รีเซต

คนไทยไม่อยากมีลูก? อึ้งตัวเลข 'เด็กแรกเกิด' ต่ำลง จับตา ‘วิกฤตแรงงาน’ ในอนาคต

คนไทยไม่อยากมีลูก? อึ้งตัวเลข 'เด็กแรกเกิด' ต่ำลง จับตา ‘วิกฤตแรงงาน’ ในอนาคต
TNN ช่อง16
3 ตุลาคม 2566 ( 12:49 )
95
คนไทยไม่อยากมีลูก? อึ้งตัวเลข 'เด็กแรกเกิด' ต่ำลง จับตา ‘วิกฤตแรงงาน’ ในอนาคต

คนไทยไม่อยากมีลูก? อึ้งตัวเลข 'เด็กแรกเกิด' ต่ำลง จับตา ‘วิกฤตแรงงาน’ ในอนาคต


ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยสภาพสังคมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง รวมไปถึงภาระค่าใช้จ่ายที่หนักอึ้ง ส่งผลให้หลายครอบครัวมองว่า ‘การมีลูก’ นั้นอาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับครอบครัวมากขึ้นตามไปด้วย ความจริงปรากฏชัดขึ้นเมื่อ ‘นิด้าโพล’ ออกมาเปิดผลสำรวจแล้วว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่อยากมีลูก เนื่องจากเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยง ขณะที่รายงานชี้ อัตราการเกิดใหม่ ‘ลดลง’ อย่างต่อเนื่อง ต้องจับตา ‘วิกฤตแรงงาน’ ในอนาคต



นิด้าโพลเผย คนไทย 44% ไม่ต้องการมีลูก เหตุ ‘ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่าย’ ครองแชมป์


ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจทัศนคติ เกี่ยวกับการมีลูกในปัจจุบัน จากประชาชนอายุ 18-40 ปี จำนวน 1,310 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย. 2566 พบว่า 29.39% ระบุว่า เป็นโสดและไม่มีแฟน รองลงมา  26.57% ระบุว่า แต่งงานจดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้ว ขณะที่ 20.92% ระบุว่า เป็นโสดแต่มีแฟนแล้ว และ 10.99% ระบุว่า แต่งงานแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้ว



เมื่อสอบถาม “ผู้ที่ยังไม่มีลูก” เกี่ยวกับการอยากมีลูก พบว่า 53.89% อยากมี ขณะที่ 44.00% ไม่อยากมี เมื่อสอบถามผู้ที่ไม่อยากมีลูก เกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก พบว่า ส่วนใหญ่ 38.32%  ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และเป็นห่วงว่าลูกจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน ยังพบด้วยว่า 37.72% ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก 


เมื่อถามถึงมาตรการที่รัฐควรสนับสนุน เพื่อให้คนไทยมีลูก ส่วนใหญ่ 65.19% ระบุว่า ต้องการให้สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศ จนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก รองลงมา 63.66% ให้รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี ขณะที่ 30.00% ให้ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก ส่วน 29.47% เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก และ  21.91% อยากให้มีเงินรางวัลจูงใจสำหรับเด็กแรกเกิด


อัตราการเกิดใหม่ ‘ลดลง’ อย่างต่อเนื่อง รายงานชี้อีก 30 ปีข้างหน้า ต่ำกว่า 5 แสนต่อปี


จากรายงานเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในประเทศไทย ที่เผยแพร่โดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ระบุว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 โดยจะลดจํานวนลงไปอีกอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รายงานระบุว่า ผลจากการประมาณประชากรขั้นต่ำ ยังชี้ให้เห็นถึงจำนวนการเกิดในแต่ละปีมีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือน้อยกว่า 500,000 รายต่อปีในช่วงปี พ.ศ. 2588-2593 หรืออีกเพียงสามสิบกว่าปีข้างหน้านี้



ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ออกมาเปิดเผยว่า ในปี 2566 ประเทศไทยประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงต่อเนื่อง จากเดิมในปี 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ลดเหลือ 502,107 คน ในปี 2565 และอาจต่ำกว่า 500,000 คน ในปี 2566 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เวียดนาม เกาหลีใต้ และอีกกว่า 120 ประเทศ


ขณะที่จำนวนการเกิดลดลงจำนวนผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์คือ มีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 และในปี 2579 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดคือ มีประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปร้อยละ 30 ทำให้ในปี 2566 นี้ เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน อายุ 20-24 ปี ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากร ที่ออกจากวัยแรงงาน อายุ 60-64 ปีได้


จับตา ขาดแคลนเด็กแรกเกิด ส่งผล ‘วิกฤตแรงงาน’

 

การขาดแคลนเด็กแรกเกิด ไม่เพียงแต่จะทำตัวเลขอัตราเกิดในประเทศไทยลดลงเท่านั้น ยังส่งผลถึงวิกฤตแรงงานในวันข้างหน้าอีกด้วย โดยข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียง 12.8% วัยทำงาน 56% วัยสูงอายุ 31.2% ซึ่งจะทำให้ภาระพึ่งพิงวัยแรงงานเพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งนับเป็นภาระหนักของวัยแรงงาน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว หรือบุตร


สอดคล้องกับที่ ‘รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์’ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ระบุไว้ว่า ผลกระทบระยะยาวจากการขาดแคลนเด็กแรกเกิดนั้น เป็นที่แน่ชัดว่าจะเกิดปัญหาและภาวการณ์หลายสิ่งอย่างที่จะต้องเตรียมการรับมือและพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การขาดแคลนแรงงาน สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปัญหาความมั่นคง ขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ และปัญหาทางเศรษฐกิจ


แจก 600 บาท ดูแลเด็กแรกเกิด หนุนคนไทยมีลูก ศึกษาพบ ‘ภาวะตัวหล่น’ ถึง 30%


ขณะที่อีกหนึ่งในมาตรการสนับสนุนการมีลูกของรัฐบาลไทย คือโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด หรือ “เงินอุดหนุนบุตร” โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน โดย “เงินอุดหนุนบุตร” เป็นโครงการของรัฐบาลที่ช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดไปจนถึง 6 ปี ให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยหรือเสี่ยงต่อความยากจน โดยมีเงื่อนไขสมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี โดยรัฐจะช่วยออกค่าเลี้ยงดูบุตรให้คนละ 600 บาท/เดือน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี 



อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีโครงการดังกล่าวออกมาหนุนค่าใช้จ่ายเด็กแรกเกิด อีกด้านหนึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า จากการประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของโครงการดังกล่าว ซึ่งกำหนดเงื่อนไข/คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะครอบครัวยากจนหรือเสี่ยงจน จะต้องมีผู้รับรองและผ่านการอนุมัติการขอลงทะเบียน เป็นเหตุให้เกิดภาวการณ์ 2 รูปแบบ คือ “ภาวะรั่วไหล” หรือคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายแต่ได้รับเงิน (Inclusion error)  และ “ภาวะตกหล่น” หรือการเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง (Exclusion error)  และจากการศึกษาพบว่ายังมีภาวการณ์ตกหล่นถึง 30% นั่นหมายความว่า อาจส่งผลให้เกิดการกีดกันไม่ให้คนจนเข้าถึงเงินอุดหนุนมากขึ้น


"ชลน่าน" เร่งดัน "ส่งเสริมมีบุตร" เป็นวาระแห่งชาติ


ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมากล่าวถึงสถานการณ์ 'การมีบุตร' ไว้เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงวาระพิเศษ โดยชลน่าน ได้ให้ความเห็นว่า เพราะสภาวะเศรษฐกิจสังคมแบบนี้ ทำให้คนตัดสินใจจะมีคู่ครองก็ลำบาก มีคู่ครองก็ตัดสินใจที่จะมีลูกลำบาก เพราะคำนึงถึงโอกาสของลูก แต่ตนก็เข้าใจในมุมนั้น แต่จะต้องรับผิดชอบสร้างภาวะแวดล้อม สร้างโอกาส ความเป็นไปได้ ขจัดปัจจัยให้ลดน้อยที่สุด เพื่อให้ตัดสินใจเข้ามามีหน้าที่ดำรงเผ่าพันธุ์ โดยเด็กแรกเกิดต่อปีตัวเลขที่เหมาะสม 2.1 ต่อแสนประชากร ก็อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน


ส่วนการทำให้คนอยากมีลูกนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สธ.จะทำหน้าที่ในส่วนของอนามัยเจริญพันธุ์ ส่งเสริมคนมีลูกให้มีความพร้อม ส่วนจะผลักดันเสนอความพร้อมด้านอื่นๆ จำเป็นต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ จะเสนอนายกฯ เข้าครม. ต่อไป


ภาพ : TNNOnline  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง