"โอมิครอน" ระบาด! เช็กอาการโควิด ติดโควิดอาการน้อย-มาก รักษาอย่างไร? พร้อมช่องทางการติดต่อรักษาโควิด
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน ที่ทำให้เราติดโควิด แต่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก อยู่ในผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว แต่บางครั้งอาการโควิดก็แบ่งได้ว่า ไม่มีอาการ มีอาการไม่มาก และอาการรุนแรง แต่จะแยกอย่างไรให้ชัดเจน พร้อมเช็กแต่ละอาการรักษาแบบไหน วันนี้ TrueID ได้รวบรวมข้อมูลมาไว้ที่นี่แล้ว
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจงว่าระบบ Home Isolation (HI) เป็นการติดตามและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เพื่อแยกผู้ป่วยสีเหลืองและแดงเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ช่วยลดความแออัดและให้มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยอาการหนักและจำเป็น ซึ่งในระหว่างการดูแลในระบบ HI หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงก็จะมีการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้เสียสิทธิการเข้ารักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างใด
ส่วนกรณีการขอใบรับรองแพทย์ช่วงรักษาตัวในระบบ Home Isolation (HI) นั้น ให้ประสานกับหน่วยบริการที่ดูแลซึ่งจะออกใบรับรองแพทย์ให้ตามการให้บริการจริง
กรณีติดโควิด ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด
ผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบว่าขึ้น 2 ขีด ผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิด-19 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องให้ตรวจยืนยันซ้ำด้วย RT-PCR) ให้เข้าสู่ระบบการรักษาตามนี้
กทม. : โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ก กรุงเทพมหานคร: https://bit.ly/3FBOgvw ) หรือ โทรสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT
ต่างจังหวัด : โทร. Call Center ของจังหวัดหรืออำเภอ (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด)
ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด หากไม่ทราบหรือไม่สะดวกโทร.ตามรายละเอียดข้างต้น
- โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14
- ลงทะเบียนด้วยตนเองที่ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI
- ไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
- เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19
- เลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)
นโยบายของรัฐบาลให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่การรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หากสภาพบ้านไม่พร้อม จะเข้าสู่การรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation) หลังจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 โทร.แจ้งตามระบบแล้ว จะมีเจ้าหน้าหน้าที่โทร.กลับเพื่อประเมินอาการภายใน 6 ชั่วโมง หากภายใน 6 ชั่วโมงยังไม่มีการติดต่อกลับ ให้โทร.แจ้งที่ สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง
***กรณี โทร.สายด่วน 1330 ไม่ติด เนื่องจากมีประชาชน โทร.เข้ามามาก ไม่ต้องกังวล สปสช.จัดเจ้าหน้าที่โทรกลับสายที่โทรไม่ติดเพื่อรับข้อมูลเข้าระบบ***
ติดโควิดแต่ไม่มีอาการ อาการเล็กน้อย
กรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จับคู่กับสถานพยาบาลเพื่อดูแลที่บ้าน
โดยผู้ที่ติดโควิดจะได้รับการดูแลดังนี้ ติดตามอาการด้วยวิดิโอคอลวันละ 1 ครั้ง, เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว, ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ, ส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ, หากมีอาการเปลี่ยนแปลง แจ้งหน่วยบริการเพื่อขอรับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์, ประสานส่งต่อโรงพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น
หมายเหตุ บางรายการ เช่น ส่งอาหาร, เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง
ติดโควิดมีอาการปานกลาง
กรณีมีอาการปานกลาง หรือมีปัจจัยเสี่ยง ส่งรักษาในโรงพยาบาลสนาม, hospitel หรือโรงพยาบาล
- ตรวจ ATK ที่หน่วยตรวจเชิงรุก หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะมีเจ้าหน้าที่ประเมินอาการและส่งเข้าสู่ระบบการรักษาตามรายละเอียดข้างต้น แต่หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับใน 6 ชั่วโมง ให้ โทร.แจ้งที่ สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง
- ผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 แต่ตรวจ ATK ขึ้นขีดเดียว ผลเป็นลบ แต่ยังมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว
- ตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลจะนำท่านเข้าสู่กระบวนการรักษาตามขั้นตอน แต่หากไม่ติดเชื้อแต่มีประวัติเสี่ยง (เช่น สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ฯลฯ ให้กักตัวเองและตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วัน) แต่หากไม่มีประวัติเสี่ยง ไม่ต้องกักตัว
- กรณีชาวต่างชาติหรือแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อโควิด-19 หากมีบัตรประกันสุขภาพที่เคยซื้อไว้ ติดต่อโรงพยาบาลตามสิทธิ หากไม่มีบัตรประกันสุขภาพ โทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 14
ติดโควิดอาการรุนแรง เช็ก 5 สัญญาณอันตราย!!!
เกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยจากระบบการรักษาที่บ้านหรือในระบบชุมชน (Home-Community Isolation) เข้าโรงพยาบาล (มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้)
- มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง
- ระดับออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 94%
- หายใจมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ (หากหายใจมากกว่า 20 ครั้งต่อนาที ควรติดต่อแพทย์ที่ดูแลท่าน)
- กลุ่มผู้ป่วย 608 ที่มีความเสี่ยง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่มีอาการเปลี่ยนแปลง
- ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการข้อ 1 หรือ 2 หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็วเกินเกณฑ์อายุ ซึมลง ดื่มนมหรือกินอาหารได้น้อยลง
หมายเหตุ
- ผู้ป่วย 608 คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์
- แพทย์ที่ดูแลท่านระหว่างรักษาที่บ้านหรือในระบบชุมชนจะเป็นผู้ประเมินอาการท่านเพื่อการส่งต่อเข้าโรงพยาบาลหากมีอาการรุนแรง
ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวที่บ้าน ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?
- ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยม
- อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา
- หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร
- ไอจาม (กรณีสวมหน้ากากอนามัยอยู่ไม่ต้องเอามือปิดปาก) หากไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก
- ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ
- มารดาให้นมบุตรได้
- ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หรือใช้เป็นคนสุดท้าย
- ทำความสะอาดห้องน้ำ โถสุขภัณฑ์ ด้วยน้ำยา 0.5% โซเดียมไฮเปอร์คลอไรท์
- แยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จานชาม
- ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ด้วยน้ำผสมสบู่หรือผงซักฟอก
- แยกทิ้งหน้ากากอนามัยและขยะปนเปื้อนในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง
- กรณีไม่สะดวก สภาพบ้านไม่พร้อมท่านจะได้เข้าสู่การรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation)
ข้อมูล รวบรวมข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และ สปสช.
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<