รีเซต

ย้อนโศกนาฏกรรมสหรัฐฯ รถเก่า-กฎหมายมีช่องโหว่ ทำเด็กนักเรียนเสียชีวิต

ย้อนโศกนาฏกรรมสหรัฐฯ รถเก่า-กฎหมายมีช่องโหว่ ทำเด็กนักเรียนเสียชีวิต
TNN ช่อง16
2 ตุลาคม 2567 ( 14:40 )
13
ย้อนโศกนาฏกรรมสหรัฐฯ รถเก่า-กฎหมายมีช่องโหว่ ทำเด็กนักเรียนเสียชีวิต

วันที่ 1 ตุลาคม เกิดเหตุการณ์สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนทั่วประเทศ เมื่อรถบัสคันหนึ่ง พร้อมกับผู้โดยสารที่เต็มไปด้วยนักเรียนและคุณครู มากกว่า 40 คน เกิดเพลิงลุกไหม้ บริเวณถนนหน้าเซียร์รังสิต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 23 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน 


โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ทำให้สังคมเกิดคำถามมากมาย เกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็ก เมื่อออกจากอ้อมอกพ่อแม่ เพราะอุบัติเหตุนี้เกิดขึ้นระหว่างพานักเรียนไปทัศนศึกษา จนหลายคนเกิดความกังวลใจไม่อยากให้ลูกเดินทางไกลไปกับโรงเรียน เพราะกลัวว่า เหตุการณ์จะซ้ำรอย 


เหตุรถโรงเรียนประสบอุบัติเหตุจนทำให้เด็กเสียชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ไทยเท่านั้น แต่เหตุที่คล้ายกันนี้ เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และบางครั้ง ต้นตออาจจะมาจากสิ่งที่ผู้ใหญ่ละเลย จนต้องทำให้เกิดมาตรการรัดกุมขึ้นมาในภายหลัง 


---รถโรงเรียนชนรถบรรทุก นักเรียนตาย พบรถโรงเรียนไม่มีเข็มขัดนิรภัย---


หากจะพูดถึงอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถโรงเรียน จนทำให้เกิดการตื่นตัวถึงความปลอดภัยของเด็กมากขึ้นในสหรัฐฯ คงเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2024 เวลาประมาณ 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น 


รถบัสของโรงเรียนทอม กรีนส์ จากเขตการศึกษาอิสระเฮย์ส บรรทุกผู้โดยสารเป็นเด็กนักเรียนอนุบาล 44 คน และผู้ใหญ่อีก 11 คน ชนเข้ากับรถบรรทุกระหว่างเดินทางกลับจากการไปทัศนศึกษาที่สวนสัตว์บาสทรอปเคาน์ตี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย นักเรียนและคุณครูบาดเจ็บหลายสิบคน 


เหตุการณ์ครั้งนั้น สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ปกครองอย่างมาก เพราะหนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตมีเด็กรวมอยู่ด้วย


จากการสอบสวน พบว่า คนขับรถบรรทุกเสพยาก่อนที่จะขับรถประสานงากับรถโรงเรียนคันดังกล่าว และที่น่าตกใจไปมากกว่านั้น คือ รถโรงเรียนคันนี้ ไม่มีเข็มขัดนิรภัย แม้รัฐเท็กซัสจะผ่านกฎหมายบังคับให้รถบัสแต่ละคัน ที่ใช้ขนส่งนักเรียนจะต้องมีเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดมาตั้งแต่ปี 2017 


---มีกฎหมายควบคุมตั้งแต่ปี 2017 แต่ทำไมรถโรงเรียนเท็กซัสถึงไม่มีเข็มขัดนิรภัย---


ปี 2017 รัฐเท็กซัสผ่านร่างพระราชบัญญัติ มาตรา 693 ระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติ ครั้งที่ 85 ระบุว่า รถบัสโดยสารจำเป็นต้องมีเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ให้กับผู้โดยสารทุกคน 


กฎหมายนี้มีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากอุบัติเหตุอันน่าเศร้า เมื่อนักเรียน 2 คนเสียชีวิต หลังรถโรงเรียนในเขตการศึกษาอิสระฮูสตันตกลงมาจากสะพานในปี 2015 เหตุการณ์นี้ทำให้ “ซิลเวีย การ์เซีย” วุฒิสมาชิกรัฐเท็กซัส ร่างพระราชบัญญัติ มาตรา 693 และผลักดันร่างดังกล่าว จนทำให้กลายเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้


เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายนี้ จะพบว่า รัฐเท็กซัสมีกฎหมายที่ควบคุม และดูแลเรื่องความปลอดภัยของการขนส่งนักเรียนอยู่ แต่กฎหมายดังกล่าว บังคับใช้เฉพาะรถบัสรุ่นที่ผลิตในปี 2018 เป็นต้นไป 


กฎหมายไม่ได้กำหนดให้รถโรงเรียนรุ่นเก่า ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเพิ่มเติม และยังอนุญาตให้โรงเรียนในรัฐเท็กซัส เลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดได้ หากคณะกรรมการโรงเรียนพิจารณาแล้วว่า งบประมาณไม่สามารถจัดซื้อรถบัสที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ 


โดยในเดือนสิงหาคม 2018 เขตการศึกษาอิสระฮูสตัน พบว่า จำนวนรถโดยสารประจำทางทั้งหมด 1,132 คัน มี 420 คันที่ใช้เข็มขัดนิรภัยแบบพาดตัก (Lap Belts) มีเพียง 173 คันเท่านั้นที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด และมีรถบัสหลายคันไม่มีเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด เนื่องจากเป็นรถบัสรุ่นเก่า 


ขณะที่ เขตการศึกษาอิสระเฮย์ส ซึ่งเป็นคันที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อเดือนมีนาคม มีรถโรงเรียนประมาณ 40 คัน จากทั้งหมด 200 คัน เป็นรุ่นที่ผลิตก่อนปี 2017 คิดเป็น 20% ของจำนวนรถโรงเรียนทั้งหมดที่วิ่งอยู่ในเท็กซัส 


แน่นอนว่า รถบัสคันที่เกิดเหตุ เป็นรุ่นที่ผลิตในปี 2011 และไม่จำเป็นต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บังคับใช้ย้อนหลังกับรถรุ่นเก่า 


---เขตการศึกษาเข้มงวดใช้เข็มขัดนิรภัย หลังเกิดเหตุ---


หลังเกิดเหตุได้เพียง 3 อาทิตย์ เขตการศึกษาอิสระเฮย์ส ในรัฐเท็กซัส เร่งอนุมัติแผนเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถโรงเรียนใหม่ รวมถึงติดตั้งเข็มขัดนิรภัยบนรถรุ่นเก่าด้วย เพื่อทำให้รถบัสโดยสารทุกคัน มีเข็มขัดนิรภัยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าตัวกฎหมายจะไม่บังคับก็ตาม 


การอนุมัติแผนดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความกังวลของผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของการเดินทางรับส่งโรงเรียน 


“เราอาจไม่รู้ได้แน่ชัดว่า เข็มขัดนิรภัยบนรถโรงเรียนจะทำให้ชะตาชีวิตของ ‘อูลิซิส’ (นักเรียนที่เสียชีวิต) แตกต่างไปหรือไม่ แต่ถ้ามีโอกาส ก็จะทำเช่นนั้น เขตการศึกษาอิสระเฮย์สจะทำมากเกินความจำเป็น และเราจะทำสิ่งนั้น” 


“เขตการศึกษาอิสระเฮย์สให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และไม่ลังเลที่จะทุ่มค่าใช้จ่ายไปกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อนักเรียนและบุคลากร ซึ่งรวมถึงอาคารเรียนและรถบัสด้วย” ถ้อยคำส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของเขตการศึกษาอิสระเฮย์ส ระบุ 


---สังคมเรียกร้อง #ยกเลิกทัศนศึกษา กลัวเกิดเหตุซ้ำรอย---


จากกรณีรถบัสนักเรียนไฟไหม้หน้าเซียร์รังสิต ระหว่างไปทัศนศึกษา จนส่งผลให้เด็ก-คุณครูเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุการณ์นี้ ทำให้เสียงสังคมส่วนหนึ่งออกมาเรียกร้อง “ยกเลิกทัศนศึกษา” เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีกกับนักเรียนคนอื่น ๆ 


ขณะเดียวกัน สังคมอีกส่วนมองว่า ไม่ควรยกเลิกทัศนศึกษา โดยมองว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเด็กควรจะได้สัมผัสประสบการณ์นอกห้องเรียนบ้าง และไม่ใช่ผู้ปกครองทุกคน จะมีทุนทรัพย์พาลูกของตนเองออกไปเที่ยวได้ การพาไปทัศนศึกษาของโรงเรียน ถือเป็นการพาเด็กออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน เพียงแต่สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางมาตรการให้รัดกุมและปลอดภัยกับนักเรียนทุกคน รวมถึงบุคลากรด้วย


นอกจากนี้ มีการแนะนำจัดสถานที่พาเด็กไปทัศนศึกษาให้ขึ้นอยู่กับระดับชั้นเรียนด้วย เช่น เด็กเล็กอาจจะเดินทางในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ไกลจากโรงเรียนมาก เด็กโตอาจจะเดินทางไปต่างจังหวัดได้ เป็นต้น 


ทั้งนี้ ทัศนศึกษาถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในวิชาเรียน ผลการศึกษาจากสมาคมการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของครูและบุคลากรด้านการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า ไม่ว่านักเรียนจะเป็นเพศไหน เชื้อชาติอะไร หรือมีสถานะทางสังคมอย่างไร 59% ของนักเรียนที่ได้ไปทัศนศึกษามีเกรดที่ดีขึ้น, อัตราสำเร็จการศึกษาสูงขึ้น ระดับมัธยมปลายอยู่ที่ 95% มหาวิทยาลัย 63% และมีรายได้มากขึ้น 12% ต่อปี 


ผู้เข้าร่วมการศึกษา 89% ระบุด้วยว่า ทัศนศึกษาส่งผลในแง่บวก ส่งผลที่ยั่งยืนต่อการศึกษา และอาชีพการงานของพวกเขา เพราะว่า ทัศนศึกษาทำให้พวกเขาได้มีส่วนร่วม, เกิดความอยากที่จะเรียนรู้ และมีความสนใจทั้งในและนอกโรงเรียน


---ย้อนมองเหตุการณ์ไทย-สหรัฐฯ รัดกุมความปลอดภัย เพื่ออนาคตของชาติ--- 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน” เป็นสิ่งที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 เหตุการณ์ เพราะสังคมไทยเองก็เกิดความสงสัยต่อมาตรฐานของรถบัสคันดังกล่าว ทำไมถึงมีอายุการใช้งานมายาวนาน และใช้รับส่งนักเรียน จนเกิดอุบัติเหตุน่าเศร้าเช่นนี้ 


แม้จะมีกฎหมายควบคุม แต่ต้องยอมรับว่า บ้านเรามีช่องโหว่ทางกฎหมาย และการตรวจสอบยังไม่รัดกุมมากพอที่จะครอบคลุมได้ทุกมิติ คล้ายกับกรณีรถโรงเรียนเท็กซัส ที่ถึงจะมีกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ความว่า รถบัสโรงเรียนทุกคันต้องปฏิบัติตาม จนทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้โรงเรียนในรัฐเท็กซัสต้องใส่ใจเรื่องเข็มขัดนิรภัยมากขึ้น 


สำหรับประเทศไทย เหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นนี้ จะกลายเป็นบทเรียนแก่หน่วยงานหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจเรื่องความปลอดภัยในรถขนส่งสาธารณะมากขึ้น ตลอดจนบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะรถที่รับส่งนักเรียนเป็นประจำ เพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุซ้ำรอยแบบนี้อีกครั้ง 


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์  

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://mckaylawtx.com/texas-school-buses-have-safety-problems-in-2024/

https://www.neamb.com/work-life/how-field-trips-boost-students-lifelong-success

https://www.usatoday.com/story/news/nation/2024/03/29/texas-bus-crash-driver-jerry-hernandez-homicide-charge/73144048007/

https://globalnews.ca/news/10379510/texas-school-bus-crash/

https://stnonline.com/news/texas-school-district-adopts-accelerated-seatbelt-plan-following-fatal-bus-crash/

https://www.kut.org/education/2024-04-15/hays-cisd-school-bus-crash-seat-belts-austin-texas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง