รีเซต

เปิดรายได้ “ไรเดอร์” อาชีพยอดฮิตปี 64 ท่ามกลางความเสี่ยง

เปิดรายได้ “ไรเดอร์” อาชีพยอดฮิตปี 64 ท่ามกลางความเสี่ยง
TNN ช่อง16
5 ตุลาคม 2564 ( 10:37 )
194

คนละครึ่ง เฟส 3 กลายเป็นโครงการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลโครงการแรก ที่ปลดล็อดให้ใช้ในธุรกิจเดลิเวอรี่ได้ “อย่างเป็นทางการ” ด้วยความร่วมมือกับ แกร๊บ และไลน์แมน 2 แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่หลักของไทย และจะนับว่านี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะขยายตลาดธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในปีนี้ และกลไก ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้เติบโตได้ดีคงหนีไม่พ้น อาชีพ ไรเดอร์ วันนี้รายการเศรษฐกิจ Insight จะพาไปดูว่า อาชีพนี้รายได้มั่นคงเพียงใด 


 


ไรเดอร์ หรือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในการขนส่งสินค้าตามต้องการ ก่อนหน้านี้เราอาจเรียกเป็นแมสเซนเจอร์ ส่งเอกสารด่วน แต่ปัจจุบันนิยมในการส่งอาหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ บางรายทำเป็นอาชีพชั่วคราว และส่วนใหญ่ ยืดเป็นอาชีพหลัก จากรายงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระบุว่า นี่คือ อาชีพที่มีส่วนในการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุดอาชีพหนึ่ง ในยุคโควิด-19 และไรเดอร์ส่วนใหญ่ ถึง 80% ยึดเป็นอาชีพหลัก ที่เหลืออีก 20% เป็นมองว่า เป็นอาชีพเสริม 


โดยช่วงอายุที่เป็นไรเดอร์ มากที่สุด คือ 18-29 ปี รองลงมาคือแรงงานตอนกลาง อายุ 30-44 ปี และกลุ่มสุดท้าย คือ แรงงานตอนปลาย รวมถึงผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนน้อยที่สุด ขณะที่ระดับการศึกษาสูงสุดของไรเดอร์ ส่วนใหญ่จะเป็น ระดับมัธยมปลาย และระดับปริญญาตรี



ลองมาดูรายได้ของไรเดอร์ เฉลี่ยทั่วประเทศ จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พบว่า มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 18,000 บาทต่อเดือน เมื่อหักต้นทุนจากการทำงาน ทั้ง ค่าสึกหรอ ค่าอินเตอร์เน็ต เฉลี่ย 3,000 บาทต่อเดือน จะเหลือเงิน 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งยังน้อยมากเมื่อเทียบกับการโฆษณารับสมัครไรเดอร์ ที่มีบางค่ายการันตีรายได้เฉลี่ย 26,000 บาท หรือ บางค่าย โปรโมทว่ามีรายได้ 25,000-30,000 บาท 


ถ้าดูระยะเวลาในการทำงาน สถิติบ่งชี้ให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ มากกว่า 45% ไรเดอร์ ทำงานต่อสัปดาห์เกินกว่า 60 ชั่วโมง เนื่องจาก มีเงื่อนไขของแต่ละแพลตฟอร์ม ให้ต้องมีการทำงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อแลกกับประกัน หรือ โบนัส เป็นต้น ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาตามกฎหมายแรงงานกำหนด ที่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เนื่องด้วยงานประเภทนี้ ยังเป็นเหมือนงานอิสระ จึงยังไม่มีการคุ้มครองแรงงานเท่าที่ควร 


และอีกสถิติหนึ่งที่น่ากังวลสำหรับเหล่าไรเดอร์ คือ มีการเกิดอุบัติเหตุสูง พบ 1 ใน 3 ของไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงาน และในจำนวนที่เกิดอุบัติเหตุนี้ กว่า 40% เป็นการบาดเจ็บสาหัส บางรายถึงขั้นเสียชีวิต นับว่าเป็นอาชีพที่เสี่ยงมาก และเมื่อต้องพักรักษาตัว ก็จะทำให้ไม่มีรายได้ หรือรายได้ลดลง ต้องบอกว่า เสี่ยงทั้งชีวิต และด้านรายได้ แน่นอนว่า มีการเสนอให้ภาครัฐคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพใหม่ อย่างไรเดอร์ 



ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 บังคับกลายๆ ให้เราเรียนรู้วิธีการสั่งสินค้าออนไลน์ ทำให้อาชีพไรเดอร์ กลายเป็นด่านหน้าสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย จึงมีความต้องการของแพลตฟอร์มเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารสด ต้องส่งทันที พาคุณผู้ชม ไปดูธุรกิจแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ กันต่อ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า สวนทางกับธุรกิจร้านอาหารภาพใหญ่เป็นอย่างมาก โดยมูลค่าธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.35 แสนล้านบาท หรือติดลบ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราติดลบ 17.3% 


ส่วนธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่า 5.58 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตราว 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 24.4% ต้องยอมรับว่า สถาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการต้องหาทางออก เร่งหารายได้เข้ามา เมื่อไม่สามารถขายด้วยการนั่งทานที่ร้านได้ และออกจากบ้านไปซื้อ ก็จะมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโควิด-19 การขายผ่านออนไลน์จึงเป็นทางเลือกสำคัญ



และถ้าจะไปดูปริมาณการสั่งรวม คาดว่าจะสูงถึง 120 ล้านครั้ง ในปี 2564 ถ้าเทียบกับปริมาณการสั่งซื้อในช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ซึ่งมีประมาณ 35-45 ล้านครั้ง เท่ากับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว 



ขณะที่พฤติกรรมสำคัญๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว สำหรับธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทยปัจจุบัน โดยแม้จะมีความถี่ในการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว แต่ระดับราคาในการสั่งซื้อต่อครั้งสวนทาง คือ ปรับลดลง 20-25% ถ้าเทียบกันระหว่าง ความถี่ในการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น 3 เท่า คือ 300% กับระดับราคาที่สั่งซื้อลดลง 20-25% นับว่าไม่มากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า การสั่งซื้อไม่จำเป็นต้องซื้อปริมาณมากๆ อีกต่อไป ไม่ต้องมีอีเว้นท์สำคัญๆ แต่สามารถสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่ได้ทุกมื้อ 


อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโตสูงถึง 24% เป็นเพราะผู้ประกอบการเข้าสู่สมรภูมิการแข่งขันในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่มากขึ้น ร้านอาหารขนาดใหญ่ ไปจนถึงร้านอาหารข้างทาง หรือ สตรีทฟู้ด ซึ่งมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 40% เทียบปีที่ผ่านมา ที่สตรีทฟู้ดมีส่วนแบ่งเพียง 29% เนื่องจาก ผู้บริโภคหลายกลุ่ม สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ ตั้งแต่ราคาประหยัดจากร้านสตรีทฟู้ด ไปจนถึงอาหารราคาแพง จากร้านอาหารขนาดใหญ่ 


ถัดมา คือ ปัจจัยในมุมของผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี่ ซึ่งแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผู้ประกอบการเข้ามาในธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ที่สามารถเข้าถึงอาหารราคาประหยัดได้มากขึ้น 


และสุดท้าย การขยายฟื้นที่ในการให้บริการ จากปีก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ มีการให้บริการในช่วงเริ่มต้นในประเทศไทย เฉพาะพื้นที่จำกัดในกรุงเทพมหานครเท่านั้น จนถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่า ใช้เวลาไม่นานขยายพื้นที่ไปในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศแล้ว 



นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ยอดขายรถจักรยานยนต์ ในปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว จนค่ายรถจักรยานยนต์หลายรายยอมรับว่า ตลาดเริ่มอิ่มตัวแล้ว เพราะมียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ กับกรมการขนส่งทางบก ราวๆ 21 ล้านคันทั่วประเทศ แต่ไรเดอร์ น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปีนี้ตลาดรถจักรยานยนต์ฟื้นตัว โดย 8 เดือนแรกของปีนี้ รถจักรยานยนต์มียอดขายไปแล้ว 1,092,326 คัน  ขยายตัวถึง 7.90 % ขยายตัวได้ดีกว่ารถยนต์อย่างมาก โดย 8 เดือนแรกยอดขายรถยนต์ขยายตัวเพียง 2.4% หรือมียอดขาย 467,809 คัน นับเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่า ความต้องการใช้รถจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น 



กรุงไทยคอมพาส มีการนำตัวเลขจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ แยกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเวลาก่อนโควิด เฉลี่ย 5 ปี ตั้งแต่ 2558-2562 นำมาตั้งเป็นฐาน เป็นตัวเลขสีเทา , ยอดจดทะเบียนปี 2563 ตัวเลขสีดำ และ ยอดจดทะเบียนล่าสุดปี 2564 สีฟ้า นำมาเฉลี่ยเป็นรายเดือน พบว่า ตลาดรถจักรยานยนต์กลับมา 94% จากยอดขายเฉลี่ย 5 ปี ก่อนโควิด-19 แล้ว หลังจากยอดขายในปี 63 ลดลงไปอยู่ที่ 86% 


โดยภูมิภาคที่กลับมาเร็วที่สุด คือ ยอดขายเพิ่มเป็น 100% หรือ กลับเป็นภาวะปกติแล้ว คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  หรือ ภาคอีสาน ขณะที่ ภาคเหนือกลับมาใกล้เคียงกัน ที่ 97% และอันดับ 3 จึงเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมาแล้ว 94% ซึ่งน่าแปลกใจเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่ที่มีการให้บริการสำหรับไรเดอร์ เป็นจำนวนมาก อย่างในกรุงเทพ และปริมณฑล กลับมีการเติบโตยอดขายจักรยานยนต์ยังไม่กลับไปสู่ก่อนโควิด และเมื่อเทียบอัตราเติบโต ระหว่าง กรุงเทพฯ ปริมณฑล ก็ยัง น้อยกว่าระดับภูมิภาคอยู่ดี



และถ้า ไม่ใช่เพราะอาชีพยอดฮิต อย่าง ไรเดอร์ เป็นเพราะอะไรที่ทำให้การตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์เติบโตมากในภูมิภาค กรุงไทย คอมพาส ระบุว่า เป็นเหตุผลจากดัชนีรายได้เกษตรกร รายไตรมาส ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นสูงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา โดย มิถุนายน 2564 อยู่ที่ราวๆ 15%  มาจากทั้ง ราคาอ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง ปรับตัวสูงขึ้นมาก แม้ราคาข้าวจะปรับตัวลดลงก็ตาม โดยการปลูกมันสำปะหลังและยางพาราเป็นจำนวนมาก กระจุกตัวในภาคอีสานมากที่สุด ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลที่ภาคอีสาน กลับมาฟื้นตัวในแง่ยอดขายรถจักรยานยนต์มากที่สุด 


ดังนั้น ดัชนีรายได้เกษตรกร น่าจะเป็นปัจจัยหลักในการฟื้นตัวจองตลาดรถจักรยานยนต์ แต่อย่างไรก็ตาม กรุงไทย คอมพาส เชื่อว่า ระยะข้างหน้า ความต้องการขนส่งเดลิเวอรี่ในอนาคต จะทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์เติบโตได้มากขึ้นตามไปด้วย 


แน่นอนว่า ไรเดอร์ ยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 นี้ รวมถึงอนาคตด้วย ในขณะที่แรงงานยังคงมีความเสี่ยง และไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร จึงไม่แปลกที่นักวิชาการ ออกมาเรียกร้องให้รัฐช่วยออกแนวทางในการคุ้มครองแรงงานเหล่านี้ ไม่เช่นนั้น หากเศรษฐกิจดีขึ้น และเลือกงานได้ อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่หันหลังให้ กับอาชีพ ไรเดอร์ อาชีพยอดฮิต ในปี 2564 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง