รีเซต

ANAN ออกหุ้นกู้ 2 ชุด เคาะดบ. 4.50-5.40% ต่อปี ขาย 11-13 ม.ค.นี้

ANAN ออกหุ้นกู้ 2 ชุด เคาะดบ. 4.50-5.40% ต่อปี ขาย 11-13 ม.ค.นี้
ทันหุ้น
13 ธันวาคม 2564 ( 10:03 )
97

ทันหุ้น - บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กำหนดอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้รุ่นอายุ 1 ปี 6 เดือน ที่ระดับ 4.50% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี 6 เดือน ที่ระดับ 5.40% ต่อปี พร้อมเสนอขายผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2565 ผ่านสถาบันการเงิน 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที และบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) มั่นใจกระแสตอบรับดีเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยหุ้นกู้ชุดดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB- ซึ่งเป็นระดับลงทุนได้ (Investment Grade) เช่นเดียวกับอันดับเครดิตองค์กร และมีแนวโน้ม “คงที่” จากทริส เรทติ้ง ขณะที่ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง ผู้ถือหุ้นจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนล้นจำนวน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน

 

นายเสริมศักดิ์ ขวัญพ่วง ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ผู้นำแห่งวงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง ครองตำแหน่งผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า เปิดเผยว่าบริษัทฯ กำหนดอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้รุ่นอายุ 1ปี 6 เดือน ที่ระดับ 4.50% ต่อปี และรุ่นอายุ 2ปี 6 เดือน ที่ระดับ 5.40% ต่อปี โดยจะเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2565 ผ่านสถาบันการเงินที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัดบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน)และบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัดทั้งนี้ หุ้นกู้ชุดดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ที่ระดับ “BBB-”เช่นเดียวกับอันดับเครดิตองค์กร และมีแนวโน้ม “คงที่” (Stable)

 

“เรามั่นใจว่า หุ้นกู้อนันดา จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุนเหมือนที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะสามารถตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้แล้ว ยังเป็นตราสารที่ออกและเสนอขายโดยบริษัทฯ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโต ซึ่งต้องยอมรับว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และคาดว่าจะสามารถกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต โดยอนันดาเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการชั้นนำ สามารถสร้างการเติบโตได้ทั้งยอดขายและยอดโอนที่มีสัญญาณดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 4,104 ล้านบาท และยอดโอนกว่า 2,557 ล้านบาท การเติบโตมาจากโครงการคอนโดมิเนียมและโครงการแนวราบ นอกจากนี้ บริษัทฯ มียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 12,821 ล้านบาท เพื่อรองรับการโอนในระยะ 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์กล่าว

 

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวเสริมว่า หลังจากบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนมากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้อย่างมาก โดยมียอดจองซื้อสูงถึง 1,716 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินเพิ่มทุนตามที่กำหนดไว้คือประมาณ 1,292 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของผู้ถือหุ้นที่จะเติบโตไปพร้อมกับบริษัทฯ ซึ่งเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสถานะการเงินของบริษัทฯ รวมทั้งยังทำให้บริษัทฯ มีโครงสร้างเงินทุนหรืออัตราส่วนทางการเงินที่เหมาะสมต่อการขยายธุรกิจตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ 

 

โดยในปี 2565 บริษัทฯ มีแผนเปิดโครงการใหม่จำนวน 7 โครงการ มูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท เป็นโครงการคอนโดมิเนียม 5 โครงการ และแนวราบ 2 โครงการด้วยกลยุทธ์ ANANDA NEW BLUE มองหาโอกาสใหม่ๆ แนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยและบริการในรูปแบบใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการชีวิตคนเมืองที่ปรับเปลี่ยนไปหลังโควิด รวมถึงการผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับอินเตอร์เนชั่นแนล อาทิ มิตซุย ฟูโดซัง, บีทีเอส กรุ๊ป, เพรซิเดนท์ ดี เวนเจอร์, ดุสิตธานี, สแครทช์ เฟิร์สท์ และดิ แอสคอทท์ เป็นต้น

 

สำหรับประเด็นคดีความเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ที่บริษัทฯ ถือหุ้นในโครงการดังกล่าวในสัดส่วน 51% ในลักษณะบริษัทร่วมค้านั้น โครงการนี้ไม่มีภาระหนี้คงเหลือและบริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้ถูกฟ้องร้องโดยตรง ส่งผลให้ความเสียหายสูงสุดที่จะกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ถูกจำกัดเพียงมูลค่าของยูนิตที่ยังไม่ได้โอนตามสัดส่วนที่เป็นของบริษัทฯ เท่านั้นซึ่งตามที่ปรากฎในงบการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีจำนวน 117 ยูนิต คิดเป็นต้นทุนตามบัญชี 655.1 ล้านบาท เมื่อคำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้นของอนันดาฯ ที่ 51% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 334.1 ล้านบาท โดยปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างศาลปกครองสูงสุดแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้บริษัทฯ และบริษัทร่วมค้าเชื่อมั่นว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้ปฏิบัติตามกฎหมายในทุกขั้นตอนอีกทั้งผ่านการพิจารณาของหน่วยงานราชการ และได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายอย่างครบถ้วน

 

“หลังจากที่เราประสบความสำเร็จจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม โดยได้รับการตอบรับเกินกว่าที่คาดไว้ จนทำให้การเพิ่มทุนบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยดี ทำให้เรายิ่งมั่นใจว่า การระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนที่ระดับ 4.50% ต่อปีสำหรับหุ้นกู้อายุ 1 ปี 6 เดือน และ 5.40% ต่อปีสำหรับหุ้นกู้อายุ 2 ปี 6 เดือน จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุนเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะในแง่ของผลตอบแทนที่น่าพอใจ หรือในมุมของความมั่นคง ความแข็งแกร่งและโอกาสในการเติบโตของบริษัทฯ ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เรามีเงินสดกว่า 5,900 ล้านบาท ทำให้เรามั่นใจว่า หุ้นกู้อนันดา จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เพิ่มโอกาสการลงทุนที่ดีให้กับผู้ลงทุนอย่างแน่นอน” นายชานนท์กล่าว

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง