รีเซต

โค้งสุดท้าย! ช้อปดีมีคืน65 สินค้าลดหย่อนได้-ไม่ได้อะไรบ้าง?เซพลิสต์เก็บได้เลย!

โค้งสุดท้าย! ช้อปดีมีคืน65 สินค้าลดหย่อนได้-ไม่ได้อะไรบ้าง?เซพลิสต์เก็บได้เลย!
TNN ช่อง16
14 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:17 )
255

โครงการ ช้อปดีมีคืน 2565  เป็นโครงการที่รัฐบาลเคยนำออกมาใช้แล้ว เมื่อตอนปลายปี 2563 และได้นำกลับมาใช้อีกครั้ง  เพื่อต้องการจะกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายสินค้าและบริการที่ร่วมโครงการไปลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 30,000 บาท  โดยหลักๆคือสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และให้เกิดการใช้จ่ายในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อปานกลาง ไปจนถึงคนที่มีกำลังซื้อสูง ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย  


ช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่

เงื่อนไข 

จริงๆแล้วเงื่อนไขหรือรายละเอียดไม่ได้แตกต่างจากครั้งก่อนหน้านัก เพราะเป้าหมายยังเป็นผู้ประกอบการกลุ่ม ที่อยู่ในระบบฐานภาษีและ คนที่มีรายได้ประจำ หรือกำลังซื้อปานกลาง-ปานกลางระดับสูง ให้ได้นำมา หักลดหย่อนภาษี ได้  โดยคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 

  • เป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 
  • ผู้ประกอบการและร้านค้า ที่จดทะเบียนในระบบ VAT
  • ต้องเป็นการใช้จ่ายหรือใช้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2565 เท่านั้น (ระยะเวลาโครงการสั้นลงจากปี 63 1 เดือน) 
  • มูลค่าที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ยังคงเป็นจำนวนสูงสุด 30,000 บาทเช่นเดิม
  • หากเข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืน ปี 2565  ยังสามารถเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ได้ด้วย



สินค้าที่นำค่าใช้จ่ายมา ลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน ได้ 

1.สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)  ซึ่งปกติสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีใบกำกับภาษีออกมาพร้อมกันด้วย ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อนช้อปดีมีคืนจะต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ปรากฏชื่อและข้อมูลผู้ซื้อด้วย (ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีอย่างย่อได้)

2.หนังสือรูปเล่มและหนังสือในรูปแบบอีบุ๊ค   ไม่รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ โดยผู้ขายต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่านั้น (เจ้าของร้านหนังสือเป็นบุคคลธรรมดาใช้ลดหย่อนไม่ได้)

3.สินค้า OTOP โดยสินค้า OTOP ที่ลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยจะเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ แต่ในหลักฐานต้องระบุว่า สินค้าทุกรายการเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์


สินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้

1.สุรา, เบียร์ และไวน์

2.ยาสูบ

3.ค่าน้ำมัน ก๊าซเชื้อเพลิง

4.ค่ารถยนต์, มอเตอร์ไซค์ และค่าเรือ

5.ค่านิตยสารที่ซื้อผ่านออนไลน์

6.ค่ามัคคุเทศก์

7.ค่าที่พักโรงแรม (เนื่องจากอยู่ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันอยู่แล้ว)

8.ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า

9.ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

10.ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์

11.ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต


ช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?

  • เงินได้สุทธิต่อปี  0 -150,000 บาท                       ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิคืนภาษี
  • เงินได้สุทธิต่อปี  150,001 - 300,000 บาท           อัตราภาษีเงินได้ 5% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี  300,001 - 500,000 บาท           อัตราภาษีเงินได้ 10% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี  500,001 - 750,000 บาท           อัตราภาษีเงินได้ 15% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี  750,001 - 1,000,000 บาท        อัตราภาษีเงินได้ 20% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี  1,000,001 - 2,000,000 บาท     อัตราภาษีเงินได้ 25% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี  2,000,001 - 5,000,000 บาท     อัตราภาษีเงินได้ 30% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี  5,000,001 บาทขึ้นไป                อัตราภาษีเงินได้ 35% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท
    *** คนที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่มีค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ที่ช่วยให้ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว จะไม่ได้สามารถใช้สิทธิ์ในมาตรการช้อปดีมีคืนได้


ข้อควรระวัง ช้อปดีมีคืน

ข้อแรก   ต้องประมาณการรายได้ตลอดทั้งปี เพื่อประเมินความจำเป็นของการใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษี จะทำได้ยากขึ้น  โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ ดังนั้นจึงควรชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างความจำเป็นที่แท้จริงของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ และความจำเป็นของการกันสภาพคล่องไว้เผื่อใช้สำหรับสิ่งจำเป็นอื่น

ข้อที่สอง อย่าลืมว่าสิทธิลดหย่อนภาษีไม่ใช่สิทธิเครดิตภาษี ดังนั้นถึงแม้จะซื้อสินค้าหรือบริการเต็ม 30,000 บาทก็ตาม แต่ไม่ได้แปลว่าค่าภาษีจะลดลงทั้ง 30,000 บาท เพราะเราจะประหยัดภาษีได้จริงเท่าไร จะขึ้นกับฐานภาษีของเราเท่านั้น

 เช่น ถ้าฐานภาษีของเราตกอยู่ขั้นสุดท้ายที่อัตรา 10% ก็จะแปลว่าเราจะได้ประหยัดค่าภาษีลงจำนวน 3,000 บาทเท่านั้น  หรือถ้าหากรายได้ของเราหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว อยู่ในเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษี ก็จะเท่ากับว่าที่ได้ซื้อไป ไม่ได้ช่วยประหยัดภาษีเลย 

ข้อที่สาม  ต้องเก็บหลักฐานไปรอยื่นภาษีอีกทีตอนต้นปีหน้า ดังนั้นได้ใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีมาแล้ว แนะนำให้ถ่ายหลักฐานเก็บไว้ ส่วนเอกสารตัวจริงก็จัดเก็บไว้ห้ามทำหายเด็ดขาด 

**กรณี  ผู้ที่มีเงินได้ ตั้งแต่ 60,000 บาทเป็นต้นไปในครึ่งปีแรก ก็สามารถนำสิทธิลดหย่อนนี้มาใช้ลดหย่อนได้ตั้งแต่ครึ่งปี ทำให้อาจมีภาระภาษีที่ต้องจัดการในช่วงครึ่งปีแรกที่น้อยลงด้วย


อย่างที่บอกไปว่า การจะช้อปปิ้งเพื่อนำค่าใช้จ่าย  ช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษี นั้น ต้องคำนึงถึงฐานภาษีด้วย เพราะฐานภาษีของแต่ละคนไม่เท่ากัน นอกจากนั้น ความจำเป็นของสินค้าที่ซื้อก็ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วยว่า ซื้อมาแล้วใช้ได้จริงหรือเปล่า ถ้าซื้อเพราะเหตุผลแค่ต้องการเอามาลดหย่อนภาษีเท่านั้น ก็น่าจะได้ประโยชน์แค่เล็กน้อย ซื้อมาไม่ได้ใช้งานก็น่าจะไม่เกิดประโยชน์และคุ้มค่ากับเงินที่เราเสียไปก็ได้.....

ภาพประกอบ: AFP,เว็บไซต์กรมสรรพากร

อ้างอิง : กรมสรรพากร , www.itax.in.th

ภาพประกอบ: AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง