ภาษีรับให้คืออะไร ? ทำไมนายกฯ ถูกซักฟอก ว่าเลี่ยงภาษีนี้

ภาษีการรับให้ หรือเรียกทั่วไปว่า ภาษีการให้ (Gift Tax) คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากทรัพย์สินที่ให้หรือรับแก่บุตร คู่สมรส ญาติ หรือบุคคลอื่น
ภาษีนี้มีการบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป โดยมีขึ้น
เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดก ป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก
ใครต้องเสียภาษีนี้บ้าง ?
ผู้ต้องเสียภาษีให้รับ มีสองกรณี คือ
การรับจากอสังหาริมทรัพย์
ผู้ได้รับอสังหาริมทรัพย์ เกิน 20 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี จากบิดา หรือมารดาผู้โอนกรรมสิทธิ์ให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม มาตรา 42(26)
การรับสังหาริมทรัพย์
ผู้ได้รับสังหาริมทรัพย์ จากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เกิน 20 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี
ผู้ได้รับสังหาริมทรัพย์ จากคนที่ไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือ คู่สมรส หรือรับจากนิติบุคคล เกิน 10 ล้านบาทในแต่ละปีภาษี
ซึ่งในกรณีนี้ ผู้รับต้องเสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท หรือนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้
เสียภาษีเมื่อใด ?
ภาษีการรับให้ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ ต้องนำเงินได้ที่เกิดในระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนมิถุนายน ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนกันยายนของปีภาษี
แล้วทำไมนายกฯ แพรทองธารถึงถูกกล่าวหาว่าเลี่ยงภาษีนี้
สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันนี้ (วันที่ 24 มีนาคม 2568) สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ว่ามีการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยง ‘ภาษีการรับให้’ มาตั้งแต่ปี 2559
โดยวิโรจน์ตั้งคำถามว่า แพรทองธารนั้นทำการซื้อหุ้น หรือรับหุ้นกันแน่ ?
เพราะหากเป็นการรับหุ้น จะต้องเสียภาษีการรับให้ แต่นายกฯ ใช้วิธีการซื้อหุ้น แต่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว PN ซึ่งเป็นหนี้สินที่แพทองธาร ชินวัตร ซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แบบ “ซื้อเชื่อ” แล้วออกตั๋ว PN แทนการจ่ายเงิน
รู้จักตั๋ว PN สัญญาใช้เงินคืออะไร อ่านได้ที่ https://www.tnnthailand.com/tnnexclusive/193461/
แต่ตั๋ว PN นั้นกลับเป็นการออกตั๋วสัญญาแบบที่ไม่มีระบุวันที่ชำระหนี้ รวมไปถึงดอกเบี้ยด้วย จึงทำให้ สส.ฝ่ายค้านมองว่าเป็นการเลี่ยงการจ่ายภาษีการรับให้ โดยชี้หลักฐานจากการระบุเอาไว้ที่บัญชีทรัพย์สิน ที่แจ้งทาง ปปช. จากการเป็นหนี้สินจากการซื้อหุ้น และเป็นลูกหนี้อยู่ 9 รายนั้น โดยเอกสารแนบ 9 แผ่น รายการละแผ่น จึงไม่ใช่หนี้ที่อยู่ในรูปแบบของสัญญาเงินกู้แน่ๆ แต่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน PN นั่นเอง
วิโรจน์ได้ยกตัวอย่างการได้หุ้นมูลค่า 2,388.7 ล้านบาท ที่แพรทองธารได้มาจากพี่สาว โดยเป็นการซื้อเชื่อ โดยที่ไม่ได้จ่ายเงินให้กับพี่สาวเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ออกตั๋ว PN เป็นกระดาษ 4 ใบ โดยไม่กำหนดว่าจะจ่ายหนี้ค่าซื้อหุ้นให้พี่สาวเมื่อไหร่ ไม่มีการคิดดอกเบี้ย ทำให้ตั้งคำถามว่า นี่คือการให้หุ้น หรือซื้อหุ้นกันแน่
วิโรจน์ยังอธิบายว่าจุดแตกต่างระหว่าง ‘การได้หุ้นจากการให้’ กับ ‘การซื้อหุ้น’ คือ ถ้าแพทองธาร ชินวัตร ได้หุ้นมาจากการให้ของ พี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แพทองธาร ก็ต้องเสีย ‘ภาษีการรับให้’ ให้กับรัฐ แต่ถ้าแพทองธาร ชินวัตร ซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แพทองธารก็ไม่ต้องจ่ายภาษีเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว และเนื่องจากหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะใช้เกณฑ์เงินสด ซึ่งรายได้จะถูกนับเป็นเงินได้พึงประเมิน ก็ต่อเมื่อมีการรับเงินสดจริง
ดังนั้นการที่แพทองธาร จ่ายค่าหุ้นที่ซื้อด้วยตั๋ว PN ที่ไม่ได้มีการจ่ายเงินกันจริง ซึ่งยังไม่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาด้วย
วิโรจน์สรุปว่า การใช้วิธีนี้เป็นพติกรรมอำพราง ที่ใช้ตั๋ว PN หนีภาษีการรับให้มูลค่า 218.7 ล้านบาท และเรียกร้องให้นายกฯ จ่ายภาษีเหมือนประชาชนทั่วไป