพียงส่งจดหมายมาถึงชาวบ้านว่าได้ปรับปรุงแบบแล้ว แต่ปรากฎว่ามีการแก้ไขแบบเพียงเล็กน้อย และไม่มีผลแตกต่างจากเดิม โครงการได้ยื่นเสนอ คชก. เป็นครั้งที่ 2 วันที่ 14 พฤษภาคม ในรอบนี้ คชก.เห็นว่าข้อมูลที่โครงการทำมาใหม่ยังไม่ครบถ้วน ให้กลับไปทำมาอีกครั้งหนึ่ง และกำหนดให้นำมาเสนอ คชก.ใหม่ เป็นครั้งที่ 3 วันที่ 28 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งชาวบ้านหวั่นวิตกว่า หากโครงการได้รับอนุมัติจาก คชก. จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนละแวกนี้ในทุกมิติอย่างมหาศาล และอยากเรียกร้องความเป็นธรรมจาก คชก.

 

สำหรับสาเหตุที่ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านโครงการนี้ ประกอบด้วย

 

1.ขนาดและความสูงของโครงการ ที่ออกแบบเป็น 3 อาคารเรียงกัน ในแปลงที่ดินที่มีลักษณะยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว อาคารหน้าสุดติดถนนเอกมัยสูง 25 ชั้น อาคารตรงกลางสูง 43 ชั้น และหลังสุดท้ายติดซอยสุขุมวิท 61 เป็นอาคารจอดรถแบบอัตโนมัติ 16 ชั้น (บนดิน 9 ชั้น ใต้ดิน 7 ชั้น) พื้นที่ใช้สอย รวมมาถึง 40,396 ตารางเมตร โดยอาคารสูง 43 ชั้นนั้น สูงกว่าอาคารใหญ่อื่น ๆ ในละแวกนี้อย่างมาก นอกจากนี้ ยังจะมีการขุดดินที่จอดรถลึก 28 เมตร

 

ซึ่งเยื้องมาอยู่ทางด้านซอย 61 การจะมีตึกระฟ้าผุดขึ้นมาท่ามกลางบ้านเล็ก ๆ ที่สูงเพียง 2-3 ชั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากในด้านสิ่งแวดล้อม แสงแดดที่จะหายไป ความผันผวนและความรุนแรงของลมที่เกิดจากการปะทะของอาคารสูง คุณภาพอากาศที่ย่อมจะเลวลง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และPM 10 รวมถึงมลพิษทางเสียง ย่อมเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ชาวบ้านจึงร้องเรียนขอให้ คชก. ทำหน้าที่และพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน จากโครงการนี้ทั้งในระยะสั้นขณะก่อสร้าง รวมทั้งปัญหามากมายที่จะตามมาในระยะยาว

 

ในทางกฎหมาย การที่ผู้ออกแบบและโครงการ ใช้วิธีแยกคิดพื้นที่อาคารในโครงการออก แต่ละอาคาร เพื่อให้พื้นที่แต่ละอาคารนั้นไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร เพราะหากเกินก็จะไปเข้าเกณฑ์กฎหมาย ที่บังคับให้ต้องมีถนนด้านหน้าอาคาร ที่มีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรทันที ซึ่งซอยเอกมัยกว้างไม่ถึง 18 เมตร วิธีการดังกล่าว เป็นการเลือกตีความของผู้ออกแบบและผู้ประกอบการอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

2.ปัญหาเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะด้านอัคคีภัย 2 อาคารใหญ่ของโครงการ จะต้องมีถนนโดยรอบกว้างประมาณ 6 เมตร ซึ่งรถดับเพลิงสามารถวิ่งรอบได้ในกรณีเกิดเพลิงไหม้ แต่สำหรับอาคารจอดรถกลับออกแบบให้มีระยะถอยร่นจากแนวเขตที่ดินเพียงแค่ 3 เมตรกว่าเท่านั้น และยังใช้เป็นพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ที่รถไม่อาจวิ่งรอบได้อีกด้วย เมื่อชาวบ้านทักท้วงไป ได้รับคำชี้แจงว่า เนื่องจากอาคารจอดรถมีความสูงไม่ถึง 23 เมตร

 

ตามกฎหมายให้เว้นระยะห่าง (SET-BACK) เพียง 3 เมตรเท่านั้น โครงการจึงเลือกจะทำตามขั้นต่ำของกฎหมาย แต่ถ้าเกิดเพลิงไหม้ในบริเวณอาคารจอดรถที่มีชั้นใต้ดินที่ถึง 7 ชั้น รถดับเพลิงจะไม่สามารถวิ่งรอบทั้งโครงการได้ นอกจากนั้น อาคารจอดรถเป็นแบบอัตโนมัติ ทำจากโครงสร้างเหล็กที่มีระบบไฟฟ้าเครื่องกล ย่อมมีความเสี่ยงในด้านอัคคีภัยสูง และในเมื่ออาคารจอดรถดังกล่าง ต้องขุดดินลึก 28 เมตร แต่เว้นระยะห่างจากแนวเขตเพียง 3 เมตร ยังทำให้มีโอกาศที่จะเกิดความเสียหายต่อบ้านข้างเคียงในระหว่างการก่อสร้างเป็นอย่างสูง

 

3.ปัญหาจราจร ซอยเอกมัยและถนนสุขุมวิท ปัจจุบันการจราจรติดขัดอย่างหนักอยู่แล้ว ดังนั้น การเพิ่มปริมาณรถยนต์อีกกว่า 300 คัน จะเพิ่มปัญหาการจราจรที่ติดขัดมากขึ้นแน่นอน และเมื่อเกิดรถติดในซอยเอกมัย ก็จะลามไปยังถนนสุขุมวิท ทองหล่อ เพชรบุรีตัดใหม่ ติดกันเป็นลูกโซ่ต่อไป

 

4.การส่งผลทำลายสังคมและความเป็นชุมชนที่อยู่มาช้านาน ถ้าโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้สร้าง ก็จะมีโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันติดตามมาอีก ส่งผลต่อประชาชนที่เคยอยู่กันอย่างสงบ ไม่เป็นมิตรต่อชุมชนที่อยู่มาดั้งเดิม และเป็นการพัฒนาเมืองแบบไม่ยั่งยืน

 

ชุมชนจึงจะวิงวอนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการให้อนุญาตก่อสร้าง โปรดช่วยพิทักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้สามารถอยู่อาศัยในบ้านของตนเองได้อย่างปลอดภัยและปกติสุข โดยไม่ต้องถูกคุกคามจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับได้ และโปรดอย่าส่งเสริมการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมกับบริบทโดยรอบเป็นอย่างมากเช่นนี้ ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการพัฒนาหรือการขยายตัวของเมือง แต่ควรเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน ชนิดที่ไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตต่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และที่สำคัญควรคำนึงถึงการดำเนินชีวิตของคนส่วนมาก ไม่ใช่สนับสนุนคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้แสวงหากำไรและผลประโยชน์ให้ตนเองมากที่สุด

 

โครงการ Impression Ekkamai เป็นโครงการของ บริษัท เอเอชเจ เอกมัย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ออลล์อินสไปร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับกลุ่มฮูซิเออร์ และบริษัทเจอาร์ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง