รีเซต

บขส. เขย่าแผนใช้ที่ดินหมอชิตเก่าทำสถานี สัปดาห์หน้าเตรียมถก ธนารักษ์ หาข้อสรุป "พื้นที่-ค่าเช่า"

บขส. เขย่าแผนใช้ที่ดินหมอชิตเก่าทำสถานี สัปดาห์หน้าเตรียมถก ธนารักษ์ หาข้อสรุป "พื้นที่-ค่าเช่า"
ข่าวสด
9 กุมภาพันธ์ 2564 ( 14:38 )
55
บขส. เขย่าแผนใช้ที่ดินหมอชิตเก่าทำสถานี สัปดาห์หน้าเตรียมถก ธนารักษ์ หาข้อสรุป "พื้นที่-ค่าเช่า"

บขส. เขย่าแผนใช้พื้นที่ หมอชิต เก่า- สัปดาห์หน้าเล็ง ถก กรมธนารักษ์ หาข้อยุติ จำนวนพื้นที่-ค่าเช่า จัดทำแผนธุรกิจ เสนอกระทรวงพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์

 

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านขนส่ง เปิดถึงผลการประชุมแนวทางการใช้พื้นที่โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่ง หมอชิต เก่า ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส วันนี้(9 ก.พ.)ว่า ได้มอบหมายให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ บขส.ไปหารือกับ กรมธนารักษ์ เกี่ยวกับแผนการเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดินหมอชิตเก่า ซึ่งกรมฯได้ให้สัมปทานาบริษัท Bangkok Terminal (BKT)เข้ามาพัฒนาพื้นที่ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดย บขส.จะต้องหารือเกี่ยวกับความเหมาะสม และเงื่อนไขการใช้พื้นที่ ,รูปแบบการใช้ประโยชน์ รวมทั้งอัตราค่าเช่าพื้นที่ให้เกิดความเหมาะสมชัดเจน ให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจของ บขส.ในอนาคต

 

ล่าสุด บขส.มีแผนธุรกิจที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาเป็นสถานีขนส่งรถโดยสารชานเมือง หรือรถโดยสารขนาดเล็กที่มีระยะการให้บริการไม่เกิน 300 กิโลเมตร ซึ่ง จากนี้ก็ต้องไปทบทวนว่าจะขอใช้สิทธิ์พื้นที่จำนวน 1.2 แสนตารางเมตรเท่าเดิม หรือ จะขอปรับลดพื้นที่ลง รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสม เพราะตามแผนเดิม กรมฯเสนอให้ใช้พื้นที่บริเวณชั้น 3 ,4 และ 5 ซึ่งเป็นหลังคาของอาคารศูนย์ซ่อมซึ่งพบว่ารถเข้าและออกลำบาก ต้องมีการสร้างทางเชื่อมยกระดับ ขณะที่ บขส.ต้องการใช้พื้นที่บริเวณชั้น1

 

รวมไปถึงค่าเช่าพื้นที่ 18 บาท/ ตารางเมตร/ปี ซึ่งจะต้องหารือให้ชัดว่า บขส. สามารถนำพื้นที่ภายในสถานีไปพัฒนาต่อยอดให้เอกชนเช่าทำร้านค้าหรือ คีออสขายสินค้าเพื่อเพิ่มรายได้ได้หรือไม่ แต่หากทำไม่ได้ บขส.คงต้องขาดทุนแน่นอน เพราะปัจจุบันเที่ยววิ่งรถน้อย ขณะที่ค่าโดยสารก็ถูกตรึงราคาโดยคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่ง บขส.อาจต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ต่อไป

 

“สัปดาห์หน้า บขส.ไปเจรจาทุกประเด็นกับกรมธนารักษ์ เพื่อให้ได้ข้อยุติ โดยยึดหลักว่าธุรกิจ ของบขส. ต้องอยู่ได้ ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด จากนั้นนำข้อสรุปจัดทำเป็นแผนธุรกิจกลับมาเสนอที่ประชุมพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะสรุปเสนอให้กระทรวงคมนามคมพิจารณาต่อไป”

 

นายสรพงศ์กล่าวว่า ในระยะสั้น 5 ปี ต่อจากนี้ คือ 2564-70 บขส. ยังไม่มีแผนที่จะย้ายสถานีไปจากหมอชิตใหม่ไปหมอชิตเก่า เนื่องจากบีเคทียังไม่ได้เริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณหมอชิตเก่า และช่วงเดือนพ.ย.ปีนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังมีแผนที่จะเปิดเดินรถรถชานเมืองสายสีแดง บางซื่อรังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชั้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับผู้โดยสารระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับสถานีหมอชิตใหม่ โดย บขส. อยู่ระหว่างจัดทำประตูทางเชื่อม ทางเชื่อมบันไดเลื่อน และจัดระบบ ชัตเติ้ลบัส หรือรถรับส่งระหว่างสถานี

 

ส่วนในระยะยาว หลังจากปี 2570 นั้น พื้นที่หมอชิตใหม่จะถูกนำไปใช้พัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ของสถานีกลางบางซื่อซึ่งจะนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง บขส. ยังบอกไม่ได้ว่าจะต้องย้ายหมอชิตใหม่ไปอยู่ที่ไหน เพราะยังไม่ได้ศึกษา แต่ปัจจุบัน บขส.มีพื้นที่ว่างราว 80ไร่ บริเวณรังสิต

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง