รีเซต

Pride month : คุยกับ ‘วาดดาว แต่งเกลี้ยง’ หวัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เรียกคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

Pride month : คุยกับ ‘วาดดาว แต่งเกลี้ยง’ หวัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เรียกคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
TNN ช่อง16
5 มิถุนายน 2566 ( 15:37 )
82
Pride month : คุยกับ ‘วาดดาว แต่งเกลี้ยง’ หวัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เรียกคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 ‘วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง’ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ถึงอนาคตร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กับรัฐบาลใหม่ พร้อมประเมิน ‘อุปสรรค’ ในการขับเคลื่อน ‘สมรสเท่าเทียม’ และประเด็นอื่นๆ เช่น การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และยกเลิกการปราบปรามการค้าประเวณี เป็นต้น


หลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลโดยการนำทัพของ “พรรคก้าวไกล” ที่หนึ่งใน 23 ข้อตกลงร่วมหรือ MOU จัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค คือ "ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ" อีกทั้งเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ก็เดินทางเข้าร่วมงาน Pride ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และย้ำด้วยว่าเตรียมยื่น ‘สมรสเท่าเทียม-รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ’ เข้าสภาทันที ผู้คนยังคงจับตากับก้าวสำคัญของสมรสเท่าเทียม และดูเหมือนว่าเส้นทางของการผลักดันประเด็นนี้จะดูสดใส แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่



ในโอกาสนี้ TNN online ได้พูดคุยกับ ‘วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง’ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ และหนึ่งในผู้จัดงาน Pride เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของ ‘สมรสเท่าเทียม’ 



มองเส้นทาง ‘สมรสเท่าเทียม’ ภายใต้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่กำลังจัดตั้งนี้อย่างไร?


“เราเชื่อว่าประเด็นการขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ต้องไปกับประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการได้รับชัยชนะของปีกประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหน ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ความโชคดีมากกว่านั้น ผลงานทางฝั่งของพรรคอนาคตใหม่จนกระทั่งก้าวไกล มีตัวในการแสดงออกในการเสนอกฎหมายที่ชัดเจน ทำให้พวกเรารู้สึกว่าทิศทางของสมรสเท่าเทียมมันน่าจะมีการยืนยันการไปต่อ โดยเฉพาะการมี ส.ส. ที่เป็น LGBTQ+ เข้าไปในพื้นที่ตรงนั้น และต้องการตัวกฎหมายจริงๆ อันนี้คือส่วนที่เราคิดว่ามันมีความจริงใจของพรรคการเมือง”





หวัง ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านในครึ่งปีนี้ 


“ทางฝั่งของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ซึ่งรวมกันแล้วที่มีเสียงข้างมากในสภา จริงๆ แค่สองพรรคก็ทำให้ชวน ส.ส. ท่านอื่นๆ จากพรรคอื่นๆ มาโหวตเพื่อผ่านสมรสเท่าเทียมภายใน 90 วันซะด้วยซ้ำ  เราคาดหวังว่ามันอาจจะเป็นผลงานแรกของรัฐบาลชุดนี้ซะด้วยซ้ำ ที่ทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน อุปสรรคมันไม่ได้ยากเลย จริงๆ แค่คุณสามารถที่จะพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี คือขั้นตอนของมันแม้ต้องถูกพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีเพื่อเอากฎหมายฉบับเดิม หมายความว่า ฉบับของตัวที่อยู่ในสภา มันอยู่ในวาระของการพิจารณาสมรสเท่าเทียมอยู่ สามารถกลับมาพิจารณาได้เลยในวาระที่ 2 ของสภาโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ อันนี้ตัวกฎหมายมันเอื้อให้ประโยชน์ตรงนี้ไว้ 


เพราะฉะนั้นพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย รัฐบาลสามารถทำได้ทันที ในการที่จะนำกฎหมายกลับมาพิจารณาได้เลย  อันนี้คือสิ่งที่เราคาดหวังใน 30 วันแรก สำหรับการประชุมของคณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะนำกฎหมายฉบับนี้ เค้าสู่วาระได้เลย และใช้การพิจารณาอีกแค่ 2 เดือนในรัฐสภา เพื่อที่จะถกเถียงในรายมาตรา และก็ประกาศออกกฎหมายได้เลย เพราะฉะนั้นเราคาดหวังว่าตัวสมรสเท่าเทียมจะผ่านในครึ่งปีนี้”



มอง ‘มิติการเปลี่ยนแปลง’ ในสังคมไทยอย่างไร หาก ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่าน


“ถ้าผ่านจริงๆ ปรากฎการณ์มันจะเปลี่ยนใหม่หมดเลย จริงๆ ตอนนี้หลายคนคิดว่า ตัวเลขของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ขณะตอนที่สังคมยังไม่เปิด world economic forum ปี 2019 เนี่ย บอกไว้ ประมาณ 3.5 ล้าน แต่องค์กรหลายองค์กร อย่างเช่น องค์กร Bangkok Rainbow แจ้งไว้ว่า น่าจะสูงถึง 5 ล้านคนในปัจจุบัน ก็คือ ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์  แต่จริงๆ เราคิดว่า ไม่ว่าจะจำนวนเท่าไหร่ แต่ถ้าหากว่าคนหลักล้านสามารถที่จะการันตีชีวิตได้เพิ่มขึ้น อย่างเช่น เค้าสามารถได้รับการคุ้มครองเรื่องสวัสดิการของข้าราชการที่มีอยู่ ได้รับการคุ้มครองในเรื่องของการกู้ยืมเงิน การประกันชีวิต รวมไปถึงสามารถที่จะใช้เทคนิคทางด้านการแพทย์ในการตั้งครรภ์ได้ อันนี้หมายความว่า ชีวิตครอบครัวคู่รักซึ่งเราเชื่อว่าอีกหลายแสนคู่ในประเทศไทย มันจะสามารถที่จะเข้าถึงกฎหมายได้ และทำให้ energy (พลังงาน) เหล่านี้เป็นผลบวกโดยตรงกับทางฝั่งของสังคมไทย เพราะว่ามันเปิดมิติของความหลากหลาย 


และใคร ๆ ก็ทราบดีว่า LGBTQ+ ที่มีศักยภาพตอนนี้ เป็น LGBTQ+ ที่เต็มไปด้วยศักยภาพในเรื่องของความครีเอทีฟ เป็นจุดที่มันเป็นผลดีกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มันควรจะเป็นเศรษฐกิจในนิมิตใหม่ก็คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจในเรื่องของ soft power เศรษฐกิจที่จะทำให้สังคมมีความกินดีอยู่ดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอุตสาหกรรมเฉยๆ ด้วยซ้ำ อะไรอย่างนี้





อยากจะไฮไลท์อีกอันคือว่า ในพื้นที่ของเด็กและเยาวชน ที่จะต้องเป็น LGBTQ+ แล้วถูกพ่อแม่รู้สึกว่ามันไม่มีความมั่นคง หรือว่าคนทั่วไปที่ถูกมองว่าแต่งงานก็ไม่ได้ ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง มิติของสังคมมันจะเปลี่ยนเลย ว่าไม่ เค้ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เค้ามีกฎหมายคุ้มครอง เค้าสามารถที่จะเลือกชีวิตหรือครอบครัวของเค้าได้ มิติของเรื่องนี้เรามองว่ามันค่อนข้างที่จะเปลี่ยนเยอะ แต่หลายคนกังวลว่า แล้วครอบครัวเดิมที่เป็นรักต่างเพศของไทยมันจะมีการเปลี่ยนแปลงมั้ย สำหรับเราคิดว่าแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลย มันยิ่งส่งเสริมศักยภาพกันได้ซะด้วยซ้ำ ว่าการที่คนนึงอยากจะจัดตั้งครอบครัวนั้น มันถูกปลดล็อกจากวัฒนธรรมที่มัน Conservative (อนุรักษ์นิยม) ภาพกว้างของสังคมที่มันเปิดโอกาสแค่กฎหมายฉบับเดียวผ่าน มันค่อนข้างที่มีมิติความสัมพันธ์ที่เยอะมาก 


ที่สำคัญคือส่วนนึงสิ่งที่เค้าจะรับทันทีก็คือความรู้สึก ได้รับการเยียวยา ความรู้สึกการมองเห็นคุณค่า ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเค้ากลับมา



มอง ‘อุปสรรค’ ในการขับเคลื่อน ‘สมรสเท่าเทียม’ หลังจากนี้ไว้อย่างไรบ้าง?


“แน่นอนปัจจัยที่สำคัญก็คือการเมือง มีเสียง ส.ว. 250 เสียง ที่ยังถูกตั้งคำถามอยู่ว่า จะโหวตให้ฝั่งประชาธิปไตยได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลมั้ย แต่จริงๆ เราพยายามซาวเสียงกับทุกพรรคการเมือง แน่นอนว่าหลายๆ พรรคการเมือง ยังคงมีโครงสร้างความคิดความเชื่อแบบ แนวคิดมูลฐานนิยม (Fundamentalism) เราขออนุญาตไม่เอ่ยในเรื่องของตัวศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่แนวความคิดของเรื่อง Fundamentalism มันยังคงอาจจะทำให้เค้าขอสงวนการขอไม่โหวต แต่เราเชื่อว่า จำนวน ส.ส. ในสภาตอนนี้มีจำนวนมากพอที่จะโหวตผ่าน 


เพราะฉะนั้นปราการด่านเดียวไม่ใช่เรื่องของการโหวตในสภา แต่ปราการด่านแรกสุดก็คือว่า ทางฝั่งของปีกประชาธิปไตยจะสามารถตั้งรัฐบาล ผ่านชัยชนะจากการเลือกตั้งได้ไหม อันนี้เป็นสิ่งที่เรารอคอย”



ประเด็นอื่นๆ ที่อยากผลักดันเพื่อชุมชนเพศหลากหลาย?


“มันเป็นข้อเสนอหลักของชุมชนเพศหลากหลาย ที่เราทำงานกันมา บางองค์กรก็เข้าปีที่ 30 บางองค์กรก็ 20 กว่าปี เหมือนเราเอง เราเคลื่อนไหวในเรื่องของการทำงานเรื่องนี้มา 10 ปี มันมี 4 ข้อเสนอหลัก ที่เราได้เสนอไว้ หนึ่งคือสมรสเท่าเทียม สองการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ในเรื่องของการรับรองเพศที่ไม่ใช่แค่หญิง-ชาย แต่ยังสามารถที่จะรองรับเพศหลากหลายในกฎหมายได้ หรืออีกอันคือการเปลี่ยนคำนำหน้านาม การรับรองเพศสภาพอัตลักษณ์ทางเพศ





สามต้องมีการยกเลิกการปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งมันทำให้คนที่เป็นพนักงานบริการทางเพศ ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางด้านกฎหมายแรงงานได้ เราต้องการศักดิ์ศรี และก็การคุ้มครองเรื่องกฎหมายแรงงานให้พนักงานบริการทางเพศทุกคน และข้อที่สี่ คือเรื่องของการที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงผู้หญิงสามารถที่จะเข้าถึงรัฐสวัสดิการได้อย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการ take ฮอร์โมน การผ่าตัดแปลงเพศ การดูแลสุขภาพ การสามารถที่จะบริจาคเลือด รวมไปถึงสวัสดิการเช่น ผ้าอนามัย หรือ HPV (โรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี) การคุ้มครองเหล่านี้รัฐจะต้องจัดเตรียมการบริการเรื่องสุขภาพถ้วนหน้า 4 ข้อเสนอหลักสำหรับปีนี้”


ภาพ : TNN online / วาดดาว / พิธาลิ้มเจริญรัตน์ 

เรื่องโดย : TNNOnline 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง