รีเซต

ทางหลวงชนบท เปิดใช้ถนนผังเมืองรวมนครพนม หนุนการขนส่ง ท่องเที่ยว เศรษฐกิจชายแดนไทย-ลาว

ทางหลวงชนบท เปิดใช้ถนนผังเมืองรวมนครพนม หนุนการขนส่ง ท่องเที่ยว เศรษฐกิจชายแดนไทย-ลาว
มติชน
23 กุมภาพันธ์ 2564 ( 12:37 )
158
ทางหลวงชนบท เปิดใช้ถนนผังเมืองรวมนครพนม หนุนการขนส่ง ท่องเที่ยว เศรษฐกิจชายแดนไทย-ลาว

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ง, ค3 และ ค4 ผังเมืองรวมเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม (ถนนพนมนาคราช) เสร็จสมบูรณ์

 

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดแม่น้ำโขงมีเขตชายแดนเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทช.จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ง, ค3 และ ค4 ผังเมืองรวมเมืองนครพนม (ถนนพนมนาคราช) เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต แก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในเขตเมือง เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางในพื้นที่ในจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


ซึ่งลักษณะการก่อสร้างประกอบด้วย

– ถนนสาย ง เป็นการก่อสร้างถนนตัดใหม่ สายทางแยกจากถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณหน้าหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) และไปบรรจบกับถนนเฟื่องนครและถนนนิตโย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22) โดยก่อสร้างเป็นผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจรไป-กลับ ไหล่ทางกว้าง 2 เมตร ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ตลอดสายทาง มีทางเท้าและระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าบริเวณชุมชน พร้อมก่อสร้างสะพาน 1 แห่ง ระยะทางรวม 3.774 กิโลเมตร

– ถนนสาย ค3 และ ค4 เป็นการก่อสร้างสายทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 240 (ถนนเลี่ยงเมืองนครพนม) มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณ กม.ที่ 5+864 และไปตัดกับถนนสาย ง ต่อเนื่องไปเชื่อมกับถนนเทศาประดิษฐ์ จุดสิ้นสุดโครงการไปบรรจบกับถนนสุนทรวิจิตร หรือถนนชยางกูร (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212) ระยะทางรวม 2.134 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 ก่อสร้างถนนใหม่ เป็นผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ ไหล่ทางกว้าง 2 เมตร เกาะกลางแบบทาสีตีเส้น ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ระยะทาง 1.223 กิโลเมตร

ส่วนที่ 2 ก่อสร้างบนถนนเทศาประดิษฐ์ รูปแบบการก่อสร้างมีทั้งช่วงที่รื้อผิวจราจรเดิมแล้วก่อสร้างผิวจราจรใหม่ และช่วงที่ใช้ผิวจราจรเดิมปูผิวแอสฟัลท์คอนกรีตทับบนผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ

ก่อสร้างทางเท้าและระบบระบายน้ำใต้ทางเท้า ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมปรับปรุงทางแยก ติดตั้งสัญญาณ ไฟจราจร อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ระยะทาง 0.911 กิโลเมตร

ปัจจุบันถนนสายดังกล่าวได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และได้เปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรเรียบร้อยแล้ว ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 256.995 ล้านบาท

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง