โควิด-19 : ตม.สงขลายืนยันดูแลผู้ต้องกักที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างดี ส่งไปรักษาต่อที่ รพ.แล้ว 6 คน

ผู้ต้องกักชาวต่างชาติที่อยู่ระหว่างรอส่งกลับประเทศจำนวน 42 คน ภายในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สะเดา จ.สงขลา กลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนกลุ่มล่าสุด กำลังสร้างความกังวลในกลุ่มเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติถึงมาตรฐานการดูแลในสถานที่กักของรัฐ
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานการตรวจผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในกรณีนี้ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.เป็นชาวเมียนมา 34 ราย เวียดนาม 3 ราย มาเลเซีย 2 ราย เยเมน 1 ราย กัมพูชา 1 ราย และอินเดีย 1 ราย โดยโฆษก ศบค. แถลงว่าการตรวจหาโรคในกลุ่มนี้เป็นการสืบหาโรคเชิงรุกภายหลังสิงคโปร์พบการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
- โควิด-19 : ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 53 ราย จากการตรวจกลุ่มแรงงานข้ามชาติซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงรายใหม่
- โควิด-19 : แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายกับความยากลำบากในการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ
- โควิด-19 : พยาบาลชายแดนใต้ผู้ไม่ย่อท้อกับภารกิจปราบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
"หากที่ (ตม.) สะเดา เจอผู้ติดเชื้อ ถามว่าแล้ว ตม.ที่อื่นจะไม่เจอหรือ เพราะ ตม. เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด โอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อสูง" อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ กล่าวกับบีบีซีไทย
"ห้องกักโดยทั่วไป ไม่เหมาะสำหรับการกักระยะยาว ไม่มีความพร้อมในการดูแลป้องกันโรคและการเจ็บป่วยด้วยโรคระบาด"
ขณะที่ พ.ต.อ.มานะ นาคทั่ง รองผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 รักษาการผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ซึ่งดูแลรับผิดชอบศูนย์กักที่เกิดเหตุ ยืนยันกับบีบีซีไทยว่าได้มีการแยกผู้ติดเชื้อทั้งหมดและจัดห้องให้อยู่อย่างเหมาะสมตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย และมีทีมแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ยอมรับว่าคงต้องดูแลผู้ต้องกักทั้งหมดไปอีกนาน เพราะกระบวนการส่งกลับไม่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีการปิดน่านฟ้าและระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งไม่รู้ว่าจะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่
ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ 42 คน หนึ่งในนั้นเป็นหญิงตั้งครรภ์ และอีก 5 คน มีอาการปอดอักเสบ ขณะนี้ถูกส่งตัวออกมารักษาที่โรงพยาบาลภายนอกศูนย์กักแล้ว
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องมาตรการป้องกันและดูแลกลุ่มประชากรข้ามชาติ จากกรณีพบผู้ป่วยต่างชาติในห้องกัก สตม.สะเดา เรียกร้องให้รัฐกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในรักษาของผู้ป่วยที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยที่สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข โดยอาจจะพิจารณาเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยในห้องกัก และการจัดหาพื้นที่ในการดูแลชั่วคราวสำหรับผู้ถูกกักเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
เว้นระยะห่าง (Physical distancing) เป็นไปไม่ได้เมื่ออยู่ในห้องกัก
ผู้ต้องกักที่รอการส่งกลับ ไม่ใช่แค่แรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเพียงกรณีเดียว แต่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีหลายสถานะ อดิศรบอกว่าชาวต่างชาติที่อยู่ในห้องกัก ตม. มีทั้งผู้ลี้ภัย คนไร้รัฐ ส่วนกลุ่มที่ผิดกฎหมายเข้าเมืองอาจเป็นผู้ที่อยู่เกินกำหนดวีซ่า (overstay)
สำหรับ ตม.สะเดา มีทั้งกลุ่มที่ถูกจับกุมในพื้นที่ภาคใต้เพื่อรอผลักดันกลับประเทศต้นทาง กลุ่มที่ถูกส่งมาจากมาเลเซียเพื่อส่งต่อกลับไปยังเมียนมา แต่ยังส่งกลับไม่ได้เนื่องจากมีการปิดด่านชายแดน ในจำนวนนี้เป็นชาวโรฮิงญาและอุยกูร์
อดิศรอธิบายลักษณะทางกายภาพของห้องกักว่ามีลักษณะคล้ายห้องขัง ตึกหนึ่งมีสองฝั่ง แยกหญิงชาย แต่คนในห้องกักอยู่รวมกัน ในระยะนี้คาดว่าผู้ต้องกักน่าจะมีจำนวนมากเพราะส่งกลับไม่ได้ เขาบอกว่า "การจะห่างกันเกิน 1 เมตร มันเป็นไปไม่ได้ในเชิงพื้นที่ เท่าที่รู้คือส่วนใหญ่เป็นหลักร้อย"
เสนอย้ายผู้ป่วยมาอยู่ใน รพ.สนาม-จัดหาพื้นที่ในการดูแลชั่วคราวสำหรับผู้ต้องกัก
แม้หลังจากวันที่ 25 เม.ย.จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม แต่เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเห็นว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ควรจัดระบบการกักกันให้ผู้ต้องกักทั้งหมดไม่ให้อยู่โซนเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่ม รวมถึงการจัดหาพื้นที่ในการดูแลชั่วคราวสำหรับผู้ถูกกัก ซึ่ง สตม. มีอำนาจทำได้ตามมาตรา 54 วรรคสามของ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในการจัดพื้นที่ดูแล หรือใช้มาตรการอื่นตามอำนาจของเจ้าพนักงานตามมาตรา 54 ดำเนินการตามความเหมาะสมกับการระบาดของโรค
"อาจต้องย้ายตัวผู้ต้องกักคนอื่นไปอยู่พื้นที่อื่นก่อนเพื่อให้ทำงานได้สะดวก ไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรค" อดิศรกล่าวกับบีบีซีไทย
ไม่ใช่แค่ที่ ตม.สะเดา อดิศรบอกว่า สถานที่กักกันแห่งอื่นมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน สตม.ควรตรวจหาเชื้อทุกห้องกักซึ่งเป็นสถานที่ที่ "มีความเสี่ยงสูง"
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติยังเรียกร้องให้รัฐกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยที่ไม่มีสัญชาติไทยที่สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการพิจารณานำผู้ต้องกักออกมารักษาในโรงพยาบาลสนามภายนอกศูนย์กัก
"เข้าใจว่ากลัว (ผู้ต้องกัก) หนี สำหรับผมผู้ต้องกักคือคนที่รับโทษไปแล้วรอการส่งกลับ ท้ายที่สุด ไม่แน่ใจว่าโดยสภาพห้องกักเหมาะที่จะแปลงเป็นห้องพยาบาลหรือไม่ เพราะห้องกักที่ ตม.สะเดา ไม่ได้ถือว่าใหญ่มาก"
หนึ่งในผู้ถูกกักที่ติดเชื้อเป็นหญิงตั้งครรภ์
ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ 42 คน หนึ่งในนั้นเป็นหญิงตั้งครรภ์ และอีก 5 คน เป็นผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ขณะนี้ได้ถูกส่งตัวออกมารักษาภายนอกศูนย์กักแล้ว
นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.สงขลา ระบุกับบีบีซีไทยว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดได้ดูแลและส่งตัวหญิงตั้งครรภ์ไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนผู้ต้องกักอีก 5 รายที่มีอาการปอดอักเสบ ส่งตัวออกมารักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ส่วนอีก 36 คน รักษาตัวอยู่ในภายในศูนย์กักของ ตม. โดยได้จัดแพทย์ 1 คน และพยาบาล 2 คน ติดตามอาการเข้าไปตรวจดูแลและวัดไข้ทุกวัน
- ไวรัสโคโรนา : ภารกิจสู้โควิด-19 ของทีมหมอรุ่นใหม่ที่ รพ.ชุมชนในฉะเชิงเทรา
- โควิด-19 : ฮอสปิเทล แปลงโรงแรมเป็นโรงพยาบาล ทางรอดจากวิกฤตคนไข้ล้น
นพ.อุทิศศักดิ์ กล่าวว่าทางสาธารณสุขจังหวัดรับมอบพื้นที่เฉพาะส่วนจาก ตม.สะเดา เพื่อดูแลผู้ต้องกักผู้ติดเชื้อ ส่วนอาคารอื่นยังอยู่ในความดูแลของ ตม. และยืนยันว่าการดูแลในศูนย์กักมีการแยกส่วนผู้ติดเชื้อ โดยมาตรฐานการดูแลใช้เกณฑ์ของโรงพยาบาลสนาม
"เรากักตัว เว้นระยะ social distancing แนะนำการดูแลตัวเอง จัดระบบสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ สสจ.ได้จัดฟูกอันใหม่ ผ้าห่ม ปลอกหมอน แต่ละเตียงอยู่ห่างกัน ในลักษณะแบบเดียวกับหอผู้ป่วยรวมแยกโรค วัดไข้ ให้ยาทุกวัน "
นายแพทย์ สสจ.สงขลา กล่าวว่า ได้มีการติดตามอาการ หากมีอาการผิดปกติ ทาง สสจ.ได้วางระบบการส่งตัวรักษาต่อไว้แล้วในโรงพยาบาล 3 แห่ง
"ถ้ามีอาการหนักเกินกำลังตรงนั้น เรามีระบบส่งต่อที่มีมาตรฐาน การจัดระบบแบบนี้มีประสิทธิภาพดีกว่า ต้องดูบริบทว่าตรงไหนมีข้อจำกัดแค่ไหน"
ติดตามผู้สัมผัสเจ้าหน้าที่ ตม.
นพ.อุทิศศักดิ์ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า เมื่อมีกรณีนี้ทำให้สงขลาตื่นตัวในการเฝ้าระวังในห้องขัง มีการสืบหาโรคภายหลังพบการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ ตม. ก่อนมีการติดเชื้อในกลุ่มผู้ต้องกัก หลังจากกรณีนี้มีเจ้าหน้าที่ ตม. 130 คนที่อยู่ระหว่างการกักกันตัวเอง
"เราไล่ดูหมดเลยว่าเจ้าหน้าที่ ตม. คนไหนเข้าทำงานเวรไหน เจอผู้ต้องกักรายใหม่กี่คน เราได้รายละเอียดตรงนี้ ไปตามต่อ เราเจอว่ามีแหล่งตรงนี้ที่สัมผัสเยอะ การติดตามผู้สัมผัสยังรวมถึงที่ด่าน ตม. ศูนย์กัก ผู้ขับรถบรรทุกที่ผ่านด่าน" นพ.อุทิศศักดิ์
"การเจอเยอะไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์แย่ ผมว่า เราตามแกะรอย จังหวัดไหนตามได้เยอะ เป็นเรื่องที่ดีของหมอ จำกัดวง รักษาและควบคุม... ผมคิดว่าการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่เกิดจากการปฏิบัติงาน พวกเขาสัมผัสคนกลุ่มเสี่ยงตลอดเวลา"
ตม.สงขลาบอก "พยายามอย่างเต็มที่" ไม่ให้มีผู้ต้องกักติดเชื้อเพิ่ม
พ.ต.อ.มานะ นาคทั่ง รองผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 รักษาการผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่าห้องกักด่านสะเดามีผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง หรือคนต่างชาติที่กระทำความผิด ทั้งหมดอยู่ระหว่างการรอผลักดันส่งกลับประเทศ มีจำนวนทั้งหมด 115 คน
จากการตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค พบผู้ต้องกักติดเชื้อทั้งหมด 42 คน และแพทย์ได้เข้าควบคุมสถานการณ์โดยทันที และได้แถลงข่าวยืนยันเมื่อวันที่ 25 เม.ย. จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม
เขาให้ข้อมูลตรงกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลาว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้ง 42 คน มี 6 คนที่ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ 1 คนรักษาที่ รพ.สงขลานครินทร์ ส่วนอีก 5 คน เป็นหญิง 1 ชาย 4 รักษาอยู่ที่ รพ.หาดใหญ่
ผู้ต้องกักที่ติดเชื้ออีก 36 คน ทาง ตม.ได้จัดห้องขนาดใหญ่พอสมควรจำนวน 5 ห้องให้ผู้ต้องกักอยู่ห้องละ 4-8 คน ขึ้นอยู่กับขนาดของห้อง ทั้งหมดอยู่ในส่วนแยกไม่ปะปนกับผู้ต้องกักคนอื่น รักษาการ ผกก.ตม. สงขลาให้ข้อมูล
"ขอยืนยันว่าผู้ต้องกักที่ติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างดีตามมาตรฐานของสาธารณสุข เรามีการตั้งศูนย์แพทย์ขึ้นมาดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ และจัดเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดห้อง ฆ่าเชื้อเสื้อผ้าและของใช้ผู้ป่วยตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข"
พ.ต.อ.มานะกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ ตม.พยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อในห้องกัก แต่ยอมรับว่าสถานการณ์ในขณะนี้ค่อนข้างยากเพราะทางการไทยไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องกักเหล่านี้กลับประเทศต้นทางได้ตามกระบวนการปกติ เพราะยังคงมีการปิดน่านฟ้าอยู่ จึงต้องดูแลผู้ต้องกักเหล่านี้ต่อไปอีกเป็นเวลานานพอสมควร
พ.ต.อ.มานะกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ ตม.สงขลาติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั้งหมด 6 คน และมีเจ้าหน้าที่ที่ต้องกักกันตัวเองอีกกว่า 100 คน ซึงส่งผลกระทบต่อการทำงานของ ตม.สงขลาพอสมควร ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เหลืออยู่มีภาระงานเพิ่มขึ้น
ยอดนิยมในตอนนี้
