โควิด-19: ชายอเมริกันที่หลงเชื่อทฤษฎีสมคบคิด เรื่องไวรัสโคโรนา ต้องเสียภรรยาเพราะโรคระบาดมรณะ
โควิด-19: ชายอเมริกันที่หลงเชื่อทฤษฎีสมคบคิด เรื่องไวรัสโคโรนา ต้องเสียภรรยาเพราะโรคระบาดมรณะ - BBCไทย
คนขับรถแท็กซี่ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ซึ่งหลงเชื่อทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และคิดว่าเชื้อโรคนี้เป็นเรื่องหลอกลวง ต้องสูญเสียภรรยาที่ล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19
นายไบรอัน ลี ฮิตเชนส์ และ เอริน ภรรยา ได้อ่านและเชื่อคำกล่าวอ้างต่าง ๆ ทางออนไลน์ที่ระบุว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นเรื่องลวงโลก มีความเชื่อมโยงกับสัญญาณ 5G หรือคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ธรรมดา
ด้วยเหตุนี้ ทั้งคู่จึงไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านสุขภาพของทางการ หรือไปพบแพทย์ตอนที่พวกเขาล้มป่วยเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไบรอันหายจากอาการป่วย แต่ภรรยาวัย 46 ปีของเขามีอาการวิกฤต และเสียชีวิตลงในเดือน ส.ค.จากปัญหาเกี่ยวกับหัวใจที่เกี่ยวเนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
- ทำไมคนเราถึงปักใจเชื่อทฤษฎีสมคบคิด
- ซักเคอร์เบิร์กนำเฟซบุ๊กสกัดข่าวลวงอันตรายเรื่องโควิด-19
- "ข้อความอันงดงามของ บิล เกตส์" ที่เจ้าตัวไม่ได้เขียน
ไบรอันให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ในรายงานตรวจสอบความจริงเพื่อค้นหาว่าข่าวปลอมเกี่ยวกับไวรัสมรณะชนิดนี้ได้สร้างความสูญเสียให้กับผู้คนมากเพียงใด ซึ่งขณะนั้นภรรยาของเขากำลังรักษาตัวโดยใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ในโรงพยาบาล
ทฤษฎีสมคบคิดที่อันตราย
ก่อนจะเสียชีวิต เอริน ซึ่งเป็นบาทหลวงหญิงในรัฐฟลอริดา มีปัญหาโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว โดยเธอป่วยเป็นโรคหอบหืด และโรคความผิดปกติด้านการนอนหลับ
ไบรอันเล่าว่าทั้งคู่ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านสุขภาพที่ทางการประกาศออกมาในช่วงแรกที่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด เพราะหลงเชื่อข่าวปลอมและคำกล่าวอ้างผิด ๆ ที่เห็นทางออนไลน์
ไบรอันออกไปทำงานขับรถแท็กซี่ตามปกติ และไปรับยาให้ภรรยาโดยที่ไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือสวมหน้ากากอนามัย
- ไบรอันและเอรินหลงเชื่อข่าวปลอม และทฤษฎีสมคบคิดเรื่องโรคโควิด-19 ทางเฟซบุ๊ก / FACEBOOK
นอกจากนี้พวกเขายังไม่เข้ารับความช่วยเหลือทางการแพทย์ในทันทีที่เริ่มมีอาการป่วยในเดือน พ.ค.ซึ่งในเวลาต่อมาทั้งสองได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19
ไบรอันบอกบีบีซีว่า เขา "น่าจะเชื่อฟัง (ข้อแนะนำด้านสุขภาพ) ตั้งแต่ต้น" และหวังว่าภรรยาจะยกโทษให้เขา
"มันเป็นไวรัสจริง ๆ ที่ส่งผลต่อผู้คนต่าง ๆ กันไป ผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ ผมมีชีวิตอยู่แค่ในปัจจุบัน และตัดสินใจให้ดีขึ้นเพื่ออนาคต" ไบรอันกล่าว
"เธอไม่ต้องทรมานอีกต่อไป แต่อยู่ในความสงบ ผมได้ผ่านช่วงเวลาที่คิดถึงเธอ แต่ผมรู้ว่าเธอได้ไปอยู่ในที่ที่ดีกว่าแล้ว"
"มันเป็นเรื่องจริง"
ไบรอันบอกว่าเขาและภรรยาไม่ได้ยึดอยู่กับความเชื่อเรื่องโรคโควิด-19 เพียงเรื่องเดียว แต่มีความเชื่อที่สลับกันไปมาระหว่างเรื่องที่ว่าเชื้อไวรัสนี้เป็นเรื่องหลอกลวง เรื่องที่มันเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G หรือเชื่อว่ามันเป็นโรคภัยไข้เจ็บจริงแต่ไม่ส่งผลรุนแรง ซึ่งพวกเขาได้รับข้อมูลเหล่านี้มาจากทางเฟซบุ๊ก
"เราคิดว่ารัฐบาลใช้เรื่องนี้เพื่อหันเหความสนใจของพวกเรา" ไบรอันกล่าว
แต่หลังจากเขาและภรรยาล้มป่วยในเดือน พ.ค. ไบรอันได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเพื่ออธิบายว่าเขาหลงผิดเพราะเห็นข้อความเท็จเรื่องโควิด-19 ทางออนไลน์ และโพสต์ของเขาก็ได้รับความสนใจอย่างมาก
"ถ้าคุณต้องออกนอกบ้านขอให้จงใช้สติและไม่หลงผิดอย่างผม เพื่อที่คุณจะไม่ต้องเจอกับเรื่องแบบเดียวกับที่ผมและภรรยาประสบ" ไบรอันระบุทางโซเชียลมีเดีย
FACEBOOK/BRIAN LEE HITCHENS
แพทย์และผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอันตรายทางอ้อมที่อาจเกิดจากข่าวลือ ทฤษฎีสมคบคิด หรือข้อมูลผิด ๆ เรื่องสุขภาพที่เผยแพร่ทางออนไลน์ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะทฤษฎีสมคบคิดต่อต้านการให้วัคซีนที่กำลังแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย
ในขณะที่บริษัทผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียระบุว่าได้ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ปรากฏในสื่อของตนแล้ว แต่ฝ่ายวิจารณ์ชี้ว่าจะต้องมีการดำเนินความพยายามให้มากกว่านี้ในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
โฆษกเฟซบุ๊กชี้แจงต่อบีบีซีว่า "เราไม่อนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลเท็จที่เป็นอันตรายบนสื่อของเรา โดยตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. เราได้ถอดข้อมูลเท็จเรื่องโควิด-19 ที่เป็นอันตรายออกไปกว่า 7 ล้านชิ้น ซึ่งรวมถึงคำกล่าวอ้างถึงการรักษาแบบผิด ๆ หรือคำกล่าวอ้างที่ว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมใช้ไม่ได้ผล"