เปิดขั้นตอนติดโควิดรักษาที่บ้าน สปสช.ยันไม่เมินคนตรวจ ATK เป็นบวก
เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กล่าวถึงกรณีพบรายงานว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ตรวจ ATK ได้รับการดูแลล่าช้ากว่าผู้ที่มีผลตรวจ RT-PCR ว่า มีความเห็นว่าปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ระบบรองรับ ขณะนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดระบบที่เรียกว่า “HI Total” หรือช่องทาง HI โดย สปคม. ได้ประสานในทุก เขตของ กทม. เพื่อเปิดการดูแลผู้ติดเชื้อแบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ทุกพื้นที่ รวมถึงยา อุปกรณ์ดูแลตัวเอง เราเตรียมไว้ในจำนวนที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เปิดศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อที่มีอาการ โดย กทม.มีความพร้อมในการเปิดโรงพยาบาล (รพ.) สนาม แน่นอน และบางส่วนก็ยังดำเนินการอยู่ อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในโหมดสแตนบายพร้อมเปิดตลอดเวลา
“ปัญหาตอนนี้น่าจะเป็นการติดต่อลงทะเบียนสายด่วน 1330 ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ คาดว่าในระยะสั้น 1330 จะกลับมารับโทรศัพท์ของพี่น้องได้ตามปกติ และการกระจายตัวเพื่อทำ HI จะดีขึ้น หากตรวจ ATK เป็นบวก ก็อย่านิ่งนอนใจ ให้ประสาน 1330 เพื่อลงทะเบียนเพื่อเราจะได้ดูแลท่าน” นพ.สุทัศน์ กล่าว
วันเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีย์ เลขาธิการ สปสช. ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ติดเชื้อที่มีผลบวกจาก ATK อาจจะไม่ได้รับการตอบสนองจากสายด่วน 1330 และไลน์ @nhso ตามที่ระบุว่า หากลงทะเบียนแล้วจะได้รับการติดต่อกลับใน 6 ชั่วโมง ว่า เมื่อมีข้อมูลไปที่สายด่วน 1330 หรือไลน์ สปสช. ก็จะมีการนำข้อมูลเข้าระบบ โดยข้อมูลจะแสดงไปที่หน่วยบริการสาธารณสุข หรือจากคลินิกคู่สัญญาใกล้บ้านคนไข้ รวมถึงหน่วยบริการที่คนไข้เคยเข้ารับบริการ
“ต้องยอมรับว่า ตอนนี้มีหน่วยบริการ 2 แบบ บางหน่วยเข้าใจว่าคนไข้ต้องเข้า รพ. แล้ว ไม่ใช่ HI เช่น คนน้ำหนักเกิน ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ ตรงนี้ทางหน่วยบริการบางก็จะไปเอาคนไข้ไปตรวจ RT-PCR ก่อนแล้วให้ไปรอที่บ้าน ผลออกมาแล้ว ก็จะไปรับเข้า รพ. นี่คือเรากำลังจะคุยกันว่าทำไมถึงทำแบบนี้” นพ.จเด็จ กล่าว
เมื่อถามต่อว่า เกิดปัญหาจากผู้ติดเชื้อด้วยผล ATK ไม่ได้รับการตอบสนองกลับเลย ทำให้คิดได้ว่าทางหน่วยงานไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจด้วยตนเองที่บ้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า จริงๆ แม้ตรวจเองที่บ้าน ก็จะต้องได้รับติดต่อกลับใน 6 ชั่วโมง ดังนั้น หากพบว่ามีข้อมูลนี้จริงๆ ขอให้ส่งรายงานเข้ามาในระบบ สปสช. เราจะได้ตรวจข้อบกพร่องของระบบ เพื่อปรับปรุงแก้ไข
“หากตรวจ ATK ที่บ้าน ทาง 1330 จะจับคู่คลินิกใกล้บ้าน แต่ช่วงแรกอาจจะมีช้า แต่ตอนนี้เท่าที่เช็กช่วงเช้าเหลือไม่กี่สิบคน ที่ยังค้างอยู่ แต่ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายว่า เพราะคุณตรวจ ATK ที่บ้าน เราเลยไม่เชื่อถือคุณ ยืนยันว่าไม่มี เราติดต่อกลับเมื่อมีข้อมูลเข้าระบบมา ให้ความมั่นใจว่าระบบใช้ได้จริง ไม่มีนโยบายว่าคุณต้องไปตรวจ RT-PCR เพื่อเข้าระบบ 1330 แน่นอน เพราะหากไปตรวจ PCR แล้วติดเชื้อก็ต้องเข้าระบบของ รพ. เลย ดังนั้น ถ้าตรวจ ATK เป็นบวกแล้ว ไม่มีอาการก็จะเข้าระบบ HI ได้เลย” นพ.จเด็จ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้าระบบแยกกักที่บ้าน (HI) ที่ลงทะเบียนผ่านไลน์ @nhso สามารถส่งข้อมูลเข้าระบบได้เพียงวันละ 1 ครั้ง โดยจะให้กรอกข้อมูลส่วนตัว มีตัวเลือกในการส่งข้อมูลผลตรวจโควิด-19 ด้วย RT-PCR และ Rapid Antigen test และในตัวเลือกไม่มีช่องให้อัพโหลดรูปถ่ายชุดตรวจ หรือตรวจ RT-PCR