เอบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่านสายสุดโต่งกับอำนาจเคลื่อนตะวันออกกลาง
ไรซี เป็นผู้ทรงอำนาจ มีอิทธิพลขับเคลื่อนความตึงเครียดในตะวันออกกลาง รวมถึงมีบทบาทต่อสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส ที่เนิ่นนานนับแต่ปลายปีที่แล้วด้วย
แล้วชะตากรรมของไรซีจากอุบัติเหตุครั้งนี้ จะกระทบต่อภูมิภาคนี้แค่ไหน เราไปทำความรู้จักเขากัน
เอบราฮิม ไรซี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอิหร่าน หลังชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2021 แต่ก็เป็นชัยชนะที่ถูกตั้งคำถาม เพราะตัวเก็งผู้สมัยสายกลาง และสายปฏิรูปคนอื่น ๆ ถูกห้ามไม่ให้ลงชิงตำแหน่ง
เฮลิคอปเตอร์ที่เขาโดยสาร หายสาบสูญไป จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อตะวันออกกลางแค่ไหน ในห้วงเวลาที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญสงคราม โดยเฉพาะอิสราเอลกับฮามาส เรามาดูกัน
---ผู้นำอิหร่านในยามวิกฤต---
เอบราฮิม ไรซี เกิดในปี 1960 ที่นครแมชแฮด เมืองใหญ่สุดอันดับ 2 ของอิหร่าน และเป็นที่ตั้งศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของมุสลิมนิกายชีอะห์ พ่อของเขาเป็นนักบวช และเสียชีวิตตอนที่ไรซีอายุเพียง 5 ปี
ไรซี เจริญรอยตามบิดาในทางศาสนา โดยเข้าโรงเรียนสอนศาสนาในเมืองกอม ตอนอายุ 15 ปี ซึ่งในช่วงที่เขาเป็นนักเรียน เขาร่วมการประท้วงต่อต้านสมเด็จพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก จนที่สุด ล้มระบอบชาห์ลงในปี 1979 ในการปฏิวัติอิสลามนำโดยอะยาโตลเลาะห์ รุโฮลเลาะห์ โคเมเนอี
ภายหลังการปฏิวัติ เขาเข้าสู่เส้นทางกฎหมายและเป็นอัยการในหลายเมือง ระหว่างนั้นก็รับการสั่งสอนโดยอะยาโตลเลาะห์ คาเมเนอี ที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอิหร่านในปี 1981 จึงเรียกว่า ไรซี มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ครองอำนาจสูงสุดของประเทศมานานแล้ว
“คณะกรรมการแห่งความตาย”
ไรซี ขึ้นเป็นผู้ช่วยอัยการในกรุงเตหะรานตอนเขาอายุได้เพียง 25 ปี ขณะดำรงตำแหน่งนั้น เขาเป็นได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในผู้พิพากษา 4 คนซึ่งทำการตัดสินคดีลับในปี 1988 ซึ่งกลายมาเป็นที่รู้จักในชื่อ "คณะกรรมการแห่งความตาย" (Death Committee)
คณะผู้พิพากษาชุดนี้นำคดีของผู้ต้องขังการเมืองที่กำลังรับโทษอยู่แล้วกลับมาพิจารณาใหม่ โดยส่วนใหญ่ผู้ต้องขังเหล่านี้เป็นสมาชิกกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีชายหญิงราว 5,000 ราย ถูกประหารและฝังในหลุมศพโดยไม่ระบุชื่อซึ่งถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ทางรัฐบาลอิหร่านเองก็ไม่ได้ปฏิเสธถึงการประหารเหล่านี้ เพียงแต่ไม่เปิดเผยรายละเอียด ด้านไรซี ก็ปฏิเสธต่อเนื่องว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งประหาร
---เส้นทางสู่ประธานาธิบดี---
เขาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2017 แต่ก็แพ้รูฮานี ไปด้วยคะแนนหลายจุด
แต่ฐานอำนาจของไรซีกลับยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะคาเมเนอี ผู้ปกครองสูงสุดของอิหร่าน แต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าคณะตุลาการสูงสุด และไม่นานก็ได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยประธานสมัชชาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่มีอำนาจเลือกผู้นำสูงสุดด้วย
ไรซี มีแนวคิดอนุรักษนิยมอย่างสุดโต่ง มองว่าตนเองต้องสะสางปัญหาธุรกิจ และแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใต้การนำของฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีคนก่อน และในการชิงตำแหน่งครั้งที่ 2 ในปี 2021 เขาก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ด้วยข้อกังขามากมาย เพราะตัวเก็งผู้สมัครคนอื่น ๆ ถูกสั่งห้ามลงชิงตำแหน่ง และเป็นการเลือกตั้งที่คนออกมาเลือกน้อยที่สุด ไม่ถึง 49% ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติระบอบกษัตริย์
เอบราฮิม ไรซี ขึ้นสู่อำนาจในยามอิหร่านเผชิญความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะปัญหาทางเศรษฐกิจ ความตึงเครียดในภูมิภาค และการเจรจาฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติตะวันตก ที่ชะงักงัน
---บุคคลสำคัญของตะวันออกกลาง---
วาระประธานาธิบดีของเขา เต็มไปด้วยข่าวการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ปกคลุมทั่วประเทศนับแต่ปี 2022 แล้ว
แต่ก็มีความสำเร็จเช่นกัน จากการลงนามในข้อตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย เมื่อต้นปี 2023 ทั้งที่เป็นระหองระแหงกันมายาวนาน
ทั้งนี้ พอสงครามอิสราเอลกับฮามาสปะทุขึ้นเมื่อปลายปี 2023 ก็เหมือนเป็นสงครามเงาของอิหร่านกับอิสราเอลด้วย เพราะอิหร่านสนับสนุนกลุ่มฮามาสอย่างเปิดเผย
สงครามทางตรงไม่ได้จำกัดแค่อิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซา เพราะความตึงเครียดที่พุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อิหร่านยิงขีปนาวุธและจรวดหลายร้อยลูกใส่อิสราเอลเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย
และเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ไรซีจะสูญหายไปจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ เขาก็ประกาศการสนับสนุนปาเลสไตน์อีกครั้งว่า จะเป็นนโยบายหลักทางการต่างประเทศของอิหร่านที่สำคัญที่สุดนับแต่การปฏิวัติอิสลาม โดยระบุว่า ปาเลสไตน์คือหมุดหมายแรกของโลกมุสลิม
เอบราฮิม ไรซี ถือเป็นบุคคลสำคัญที่กุมบังเหียนความตึงเครียดในตะวันออกกลางอย่างมาก และหลังเขาประสบอุบัติเหตุ หลายชาติพันธมิตรก็ส่งกำลังใจและเอื้อมมือเข้าช่วยเหลือ รวมถึงรัสเซีย ตุรกี เหล่าชาติอาหรับ และอดีตศัตรูอย่างซาอุดีอาระเบีย ที่เพิ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้วย