รีเซต

วิศวะจุฬาฯ ร่วมกับรัฐ เอกชน และทรูผนึกกำลังพัฒนา Sensor for All ปีที่ 3

วิศวะจุฬาฯ ร่วมกับรัฐ เอกชน และทรูผนึกกำลังพัฒนา Sensor for All ปีที่ 3
TNN ช่อง16
6 พฤศจิกายน 2563 ( 16:22 )
154
วิศวะจุฬาฯ ร่วมกับรัฐ เอกชน และทรูผนึกกำลังพัฒนา Sensor for All ปีที่ 3

ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการ Sensor for All ปีที่ 3 นี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ที่ว่า Innovation toward Sustainability หรือการอุทิศองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเพื่อความยั่งยืน ด้วยความร่วมมือกับหลายภาคส่วนผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวฯ กับภาคอุตสาหกรรม (Industrial Liaison Program) หรือ ILP เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหา PM2.5 และมลภาวะทางอากาศตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น วิศวฯ จุฬาฯ จึงได้เป็นแกนหลักในการผนึกพลังทุกภาคส่วนที่เห็นถึงปัญหาเดียวกันนำศาสตร์ด้านวิศวกรรมมาช่วยหาสาเหตุ เก็บข้อมูลอันเป็นประโยชน์นำมาวิเคราะห์เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ประกอบกับข้อมูลปริมาณฝุ่นที่มีความถูกต้องแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้โครงการ Sensor for All ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกได้พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และทดลองติดตั้งในพื้นที่โดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่ปีที่ 2 พัฒนาระบบการส่งและแสดงผลข้อมูล


ตลอดจนขยายการตรวจวัดปริมาณฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และในปีที่ 3 นี้ คณะวิศวฯ จุฬาฯ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเคหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด ได้ร่วมมือขยายเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 โดยตั้งเป้าขยายให้ได้มากกว่า 500 จุด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกับพัฒนาระบบวิเคราะห์และพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า ด้วยการสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) อีกทั้งได้พัฒนาระบบแสดงผลผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชันสำหรับขยายผลไปสู่การสร้างการรับรู้ร่วมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบหนังสือ บอร์ดเกม และอีกหลากหลายช่องทาง


เพื่อมุ่งสู่การสร้างความรู้ที่ถูกต้องของสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตฝุ่นขนาดเล็กในระดับปัจเจก จนเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเชิงนโยบายของประเทศ โดยมีข้อมูลสนับสนุนและทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” ศ.ดร.สุพจน์ กล่าว


คุณวีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย acting deputy director โครงการนวัตกรรม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มทรู มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และร่วมป้องกันแก้ไขปัญหามลภาวะฝุ่น PM 2.5 โดยสนับสนุนโครงการ Sensor for All ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรก สำหรับโครงการ Sensor for All  ปี 3 นี้ True Lab มอบ NB-IoT ชิปเซ็ต จำนวน 200 ชุด เพื่อนำไปจัดทำอุปกรณ์เซ็นเซอร์โดยฝีมือคนไทย ขยายพื้นที่ตรวจวัดปริมาณฝุ่นทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศในพื้นที่กว้างมากยิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจวัดได้ทั้งฝุ่น PM 2.5, PM 10, อุณหภูมิ และความชื้น พร้อมทั้งคำนวณค่า AQI และระบบประมวลผลผ่านหน้าจอเซ็นเซอร์ ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True 5G แสดงผลบน Dashboard ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งยังสามารถนำข้อมูลไปประมวลผลและวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการและแก้ไขปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะยาวได้อย่างถูกจุด ตามสภาพปัญหาจริงของแต่ละชุมชน  


พร้อมกันนี้ กลุ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาจัดแสดงนิทรรศการเน้นการสร้างสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การปลูก ป้องกัน ปรับปรุง คืนสิ่งแวดล้อมให้โลก สร้างสังคมอัจฉริยะอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเทคโนโลยี True 5G ที่จะนําไปสู่สังคมอัจฉริยะ ผ่านเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย เชื่อมโยงชีวิตยุคใหม่ และเมืองไทยที่ล้ำไปอีกขั้น  


1. “ปลูก” ต้นไม้ เพื่อคืนชั้นบรรยากาศที่สดใส สร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมด้วยแอป “We Grow” สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการปลูกต้นไม้ในสังคมยุคใหม่ ให้ปลูกแล้วแชร์ข้อมูลผ่านแอป ติดตามอัปเดตการเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แลกเปลี่ยนข้อมูลเชื่อมโยงเครือข่ายสังคมผู้ปลูกต้นไม้ รวมทั้งเป็นคลังข้อมูลความรู้เรื่องต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันแอปพลิเคชันมี ผู้ปลูกแล้ว 4,324,677 ต้น และปริมาณดูดซับคาร์บอน 62,726 ตัน โพสต์ข้อมูลผ่านเครือข่ายสีเขียวแล้ว 70,000 โพสต์ ร่วมกันสร้างพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน และภายในชุมชนแบบครบวงจร  โดยดาวน์โหลดแอป We Grow   ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ

แอนดรอยด์และ iOS หรือคลิกที่ www.wegrow.in.th


2. “ป้องกัน” สร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง  ด้วย ระบบเตือนภัยล่วงหน้า True SMART Early Warning System เฝ้าระวังช้างป่าเข้ามาในพื้นที่การเกษตร หรือ ทำร้ายคน โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT และกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (camera trap) ที่สามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าไปยังระบบคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ


3. “ปรับปรุง” โดยร่วมกับพันธมิตร ใช้เทคโนโลยีโดรนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม  อาทิ การช่วยปกป้องผืนป่าจากปัญหาไฟป่า ด้วย “VETAL DRONE: โดรนสำรวจไฟป่า” ที่บินได้สูงกว่าโดรนทั่วไป สามารถวางแผนและมอร์นิเตอร์พื้นที่ด้วยระบบจับภาพจากมุมสูง พร้อมความสามารถในการตรวจจับอุณหภูมิของพื้นที่ ทำให้สามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุยังบริเวณจุดเกิดไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งสามารถมอนิเตอร์ได้ทุกที่ทุกเวลา และระบบ autonomous flight โดยสามารถสั่งการได้ตามจุดที่กำหนด 


นอกจากนี้ ยังมี “โดรนสำรวจใต้น้ำและผิวน้ำ” ช่วยสำรวจพื้นผิวน้ำเพื่อดูคลื่น ตรวจจับความลึกจากสัญญาณเรดาร์พร้อมกล้องถ่ายภาพใต้ทะเล สำรวจความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทางทะเล ทั้งการเปลี่ยนแปลงของแนวปะการัง สัตว์ทะเล และอื่นๆ มีการส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ และมอนิเตอร์ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ตรวจสอบได้อย่างแม่นยำ ตรงจุด และรวดเร็ว ทดแทนการใช้เจ้าหน้าที่ในการสำรวจใต้ท้องทะเล ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลา” วีรศักดิ์ กล่าว


เกาะติดข่าวที่นี่


website: www.TNNTHAILAND.com

facebook : TNNONLINE

facebook live : TNN Live

twitter : TNNONLINE

Line : @TNNONLINE

Youtube Official : TNNONLINE

Instagram : TNN_ONLINE

TIKTOK : @TNNONLINE



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง