เช็กอาการ "เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบเรื้อรัง" เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ
วันนี้ (21พ.ย.64) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammatory demyelinating polyneuropathy,CIDP) จัดอยู่ในกลุ่มโรคหายาก ปัจจุบันยังไม่มีรายงานอุบัติการณ์ของโรคในประเทศไทย
จากข้อมูลในต่างประเทศพบว่าความชุกของโรคอยู่ที่ 5-7 คน ต่อประชากร 100,000 คน พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และสามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ
สาเหตุของโรคเกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่ผิดปกติ ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติจะไปทำลายปลอกประสาทมัยอีลินที่ห้อหุ้มเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้ปลอกประสาทมัยอีลินและเส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลายและสูญเสียความสามารถในการทำงานได้แก่ สูญเสียการรับรู้ความรู้สึกจากผิวหนัง และสูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนที่กระตุ้น ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติขึ้นมา
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ร่วมกับมีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้า โดยอาการอ่อนแรงและอาการชามักจะเป็นที่แขนและขาทั้ง 2 ข้าง อาการของโรคจะค่อยๆเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเป็นมากกว่า 8 สัปดาห์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการอื่นๆได้ เช่น มีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง โดยมีอาการอ่อนแรงที่กล้ามเนื้อส่วนปลายเล็กน้อย หรือ มีอาการอ่อนแรงของแขนข้างเดียวหรือ 2 ข้าง หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนขา 2 ข้าง แบบไม่สมมาตร แพทย์วินิจฉัยโรคโดยการซักประวัติและการตรวจร่างกายผู้ป่วย รวมถึงการตรวจเลือดและการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นขั้นตอนการตรวจจะช่วยวินิจฉัยแยกโรค และประเมินความรุนแรงของโรคเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
ผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ได้แก่ สเตียรอยด์ ยากดภูมิที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ อิมมูโนโกลบูลิน และการกรองพลาสมา ซึ่งจะช่วยลดการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ และลดการอักเสบทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้น แต่การรักษามีผลข้างเคียงสูงอาจทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง และติดเชื้อได้ง่ายอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากโรคมีอาการหลากหลาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาการอาจรุนแรงมากขึ้นและทำให้เกิดความผิดปกติถาวร
ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและทำการรักษาต่อไป
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์
ภาพจาก กรมการแพทย์ / AFP