รีเซต

‘พิพัฒน์’ จ่อชง ‘ศบค.’ ยกเลิกไทยแลนด์ พาส เริ่ม 1 มิ.ย. 65 หวังฟื้นตัวกลับสู่ช่วงปี 62 ก่อนเกิดโควิด

‘พิพัฒน์’ จ่อชง ‘ศบค.’ ยกเลิกไทยแลนด์ พาส เริ่ม 1 มิ.ย. 65 หวังฟื้นตัวกลับสู่ช่วงปี 62 ก่อนเกิดโควิด
มติชน
25 มีนาคม 2565 ( 05:44 )
35
‘พิพัฒน์’ จ่อชง ‘ศบค.’ ยกเลิกไทยแลนด์ พาส เริ่ม 1 มิ.ย. 65 หวังฟื้นตัวกลับสู่ช่วงปี 62 ก่อนเกิดโควิด

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ว่า หลังจากเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เห็นชอบการปรับมาตรการรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ โดยกำหนดให้เหลือเฉพาะการตรวจผ่านวิธี RT-PCR ครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้วเท่านั้น และตรวจครั้งที่ 2 ผ่านวิธีเอทีเค ในวันที่ 5 จากเดิมที่กำหนดให้ตรวจหาเชื้อ 3 ครั้งทั้งก่อนเข้าและหลังเข้าประเทศแล้ว โดยจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอต่อที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่ในช่วงเดือนเมษายนนี้ หรือพ้นเทศกาลสงกรานต์ไปก่อน เพื่อขอประเมินสถานการณ์การระบาดโควิด-19 หลังสงกรานต์อีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ จะต้องไม่มีการกระเพื่อมของยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตที่รุนแรง สามารถรักษาระดับยอดผู้ติดเชื้อไว้ไม่เกิน 50,000-60,000 คนต่อวันได้ นับเฉพาะยอดที่รวมผลตรวจเอทีเคเป็นบวกเท่านั้น และมียอดผู้เสียชีวิตไม่เกิน 100 คนต่อวัน หากภาพเป็นดังกล่าว จะขอให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึงไทย และเปลี่ยนมาใช้วิธีการตรวจเอทีเคจากสถานพยาบาลรับรองผลการตรวจแทน ในวันที่ 5 เมื่อผลตรวจเป็นลบ จึงจะสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวได้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565

 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า รวมถึงจะเสนอให้มีการยกเลิกระบบไทยแลนด์ พาส (Thailand Pass) เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 หรือช่วงปี 2562 โดยคาดหวังว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งตามหลักการแล้วควรจะไม่ต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่โดยส่วนตัวมองว่า เพื่อความอุ่นใจของคนไทย ควรคงการตรวจหาเชื้อผ่านเอทีเคในวันแรกที่เดินทางมาถึงไว้ก่อน แต่จะข้อสรุปอย่างเป็นทางการอย่างไรนั้น คงต้องรอทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง โดยเป้าหมายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยคือ การก้าวเป็นผู้นำท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดหวังว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10 ล้านคน และมีการฟื้นตัวด้านรายได้การท่องเที่ยวของปี 2565 อยู่ที่ 30% เทียบกับรายได้การท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 ส่วนในปี 2566 รายได้ฟื้นตัว 50% และในปี 2567 รายได้ฟื้นตัว 100% หรือเทียบเท่าปี 2562

 

“ก่อนจะถึงช่วงฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ระหว่างนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มอล เนื่องจากไม่สามารถทำแบบที่เคยทำมาได้แล้ว หากเรายังเดินช้าๆ หรือไม่เดินเลย เพราะคิดว่ายังไม่ถึงเวลา อันนี้คงไม่สามารถทำได้ รวมถึงการก้าวตามเทรนด์ใหม่ๆ ที่การระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามาดิสรัปพฤติกรรมการท่องเที่ยว อาทิ เทรนด์ทำงานไปด้วยเที่ยวไปด้วยหรือ Workation รวมถึงปรับตัวด้านการใช้เทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่ยุค 5.0 โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะขอหารือกับนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดอบรมสัมมนาบุคลากรท่องเที่ยวสู่ยุค 5.0 และปลดล็อกมาตรการเดินทางเพื่อเปิดประเทศ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเปรียบเสมือนกระต่ายที่วิ่งเร็วกว่าชาวบ้าน แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ถูกชาวโลกสบประมาทว่า ไทยเป็นถึงกระต่าย แต่สุดท้ายก็โดนเต่าแซง” นายพิพัฒน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง