โดรนจีนโผล่ใต้ทะเลอินโดฯ กรุยทางทัพเรือดำน้ำสู่มหาสมุทรอินเดีย?
โดรนจีนโผล่ใต้ทะเลอินโดฯ - เซาท์ไชน่า มอร์นิง โพสต์ รายงานการจับตาความเคลื่อนไหวของจีนในน่านน้ำภูมิภาคอาเซียน หลังจาก 4 ปีก่อน จีนยึดพาหนะใต้ทะเลของสหรัฐ ต้องสงสัยใช้สอดแนมในทะเลจีนใต้ พร้อมต่อว่าสหรัฐกระทำการอันเป็นปรปักษ์กับจีน แต่ตอนนี้ดูเหมือนจีนจะทำเหมือนกันบ้างแล้ว
อินโดนีเซียพบโดรนใต้น้ำของจีนมา 3 ลำแล้ว ลำสุดท้ายพบช่วงปลายเดือนธันวาคม ใกล้เกาะเซลายาร์ ฝั่งสุลาเวสีใต้ เป็นโดรนชนิด UUV หรือ พาหนะใต้น้ำไร้คนบังคับ
โดรนนี้มีตราติดไว้ว่า สถาบันวิทยาการเครื่องจักรอัตโนมัติเสิ่นหยาง Shenyang Institute of Automation Chinese Academy of Sciences ซึ่งต่อมาถ่ายโอนไปยังฐานทัพเรือหลักที่ 6 ในมากัสซาร์ จุดลาดตระเวนที่พบโดรน
นักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่า การพบโดรน UUV หลายลำดังกล่าวของจีน สะท้อนถึงความก้าวหน้าอย่างยิ่งของจีนมากเพียงใดในการพัฒนาอุปกรณ์นี้ และบ่งบอกว่าจีนเตรียมพร้อมสำหรับแนวรบใหม่ ใต้ทะเล อย่างไร
มัลคอล์ม เดวิส นักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์กลาโหม แห่งสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย มองว่า การพบโดรนแถบช่องแคบซุนดา ที่เป็นจุดเดินทะเลสำคัญ อาจหมายถึงการกรุยทางสำหรับเคลื่อนกำลังเรือดำน้ำเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย
“โดรนนี้อาจใช้เข้าไปสร้างแผนที่พื้นทะเลให้แม่นยำด้วยระบบเสียงโซนาร์ เช่นเดียวกับการตรวจวัดเพื่อทำความเข้าใจสภาพใต้น้ำดังกล่าว เพื่อจะเปิดช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับเรือดำน้ำของกองทัพประชาชนจีนให้เดินทางเข้ามายังช่องแคบซุนดา โดยไม่ถูกตรวจจับได้" เดวิส กล่าว
นักวิเคราะห์ท่านนี้ยังเชื่อว่า การเคลื่อนกำลังโดรนเข้ามายังพื้นที่ต่างๆ นี้ ทั้งที่เป็นน่านน้ำต่างประเทศของจีน นอกจากหาข่าวกรองแล้ว ยังแสดงว่าจีนต้องการหาหนทางที่ดีที่สำหรับสำหรับการเคลื่อนกำลังจากทะเลจีนใต้เข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย หรือแม้แต่น่านน้ำทางเหนือและทางตะวันตกของออสเตรเลีย เพื่อให้พร้อมรบ หากเกิดความขัดแย้งในอนาคต
หุ่นยนต์ UUV เดินทางใต้น้ำเพื่อเก็บข้อมูลทางมหาสมุทร เช่น อุณหภูมิน้ำทะเล ความเค็ม ความขุ่นของน้ำ คลอโรฟิล ระดับออกซิเจน เพื่อให้เข้าใจสภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับใช้ในงานเดินเรือดำน้ำในอาคต และเป็นผลประโยชน์อย่างสูงสำหรับกองทัพเรือทั่วโลก
ทิโมธี ฮีธ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง จากสถาบันวิเคราะห์ แรนด์ คอร์เปอเรชัน กล่าวว่า การส่งโดรนเหล่านี้มา เป้าหมายที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือหาข่าวกรอง ปรับปรุงศักยภาพเรือดำน้ำสำหรับการศึก
“จีนอาจสนใจส่งโดรนเข้ามาลาดตระเวนในน่านน้ำใกล้อินโดนีเซีย ขณะพยายามขยายปฏิบัติการเรือดำน้ำ ที่รวมถึงการเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย" ฮีธ ให้ความเห็น
เมื่อปี 2562 จีนเคยเผยโฉมโดรนใต้น้ำ HSU-001 ในขบวนพาเหรดฉลองการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชน เป็นรุ่นที่ทำขึ้นมาทาบรัศมีโดรน ออร์กา ของสหรัฐอเมริกา มีขนาดเบากว่า แต่ทำงานเหมือนออร์ดา ตรงที่เดินทางได้ไกล เก็ยข้อมูลสภาพสิ่งแวดล้อม และสอดแนมเรือดำน้ำของศัตรูได้
จากนั้นอีกหนึ่งเดือน จีนพัฒนาโดรน Sea-Whale 2000 UUV ทดสอบกานเดินทางได้ยาวนาน 37 วันโดยไม่พัก ในทะเลจีนใต้ ระยะทาง 2,011 ก.ม. เพื่อให้จีนขยายแสนยานุภาพทำกิจกรรมต่างๆ ในทะเลจีนใต้ได้
........
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :