รีเซต

พบซากปลากระเบนเจ้าพระยา ยาวกว่า 2 เมตร ลอยขึ้นอืด ตายในคลองบางสองร้อย

พบซากปลากระเบนเจ้าพระยา ยาวกว่า 2 เมตร ลอยขึ้นอืด ตายในคลองบางสองร้อย
มติชน
8 กุมภาพันธ์ 2565 ( 19:12 )
118
พบซากปลากระเบนเจ้าพระยา ยาวกว่า 2 เมตร ลอยขึ้นอืด ตายในคลองบางสองร้อย

ข่าวสด เมื่อเวลา 15.00 น. 8 ก.พ. นายจำนงค์ จันทวงศ์ ปลัดฝ่ายป้องกันอำเภอเมืองราชบุรี ว่าที่ร้อยตรีมารุต นุตตะโร ประมงอำเภอเมือง นางอ้อย บ้านโก๋ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลหลุมดิน เข้าตรวจสอบปลากระเบนตัวใหญ่ ลอยขึ้นอืด ตายอยู่เหนือผิวน้ำ คลองบางสองร้อย ม.4 ต.หลุมดิน อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่เกิดเหตุเป็นช่วงคุ้งน้ำในลำคลองที่ห่างจากประตูน้ำไหลกว่า 2 กิโล เชื่อมต่อลงสู่แม่น้ำแม่กลอง

 

นางอ้อย บ้านโก๋ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลหลุมดิน เผยว่า ช่วงบ่ายที่ผ่านมาได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบปลาขนาดใหญ่ลอยตายอยู่บนผิวน้ำ จึงได้แจ้งไปยัง กำนันและผู้ใหญ่บ้านทราบ ก่อนประสานไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุ

 

ว่าที่ร้อยตรีมารุต นุตตะโร ประมงอำเภอเมือง กล่าวว่า จากการตรวจสอบซากกระเบนเบื้องต้น ไม่พบบาดแผลหรือร่องรอยของการถูกทำร้าย ส่วนขนาดและน้ำหนักขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 กก.ขึ้นไป แต่ไม่น่าจะเกินกว่า 100 กก. ลำตัวแผ่กว้างสุดปลายปีกประมาณ 1.5 เมตร และยาวจากหัวจรดปลายหางประมาณเกือบ 2 เมตร ไม่ทราบเพศเนื่องจากซากอยู่ในสภาพเน่าเปื่อยแล้ว โดยเชื่อว่าน่าจะตายมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 วัน

 

ส่วนสาเหตุการตายนั้น เชื่อว่ากระเบนราหูหรือกระเบนเจ้าพระยาตัวนี้ น่าจะหลงน้ำเข้ามาจากแม่น้ำแม่กลองในช่วงน้ำขึ้นที่ผ่านมา ก่อนเข้ามาถึงจุดเกิดเหตุซึ่งเป็นลำคลองที่คับแคบและหาทางกลับออกไปสู่ในแม่น้ำไม่ได้หรือหลงน้ำ ประกอบกับในลำคลองสายนี้ยังมีสภาพที่ตื้นเขิน

 

สอบถามจากชาวบ้านทราบว่าในขณะที่น้ำลงต่ำสุด มีความลึกเพียงประมาณ 2 เมตรเศษ ทั้งในลำคลองยังกว้างเพียง 8 -10 เมตร ขณะที่ตามชายคลองยังมีต้นไม้และวัชพืชขึ้นรกปกคลุมไปตลอดตามแนวตลิ่ง จึงยิ่งทำให้ลำคลองคับแคบลงไปอีก กระเบนราหูที่หลงเข้ามาจึงปรับสภาพไม่ทัน เนื่องจากตามปกติแล้วกระเบนราหู เป็นกระเบนน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากกระเบนน้ำเค็ม (แมนตา) ที่อาศัยอยู่ในน้ำลึก อย่างน้อย 8-10 เมตร และหากินอยู่ในระดับผิวดินใต้น้ำโดยที่จะไม่โผล่ขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ

 

ประกอบกับช่วงระยะ 3-4 วันที่ผ่านมา สภาพอากาศในพื้นที่ค่อนข้างร้อนและอบอ้าว มีแสงแดดแรง เมื่อกระเบนเข้ามาอยู่ในบริเวณน้ำตื้นจึงทำให้ทนต่อสภาพอุณหภูมิของน้ำที่สูงไม่ไหว จึงตายลงในที่สุด โดยปกติกระเบนน้ำจืดขนาดใหญ่ลักษณะนี้ มักจะพบได้ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และลึก เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง และแม่กลอง จึงทำให้มีชื่อเรียกทางสายพันธุ์ทั่วไปว่า กระเบนเจ้าพระยา และยังเป็นสัตว์น้ำคุ้มครองอีกด้วย ซึ่งหลังจากนี้ จะได้ทำการเก็บซากเพื่อนำไปฝังกลบต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง