เปิดวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เด็กจมน้ำ
วันนี้ (19ก.พ.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวเกิดเหตุเด็ก 2 ขวบ จมสระว่ายน้ำในพูลวิลล่า และเมื่อนำเด็กขึ้นจากน้ำได้ทำการปฐมพยาบาลด้วยวิธีด้วยการอุ้มพาดบ่านั้นเป็นวิธีที่ผิด ซึ่งกรมควบคุมโรคขอให้ข้อมูลว่า การปฐมพยาบาลคนจมน้ำที่ถูกต้องคือ เมื่อช่วยคนจมน้ำขึ้นมาแล้ว อย่าพยายามเอาน้ำออกจากท้อง โดยการอุ้มพาดบ่าแล้วกระแทก หรือกดท้อง เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียเนื่องจากคนจมน้ำจะอาเจียนและอาจสำลักน้ำ มีผลทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น
สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือคนจมน้ำให้ปฏิบัติ ดังนี้
1) โทรศัพท์แจ้งทีมแพทย์กู้ชีพที่หมายเลข 1669 หรือหน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด
2) จับคนจมน้ำนอนบนพื้นราบ แห้ง และแข็ง พร้อมตรวจดูว่าคนจมน้ำรู้สึกตัวหรือไม่
หากรู้สึกตัวให้เช็ดตัวให้แห้ง ห่มผ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และนำส่งโรงพยาบาล
แต่หากไม่รู้สึกตัวให้ช่วยหายใจโดยการเป่าปาก 2 ครั้ง และกดหน้าอก 30 ครั้ง โดยกดให้ยุบประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที
ทำสลับกันไปจนกว่าคนจมน้ำจะรู้สึกตัวและหายใจได้เอง หรือจนกว่ารถทีมแพทย์กู้ชีพจะมาถึง และนำส่งโรงพยาบาลทันที
จากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2564) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 7,374 ราย เฉลี่ยปีละ 737 ราย หรือวันละ 2 ราย และจากข้อมูลเบื้องต้นของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2564 เพียงปีเดียว มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จมน้ำเสียชีวิต ถึง 219 ราย คิดเป็นร้อยละ 33.3 ของการจมน้ำเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และเป็นกลุ่มเด็กที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำต่อประชากรเด็กแสนคนสูงที่สุด เท่ากับร้อยละ 6.9 และจากข้อมูลระบบรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ
กรมควบคุมโรค ที่ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์ตกน้ำ จมน้ำของเด็ก ในปี 2564 จำนวน 232 เหตุการณ์ พบว่าขณะเด็กจมน้ำ เด็กอยู่กับผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถึง ร้อยละ 35.9 ซึ่งส่วนใหญ่ในขณะนั้นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กกำลังประกอบอาชีพ (ร้อยละ 50) และหลังจากช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้วมีการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่ผิดวิธีด้วยการอุ้มพาดบ่ามากถึง ร้อยละ 27.6
“เด็กจมน้ำนับว่าเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้น หากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กพลาดสายตาจากเด็กเพียงเสี้ยววินาที เด็กอาจจมน้ำได้ และหากจมน้ำเพียง 4-6 นาที สมองจะถูกทำลายถาวรหรือเสียชีวิตได้ จึงขอเน้นย้ำผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กควรดูแลไม่ให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำได้เองตามลำพัง และสำหรับเด็กเล็กควรให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา และกำหนดให้มีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก โดยมีรั้วหรือผนังกั้นทั้ง 4 ด้าน” นพ.โอภาส กล่าว
ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค
ภาพจาก AFP