รีเซต

คณะราษฎร : วิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "การเกิดใหม่ของคณะราษฎร"

คณะราษฎร : วิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "การเกิดใหม่ของคณะราษฎร"
บีบีซี ไทย
24 มิถุนายน 2563 ( 15:12 )
192
คณะราษฎร : วิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "การเกิดใหม่ของคณะราษฎร"

นักวิชาการ นักกิจกรรมการเมือง และประชาชนที่เรียกตัวเองว่าคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ราว 200 คน ร่วมแสดงพลัง "ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงคืนสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน"

ครช. ยึดฤกษ์ 88 ปี เหตุการณ์ปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475 มาชุมนุมที่รัฐสภา ย่านเกียกกาย เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หลังก่อนหน้านี้เมื่อ 103 วันก่อน (13 มี.ค. 2563) พวกเขาเคยเคลื่อน "ขบวนธงเขียว" มาที่ศูนย์กลางการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติมาแล้วหนหนึ่ง เพื่อยื่นข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

หลังชายที่แต่งกายคล้ายพระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิ.ย.2475 จบลง รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ และแกนนำ ครช. ก็เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ต่อหน้าตัวแทน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ

เขาระบุตอนหนึ่งระบุว่า การสถาปนาหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยถูกขัดขวางมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 88 ปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากข้อความ "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ฉบับวันที่ 27 มิ.ย. 2475 จะถูกแก้ไขเป็น "อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม" ในรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475 และไม่ปรากฏข้อความดังกล่าวในรัฐธรรมนูญฉบับใดอีก อำนาจของประชาชนยังถูกทำลายโดยการก่อรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า หลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการก่อรัฐประหารรวม 24 ครั้ง สำเร็จ 13 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุก 3 ปีครึ่งจะมีการก่อรัฐประหารทั้งสำเร็จและล้มเหลว 1 ครั้ง ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 ของไทย "ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน หากแต่สะท้อนความต้องการของกลุ่มบุคคลที่จะสถาปนาอำนาจของตนในนามของรัฐ พร้อมกับลดอำนาจของประชาชน"

ข้อเรียกร้องที่สำคัญของ ครช. คือ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แล้วให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส., ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง, กระบวนการปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติ ต้องไม่เกิดขึ้นโดยคนกลุ่มเดียวและต้องไม่มีการนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหาร

นอกจากนี้ให้สภาเร่งตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรับฟังความเห็นของประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในสมัยการประชุมนี้ เพื่อจะได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงปลายปี

 

ใช้ 24 มิถุนา เป็นหมุดหมายดึงการเมืองปกติคืนกลับมา

ทั้งฝ่ายผู้มายื่นหนังสือและผู้มารับหนังสือให้ความเห็นกับบีบีไทยตรงกันว่า ความเคลื่อนไหวในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดึงการเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติ หลังการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญของนักศึกษาที่เกิดขึ้นใน "แฟลชม็อบ" เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาต้องยุติลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

"เราต้องการใช้วาระ 88 ปีปฏิวัติสยาม เป็นหมุดหมายในการดึงความสนใจของสังคมกลับมาสู่ปัญหาใหญ่ของประเทศนี้ คือความไม่เป็นประชาธิปไตย และการจัดสรรอำนาจที่ไม่เท่าเทียม หลังถูกโควิด-19 กดทับเอาไว้ จนประชาชนแสดงออกไม่ได้" นายอนุสรณ์กล่าว

 

ขณะที่นายชำนาญ จันทร์เรือง สมาชิกคณะก้าวหน้า และรองประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ชี้ว่า การเลือกตั้งปี 2562 ทำให้การเมืองเปิดกว้างขึ้น ก่อนหยุดชะงักลงในช่วงโควิด-19 อย่างไรก็ตามในโลกยุคปัจจุบัน ผู้รักประชาธิปไตยก็เรียนรู้ที่จะทำให้เกิด New Normal ทางการเมือง (การเมืองวิถีใหม่) ใคร ๆ ก็ชุมนุมทางความคิดได้โดยไม่จำเป็นต้องออกมาที่ท้องถนน

การเกิดใหม่ของคณะราษฎร 2563

ปรากฏการณ์ "การเกิดใหม่ของคณะราษฎร" ถูกอธิบายโดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ว่า ในปี 2475 เกิดมหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่วนในปี 2563 เกิดมหาโรคระบาด ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา โดยที่ผู้คนคาดหวังว่าระบบการเมืองจะมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ซึ่งถือเป็น "ข้อเรียกร้องขั้นต่ำ" ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น คนบางส่วนจึงหวนกลับไปหาเหตุการณ์เมื่อ 88 ปีก่อนที่อำนาจเคยเป็นของประชาชน

  • วิกฤตโควิด-19 : ทำให้เกิดคำถามว่าถ้าวันนี้อำนาจอยู่ในมือเราอย่างแท้จริง จะเป็นอย่างไร, แล้ววันนี้เรามีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ใครใช้อำนาจแทนเราอยู่ และใช้เพื่อแก้ปัญหาให้เราจริงหรือไม่
  • อิทธิพลของสื่อสมัยใหม่ : ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โดยที่รัฐเข้ามาควบคุมไม่ได้
  • ความตื่นตัวทางประวัติศาสตร์ : ทำให้เกิดจิตสำนึกร่วมกันโดยเชื่อมโยงกับอุดมการณ์และจิตวิญญาณของคณะราษฎร

"การที่ ครช. ลุกขึ้นมา 'ทวงคืน' แสดงว่าเขาเกิดสำนึกว่าสิ่งเหล่านี้เคยเป็นของเขามาก่อน จึงต้องมาทวงคืนจากคนที่ยึดเอาไป" และ "แรงเหวี่ยงครั้งนี้จะสูงมาก และท้าทายต่อสถาบันทางการเมืองว่าจะตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างไร และต้องรอดูต่อไปว่าฟางเส้นไหนที่จะทำให้เกิดการแตกหัก" ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง