ส่อง KSL หลายปัจจัยหนุน ราคาน้ำตาล-กำไรปี 65
ทันหุ้น - บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ออกบทวิเคราะห์ หุ้น บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL จากผลผลิตน้ำตาลของบราซิลที่ลดลงต่ำกว่าคาด เพราะความแปรปรวนของอากาศ ทำให้แนวโน้มภาวะน้ำตาลโลกปี 2564/65 จะขาดดุลเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน แต่ราคาน้ำตาลได้รับรู้ประเด็นบวกดังกล่าวแล้ว เพราะราคาน้ำตาล 2564YTD ปรับขึ้นถึง 34% Y-Y อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังมองว่าราคาน้ำตาลหลังจากนี้น่าจะยังทรงตัวสูง แกว่งตัวอยู่ในกรอบ 17.5-19.5 เซนต์ต่อปอนด์ จาก 3 เหตุผลคือ Demand กลับมาฟื้นตัวหลัง COVID-19 คลี่คลาย, การส่งออกน้ำตาลของอินเดียมีแนวโน้มลดลง และยังต้องติดตามผลผลิตอ้อยไทยอาจฟื้นน้อยกว่าที่คาด หากผลผลิตเสียหายจากปริมาณน้ำในปีนี้ที่มากขึ้น ขณะที่คาดกำไรสุทธิปี 2565 จะกลับมาสดใสแตะระดับ 1 พันลบ.ครั้งแรกในรอบ 5 ปี จากราคาขายที่สูงขึ้น และผลผลิตอ้อยมากขึ้น ยังคงเป้าปี 2565 ที่ 4.7 บาท แนะนำเก็งกำไร
ทั้งนี้คาดการณ์ภาวะน้ำตาลโลกปีหน้า 2564/65 ยังขาดดุลราว -2-3 ล้านตัน ถือเป็นการขาดดุลปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยหลักมาจากปัญหาความผันผวนของสภาพอากาศจากภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า ทำให้ตลาดคาดผลผลิตน้ำตาลของบราซิล 2021/22 ไว้ที่ 32 ล้านตัน (-17% Y-Y) ถัดมาได้เผชิญกับอากาศแปรปรวนเป็นหนาวเย็น ล่าสุดมีการปรับลดผลผลิตลงเหลือ 28 ล้านตัน 27.3% Y-Y) ปัจจุบันหีบไปแล้ว 70% จะหีบเสร็จในช่วงปลายปี ขณะที่คาดผลผลิตอินเดียจะทรงตัวอยู่ที่ 31.5 ล้านตัน แต่อาจมีปัจจัยหนุนที่การส่งออกอาจลดลงจาก 6.6 ล้านตันในปี 2563/64 มาอยู่ที่ 2-3 ล้านตันในปี 2564/65 หลังราคาน้ำตาลโลกปรับขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะไม่มี Subsidy จากภาครัฐเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา (ซึ่งเป็นช่วงราคาน้ำตาลตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนในอินเดียสูงกว่าราคาตลาดโลก) สุดท้ายคือ ผลผลิตอ้อยไทยปี 2564/65 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 85-90 ล้านตัน จาก 66 ล้านตันในปี 2563/64 ปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปี แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทาให้ภาวะน้าตาลโลกพลิกเป็นเกินดุลได้
มองราคาน้ำตาลเริ่มสะท้อนประเด็นบราซิลไปแล้ว แต่คาดยังทรงตัวสูงได้ ฝ่ายวิจัยมองว่าราคาน้ำตาลโลก 2564YTD เฉลี่ยที่ 17.21 เซนต์ต่อปอนด์ ปรับขึ้นมาแล้ว 11% YTD และ +34% Y-Y และปัจจุบันราคาเฉลี่ยเดือน ก.ย. อยู่ที่ 19.38 เซนต์ต่อปอนด์ ทรงตัว M-M ได้เริ่มสะท้อนประเด็นผลผลิตของบราซิลลดลงต่ำกว่าคาดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เรายังมองว่าแนวโน้มราคาน้ำตาลหลังจากนี้น่าจะยังทรงตัวสูงอยู่ในกรอบ 17.5-19.5 เซนต์ต่อปอนด์ โดยมี 3 Catalyst หลักคือ 1. คาดหวัง Demand กลับมาฟื้นตัว หลัง COVID-19 คลี่คลาย 2. ปริมาณการส่งออกจากอินเดียจะลดลงหลังไม่มี Subsidy และเริ่มน้ำอ้อยไปผลิตเอธานอลมากขึ้น และ 3. การฟื้นตัวของผลผลิตอ้อยไทยอาจต่ำกว่าคาด หากผลผลิตเสี่ยหายจากปริมาณน้ำในปีนี้ที่เยอะขึ้น
ผลการดำเนินงานจะฟื้นกลับมาแตะระดับ 1 พันลบ.ในปี 2565 ปัจจุบันอนท.ได้ทยอยล็อกราคาขายน้ำตาลส่งออกในปี 2565 ไปแล้วราว 30% ที่ราคาเฉลี่ย (รวม Premium) 19.5 เซนต์ต่อปอนด์ (+12% Y-Y) คาดว่าบริษัทจะทยอยล็อกในปริมาณและราคาขายที่ใกล้เคียงหรืออาจสูงกว่าอนท.เล็กน้อย กอปรกับปริมาณขายน้ำตาลที่จะกลับมาดีขึ้น จากทั้งปริมาณอ้อยที่สูงขึ้น และความต้องการบริโภคฟื้นตัวหลัง COVID-19 คลี่คลาย นอกจากนี้ ปริมาณอ้อยที่มากขึ้น จะส่งผลบวกต่อไปยังธุรกิจต่อเนื่องทั้งโรงไฟฟ้า และเอธานอล ทำให้มีเชื้อเพลิงมากขึ้น ลดการซื้อเชื้อเชื้อเพลิงจากภายนอก จึงคาดเห็นการฟื้นตัวทั้งรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2565 กลับมาสดใสอีกครั้ง และคาดกำไรสุทธิปี 2565 จะเติบโตกลับสู่ระดับ 1,181 ลบ. (+106% Y-Y) ระยะสั้นคาดกำไร Q4/64 (ส.ค ต.ค.) จะยังไม่สดใสเพราะเป็น Low Season และจะกลับมาฟื้นตั้งแต่ Q1/65 (พ.ย.21-ม.ค.22) เป็นต้นไป ยังคงราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 4.7 บาท (อิง PBV 1 เท่า) และแนะนำเก็งกำไรตามราคาน้ำตาลตลาดโลก