อานิสงส์เปิดประเทศดันธุรกิจโรงแรมฟื้นตัว-กลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือนเมษายน 2565 พบว่า อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น เทียบจากเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งได้อานิสงส์เชิงบวกจากการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงวันหยุดสงกรานต์ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ และการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ โดยเห็นอัตราการเข้าพักเดือนเมษายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 34% ส่งผลให้เดือนพฤษภาคมนี้ อัตราการเข้าพักสูงขึ้นเพราะสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น รวมถึงการปลอดล็อคมาตรการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจถูกกดดันจากต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นราคาห้องพักทำได้ยากมาก รวมถึงประชาชนบางส่วนยังลดกิจกรรมและการเดินทางท่องเที่ยวอยู่
นางมาริสา กล่าวว่า ในเดือนเมษายน 2565 โรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 หรือปี 2562 โดยประมาณ 50% มีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% ใกล้เคียงเดือนมีนาคม 2565 โดยโรงแรมที่รายได้กลับมาแล้วเกิน 50% มีสัดส่วนเพียง 14% ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น แต่ความไม่สมดุลของยอดการจองคงยังมีอยู่ โดยขณะนี้พบว่า โรงแรม 78% เปิดกิจการปกติ ใกล้เคียงเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งโรงแรมที่เคยปิดกิจการหรือเปิดบางส่วนกลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนโรงแรมที่เปิดกิจการมากกว่า 50% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศเพิ่มเติมในเดือนเมษายน 2565 และรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์
“สภาพคล่องของโรงแรมในเดือนเมษายน 2565 พบว่า โรงแรม 45% มีสภาพคล่องใกล้เคียงกับเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา และ 44% มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน เป็นสัดส่วนใกล้เคียงกัน สำหรับกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือนมีสัดส่วนอยู่เพียง 8% ลดลงจากเดือนมีนาคม ขณะที่มีโรงแรมที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 26% โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักมากกว่า 40% จากทั้งโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ” นางมาริสา กล่าว
นางมาริสา กล่าวว่า ด้านการจ้างงาน เดือนเมษายน 2565 มีการจ้างงานเฉลี่ยลดลงจากเดือนมีนาคม อยู่ที่ 60.5% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนหนึ่งจากพฤติกรรมการจองโรงแรมแบบ last minute หรือจองทันทีก่อนการเดินทาง ทำให้โรงแรมส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมการจ้างงานไว้ล่วงหน้า ประกอบกับแรงงานบางส่วนลาออก หรือกลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์
นางมาริสา กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐ เป็นมาตรการลดหย่อนภาษี และค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะขยายระยะเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากรายได้ของธุรกิจยังไม่กลับมาปกติ ขณะที่ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เท่าเดิม โดยโรงแรมต้องการมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนเพิ่มเติม อาทิ ลดค่าสาธารณูปโภค ลดต้นทุนการกู้ยืม และเงินสนับสนุนค่าจ้างพนักงาน ซึ่งปัจจุบันโรงแรมส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และมีการแข่งขันแย่งแรงงานที่รุนแรงขึ้น จึงอยากให้ภาครัฐขยายมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอีกอย่างน้อย 1 ไตรมาส และอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงระบบการเงิน ช่วยสนับสนุนการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้สะอาด ปลอดภัยรองรับการเปิดประเทศ หรืออาจให้เอกชนรายใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา